- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Friday, 20 September 2019 23:01
- Hits: 7599
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) โชว์ผลสำเร็จขับเคลื่อน SMEs ปี 62 สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 15,000 ล้านบาท
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) โชว์ผลสำเร็จการขับเคลื่อน SMEs ปี พ.ศ. 2562 สามารถพัฒนาผู้ประกอบการกว่า 54,000 ราย สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เกินเป้ากว่า 15,000 ล้านบาท พร้อมเผยแนวทางปี พ.ศ. 2563 มุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ภายใต้แนวคิดเกษตรอุตสาหกรรม ส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร จาก Local สู่ Global พร้อมสนับสนุนสตาร์ทอัพ หวังสร้างนักธุรกิจหน้าใหม่ร้อยละ 15
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้ดำเนินงานภายใต้นโยบาย 'From Local to Global' by Marketing and Innovation หรือ 'การตลาดและนวัตกรรมนำการส่งเสริม' ด้วยงบประมาณรวมทั้งสิ้นกว่า 1,280 ล้านบาท โดยมีภารกิจหลักในการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการ และบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม เสริมสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน พร้อมเชื่อมโยงสู่ตลาดสากลผ่านการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยสามารถพัฒนาผู้ประกอบการ สถานประกอบการ และวิสาหกิจชุมชนกว่า 60,000 ราย พัฒนาผลิตภัณฑ์ได้กว่า 3,000 ผลิตภัณฑ์ สร้างและเชื่อมโยงเครือข่าย 35 กลุ่ม คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 15,000 ล้านบาท ซึ่งเกินเป้าที่ตั้งไว้ในช่วงแรก 13,000 ล้านบาท ?
ทั้งนี้ จากนโยบายการตลาดนำการส่งเสริม กสอ. ได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาทั้งด้านบุคลากรและการสร้างแพลทฟอร์มต่าง ๆ เช่น การผลักดันสู่ช่องทางการค้าออนไลน์ การส่งเสริมการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อสร้างแบรนด์ธุรกิจ การสนับสนุนการใช้บิ๊กดาต้า เป็นฐานข้อมูลการจับคู่ธุรกิจบน T-GoodTech โดยมีผู้เข้ารับการอบรมกว่า 4,000 ราย เกิดการต่อยอด พัฒนาผลิตภัณฑ์ เพิ่มมูลค่าผลผลิต ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 500 ล้านบาท ?
สำหรับ นโยบายนวัตกรรมนำการส่งเสริม กสอ. ได้ส่งเสริมการนำผลงานวิจัยหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ผ่านกิจกรรม/โครงการต่าง ๆ ที่เกิดจากการบูรณาการกับสถาบันการศึกษา 8 แห่ง ในการดำเนินกิจกรรม 'Research Connect'หรือ ตลาดต่อยอดงานวิจัยสู่อุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี งานวิจัย และนวัตกรรมระหว่างผู้พัฒนาและผู้ประกอบการ พร้อมต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์
โดยมีการนำผลงงานวิจัยและนวัตกรรมกว่า 65 ผลงาน ใน 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเกษตรและอาหารแปรรูป กลุ่มพลังงานและสิ่งแวดล้อม กลุ่มการแพทย์-สุขภาพ และกลุ่มซอฟต์แวร์และดิจิทัล มานำเสนอแก่ผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดการต่อยอดจับคู่ธุรกิจ จำนวน 15 ราย คาดว่าเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ 77 ล้านบาท นอกจากนี้ กสอ. ยังขยายผลการดำเนินงาน ด้านการพัฒนานวัตกรรมผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (Industry Transformation Center: ITC 4.0)ควบคู่กับการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Thailand Industrial Design Center: Thai-IDC)
ล่าสุด มีผู้เข้ารับบริการแล้ว จำนวนกว่า 18,000 ราย ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 3,500 ล้านบาท ขณะเดียวกัน กสอ. ยังมีการขยายความร่วมมือด้านต่างประเทศ ในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมกับต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่นและสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยในส่วนความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น นั้น
กสอ. มีความร่วมมือมายาวนานกว่า 10 ปี ซี่งมีความร่วมมือกับรัฐบาลกลาง 5 แห่ง รัฐบาลท้องถิ่น 22 แห่ง และภาคเอกชน 3 แห่ง ภายใต้การลงนามในบันทึกความเช้าใจ (MOU) กว่า 30 ฉบับ ทั้งนี้ ในปีนี้ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจเพิ่มเติมกับ จังหวัดมิยางิ จังหวัดโคจิ และรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดวากายามะ ประเทศญี่ปุ่น รวมทั้ง ลงนามความร่วมมือต่อเนื่องกับ บริษัท เด็นโซ่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เพื่อต่อยอดการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยไปสู่ Industry 4.0
นอกจากนี้แล้ว กสอ. ยังได้จัดงานครบรอบ 10 ปี โต๊ะญี่ปุ่น'Japan Desk' แสดงถึงความสำเร็จของความร่วมมือระหว่าง กสอ. กับประเทศญี่ปุ่น ครบ 10 ปี ซึ่งในงานดังกล่าวมีกิจกรรม Business Matching ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสทางการตลาดและส่งเสริมการลงทุน สามารถจับคู่ทางธุรกิจกว่า 80 ราย จากผู้ประกอบการ ที่เข้าร่วมทั้งหมดกว่า 130 ราย และคาดว่าจะเกิดยอดขายมูลค่าสินค้าภายใน 1 ปี กว่า 370 ล้านบาท
นอกจากนี้ กสอ. ยังได้เร่งขับเคลื่อนภารกิจที่สำคัญ เพื่อรองรับนโยบายในการสร้างและพัฒนา Start up ภายใต้การดำเนินโครงการ Thailand Cyberport โดยจัดตั้งบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้น และได้มีการลงนามความร่วมมือด้านการลงทุนร่วมกับพันธมิตรด้านการลงทุน 13 หน่วยงาน เป็นเงินกว่า 515 ล้านบาท ด้วยความมุ่งหวังที่จะยกระดับสตาร์ทอัพไทย ให้ถึงระดับ Unicorn (ผู้ประกอบการที่มีผลประกอบการมูลค่าเกิน 1 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐขึ้นไป) แจ้งเกิดธุรกิจที่ตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม บนพื้นฐานของนวัตกรรมในอนาคต โดยตั้งเป้ามีสตาร์ทอัพเริ่มต้นจำนวน 40 ราย
ทั้งนี้ กสอ. ยังเตรียมจัดงาน'Thailand Cyberport Demo Day 2019' เพื่อสรรหา เชื่อมโยง และสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่สตาร์ทอัพและนักลงทุนทั้งไทยและฮ่องกง ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นภายในสิ้นปี 2562 นี้ โดยดำเนินการร่วมกับ HK Cyberport, HKTDC และ HPA ขณะที่แนวทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กสอ.ยังคงเดินหน้าภายใต้นโยบาย 'From Local to Global' by Marketing and Innovation โดยเน้นพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิตในกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่กระจายในทุกพื้นที่และกลุ่มที่สำคัญต่อเศรษฐกิจในพื้นที่
โดยการใช้แนวคิดการส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรมผ่านกระบวนการบริหารจัดการธุรกิจ การบริหารจัดการทรัพยากร ตั้งแต่ คน วัตถุดิบ เครื่องจักร และกระบวนการผลิตสินค้าและบริการให้มีประสิทธิภาพสูงและตรงตามความต้องการของลูกค้า ตลอดจนบริหารเครือข่ายธุรกิจภายใต้ Supply Chain ได้อย่างเป็นระบบ รวมถึงการส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรจาก Local สู่ Global 'กสอ. จะร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ โดยคาดว่า กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการชุมชนที่ได้รับการยกระดับการบริหารจัดการเชิงอุตสาหกรรมจะมีความเข้มแข็ง สร้างรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า ร้อยละ 15'นายกอบชัย กล่าวทิ้งท้าย
พร้อมกันนี้ กสอ. ได้จัดพิธีมอบรางวัลประกวดบทความ หัวข้อ 'Offline สู่ Online เชื่อม SMEs ยุคดิจิทัล'ซึ่งมีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจำนวน 60 บทความ โดยมีผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายกิติศักดิ์ โลกนิยม ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร รางวัลชมเชย 3 รางวัล ได้แก่ นายพสิษฐ์ ทองสีนุช นางสาวนันธีระพร เองไพบูลย์ และนางสาวจิราภรณ์ ก๊กพิทักษ์ ได้รับเงินรางวัล ท่านละ 10,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติบัตร ทั้งนี้ ผลงานของผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ จะถูกนำไปเผยแพร่ทางช่องสื่อประชาสัมพันธ์ของ กสอ. ในช่องทางต่าง ๆ และตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวันด้วย
Click Donate Support Web