- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Wednesday, 09 October 2019 15:17
- Hits: 2552
‘เอ็ม-เซนโค’ เปิดเกมรุกโลจิสติกส์ครบวงจร เผยโฉมคลังเก็บสินค้าห้องเย็น ตั้งเป้าสร้างรายได้แตะ 1,600 ล้านบาท
• เอ็ม-เซนโค โลจิสติกส์ ทุ่มงบ 1,750 ล้านบาท พัฒนาคลังสินค้าแบบเย็นรองรับการบริการ
ด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจร มุ่งเป็นผู้นำการขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิ (Cold chain logistics)
• คาดเติบโตอย่างน้อย 15% ต่อปี ตั้งเป้าปี 2568 ทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 1,600 ล้านบาท
บริษัท เอ็ม-เซนโค โลจิสติกส์ จำกัด ผู้นำด้านการให้บริการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน สำหรับธุรกิจอาหาร เปิดคลังเก็บสินค้าแบบเย็นแห่งใหม่ล่าสุด เพื่อรองรับการบริการด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจร โดยเฉพาะการจัดเก็บและขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิ (Cold chain logistics) ตอบรับธุรกิจด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนของไทยที่มีมูลค่าสูงกว่า 200,000 ล้านบาท และยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง
บริษัท เอ็ม-เซนโค โลจิสติกส์ จำกัด ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 จากการร่วมธุรกิจระหว่างบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจอาหารในเมืองไทย และบริษัท เซนโค กรุ๊ป โฮลดิ้ง คัมปะนี (Senko Group Holdings Company) ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในประเทศญี่ปุ่นและมีสาขาอีกหลายประเทศมากกว่า 500 ศูนย์กระจายสินค้าทั่วโลก ทั้งในสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ จีน เอเชียกลาง และอาเซียน ในสัดส่วน 50/50 โดยมีเป้าหมายให้บริการด้านโลจิสติกส์อย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็น การให้บริการคลังสินค้า (Warehouse) การขนส่ง (Transport) บริการนำเข้า-ส่งออกสินค้า (Forwarding) และการซื้อขายสินค้า (Trading) ตอบสนองความต้องการกลุ่มเป้าหมายภาคธุรกิจ (B2B) และลูกค้ารายย่อย (B2C) ในอนาคต
ฤทธิ์ ธีระโกเมน ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมาของเอ็ม-เซนโค โลจิสติกส์ ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยทั้งสองบริษัทได้ใช้จุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาร่วมกันทำงาน เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง เอ็ม-เซนโค โลจิสติกส์ ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมเข้ามาดูแลด้านโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้าและบริการให้ถึงมือผู้บริโภคได้อย่างมีคุณภาพและรวดเร็ว ตอบโจทย์ธุรกิจที่ไม่ถนัดหรือไม่ต้องการบริหารจัดการจัดเก็บสินค้าและขนส่งด้วยตัวเอง ซึ่งปัจจุบันร้านอาหารในเครือของเอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ปทั้งหมด ใช้บริการของเอ็ม-เซนโค โลจิสติกส์ ในการจัดเก็บวัตถุดิบและขนส่งจนถึงสาขาปลายทางทั่วประเทศ”
นอกเหนือจากการพัฒนาคลังสินค้าแห้ง (Dry Warehouse) ขนาด 4,000 ตารางเมตรแล้ว ล่าสุดเอ็ม-เซนโค โลจิสติกส์ ทุ่มงบประมาณกว่า 1,750 ล้านบาท พัฒนาคลังเก็บสินค้าแบบเย็น (Cold Warehouse) ขนาด 20,000 ตารางเมตร รองรับการเก็บสินค้าได้มากถึง 12,000 พาเลท (Pallet) ซึ่งนอกจากจะเป็นคลังสินค้าที่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้แล้ว ยังนำระบบอัตโนมัติ (ASRS: Automated Storage and Retrieval System) และระบบการจำแนกสินค้าแบบดิจิทัล (Digital Sorting System) มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เช่น ความรวดเร็ว ถูกต้องในการจัดสินค้า และเพิ่มความปลอดภัยในการทำงานของพนักงาน โดยคลังเก็บสินค้าแบบเย็น เปิดใช้บริการแล้วอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม คาดในปีที่ 3 จะทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท และเติบโตอย่างต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 15% ต่อปี ตั้งเป้าปี 2568 ทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 1,600 ล้านบาท
ด้าน มร.ยาสึฮิสะ ฟุคุดะ ประธานบริษัท เซนโค กรุ๊ป โฮลดิ้ง คัมปะนี ที่สั่งสมประสบการณ์ด้านการส่งสินค้ามายาวนานกว่า 100 ปี กล่าวว่า “การบริการด้านโลติสติกส์และซัพพลายเชน ถือเป็นสิ่งสำคัญของธุรกิจในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเทศไทยที่เป็นศูนย์กลางของการค้าในภูมิภาคอาเซียน ธุรกิจหลายภาคส่วนมีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจอาหารเครื่องดื่ม และธุรกิจค้าปลีก ซึ่งทุกธุรกิจล้วนต้องการการบริการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นตัวกลางระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจการให้บริการด้านโลติสติกส์และซัพพลายเชนเติบโตตามไปด้วย ปัจจุบันลูกค้าของเอ็ม-เซนโค โลจิสติกส์ แบ่งเป็นสัดส่วนลูกค้าชาวไทย 75% และลูกค้าชาวต่างชาติอีก 25%”
ทั้งนี้ เบื้องต้น เอ็ม-เซนโค โลจิสติกส์ ยังคงเน้นให้บริการลูกค้าในภาคธุรกิจ (B2B) เช่น กลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร ผู้ผลิตอาหาร ธุรกิจนำเข้าและส่งออก รวมถึงห้างค้าปลีกต่างๆ เช่น ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต และมินิมาร์ท ส่วนในอนาคตเตรียมขยายการให้บริการสู่กลุ่มลูกค้ารายย่อย (B2C) ในรูปแบบการส่งของสดแบบควบคุมอุณหภูมิ เช่น ผัก เนื้อสัตว์ เครื่องปรุง ส่วนผสมต่างๆ เพื่อการประกอบอาหาร ซึ่งในธุรกิจนี้ยังไม่มีคู่แข่งมากนัก
สำหรับภาพรวมธุรกิจโลจิสติกส์และซัพพลายเชนในไทย มีมูลค่าประมาณ 200,000 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าด้านธุรกิจขนส่ง 130,000 ล้านบาท และมูลค่าด้านการจัดเก็บคลังสินค้า 70,000 ล้านบาท
AO10197
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web