- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Saturday, 14 September 2019 13:19
- Hits: 4449
อุตฯ – คมนาคม ผนึกกำลังเสริมแกร่งภาคการผลิตไทย เตรียมดึงโมเดลโครงสร้างพื้นฐานและการผลิตญี่ปุ่น ตั้งเป้าดันแบรนด์อิมเมจ 'เมดอินไทยแลนด์' เทียบชั้น 'เมดอินเจแปน'
- · สมาคมการจัดการญี่ปุ่นฯ ดันสุดยอดเอ็กซ์โป MRA 2019 ครั้งแรกในไทย นำเตรียมนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี อาทิ เซ็นเซอร์ ปัญญาประดิษฐ์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ IoT ฯลฯ ยกระดับโรงงานในไทย
สมาคมการบริหารจัดการประเทศญี่ปุ่น หรือ JMA ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงคมนาคม เตรียมจัดงาน “Maintenance and Resilience Asia 2019” ภายใต้แนวคิด Smart Manufacturing & Smart Infrastructure โดยมุ่งหวังยกระดับภาคการผลิตและโครงสร้างพื้นฐานไทยให้มีประสิทธิภาพเทียบเท่าญี่ปุ่น พร้อมเผยเรื่องท้าทายในภาคอุตสากรรมและภาคคมนาคมที่ไทยต้องปรับตัวและให้ความสำคัญเพื่อก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกและเพื่อยกระดับเศรษฐกิจ เช่น การพัฒนาศักยภาพแรงงาน การส่งเสริมการตลาดควบคู่การผลิต การมีแผนงานและระบบเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการจัดการความเสี่ยง ส่วนในภาคคมนาคม เช่น การยกระดับความปลอดภัย การนำระบบเทคโนโลยีและดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการ การพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านคมนาคม โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการยกระดับคุณภาพและภาพลักษณ์ภาคการผลิตให้เทียบประเทศญี่ปุ่นประเทศชั้นนำด้านการผลิตของโลก
นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงานด้านหนึ่งที่กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากคือการส่งเสริมภาคการผลิตไปสู่ 4.0 ซึ่งมุ่งผลักดันให้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยแนวทางดังกล่าวนอกจากจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมแล้ว ยังเป็นกลไกที่มีส่วนในการพัฒนาประเทศไทยให้มีความเท่าเทียมกับประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ และสำหรับปัจจัยสำคัญที่ภาคการผลิตต้องให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจในปีถัดไปนั้นประกอบด้วย การพัฒนาศักยภาพแรงงาน เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา การส่งเสริมการตลาดควบคู่การผลิต การมีแผนงานและระบบเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการจัดการความเสี่ยง การคิดค้น และนำเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมาใช้ในการผลิต การติดตามสถานการณ์การค้าและอุตสาหกรรมในระดับมหภาค
ด้าน นายวิจิตต์ นิมิตรวานิช นักวิชาการขนส่งคุณวุฒิ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในส่วนของการคมนาคมในปีถัดไป จะเป็นอีกหนึ่งภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในฐานะการเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพและความแข็งแกร่งที่มากขึ้น สามารถเชื่อมโยงทุกภาคส่วนเข้าไว้ด้วยกันโดยเฉพาะในการเชื่อมต่อระบบขนส่งกับสิ่งอำนวยความสะดวก การแข่งขันด้านโลจิสติกส์ การเดินทาง และการยกระดับคุณภาพการใช้ชีวิตให้ดีขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ตั้งแต่ในระดับภูมิภาค ส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น โดยความท้าทายสำหรับการพัฒนาระบบคมนาคมให้เชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจในปีถัดไปมีเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญและแข่งขันในภาพรวมได้แก่
- · การยกระดับความปลอดภัย ประสิทธิภาพของการเดินทางและการคมนาคมขนส่งด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี รวมถึงหลักการทางวิศวกรรม เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมและการบำรุงรักษาที่ในภาพรวมมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าภาคอุตสาหกรรม รวมถึงต้องขับเคลื่อนระบบคมนาคมขนส่งให้สอดรับกับนโยบายการขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้ของรัฐบาล นอกจากนี้ยังจะได้เห็นเทคโนโลยีที่ทำให้การก่อสร้างระบบคมนาคมมีความรวดเร็วขึ้นด้วยการใช้ AI ทดแทนกิจกรรมที่แรงงานมนุษย์ไม่สามารถกระทำได้ และลดขั้นตอนต่างๆได้อีกด้วย
- · การนำระบบเทคโนโลยีและดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการ เพื่อให้คนเมือง ระดับหัวเมือง และส่วนอื่นๆ เช่นนักท่องเที่ยว ได้รับข้อมูลข่าวสารสำหรับการเดินทางที่เป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยังจะต้องมีการแบ่งปันข้อมูล (บิ๊กดาต้า) เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงาน การสร้างผลประโยชน์ร่วมกันในรูปแบบเศรษฐกิจแบ่งปันหรือ Sharing Economy และยกระดับให้การเดินทางมีความสมบูณณ์แบบมากขึ้น
- · ระบบขนส่งที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเป็นสิ่งที่หลายๆประเทศทั่วโลกกำลังดำเนินนโยบายดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการใช้รถยนต์ไฟฟ้า การขนส่งระบบราง การใช้พลังงานสะอาด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในแง่ของการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการเติบโตที่ยั่งยืน
- · การมีระบบคมนาคมที่มีความทนทานต่อสภาวะต่างๆ เช่น อุทกภัย แผ่นดินไหว หรือภัยธรรมชาติต่างๆ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีแนวโน้มเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมักก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง โดยในการพัฒนาด้านดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการสร้างความต่อเนื่องให้กับกิจกรรมการเดินทาง การขนส่ง และที่เกี่ยวข้องในเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศไทยถือว่ายังมีจุดด้อยในเรื่องนี้
- · การพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านคมนาคม โดยเฉพาะที่มีทักษะด้านวิศวกรรม และทักษะด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี เพื่อลดการพึ่งพาบุคลากรกลุ่มดังกล่าวจากต่างประเทศ โดยภาครัฐและภาคเอกชนยังจำเป็นจะต้องมีการเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาเพื่อผลิตบุคลากรที่มีคุณสมบัติในด้านคมนาคมขั้นสูง เช่น วิศวกรระบบราง ช่างเทคนิค วิศวกรด้านระบบอุโมงค์ใต้ดิน วิศวกรด้านการวิเคราะห์ระบบ ฯลฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมไทยให้ดียิ่งขึ้น
- · การมีระบบขนส่งขนาดรองที่เหมาะสมกับเมือง เช่น รถบัส โมโนเรล ยานพาหนะไฟฟ้าขนาดเล็กที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิต เช่น ที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน สถานศึกษา สถานพยาบาล และบริการสาธารณะอื่นๆ เพื่อให้การใช้ชีวิตง่ายยิ่งขึ้น
ขณะที่ นายอัตสึชิ เทเรดะ ผู้จัดการอาวุโส สมาคมการบริหารจัดการประเทศญี่ปุ่น หรือ JMA กล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่นเล็งเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีศักยภาพในด้านอุตสาหกรรม เป็นพันธมิตรและฐานการผลิตให้กับโรงงานอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเป็นเป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเภทต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ในฐานะพันธมิตรทางการค้าและเศรษฐกิจ จึงได้มีแนวคิดที่จะช่วยขับเคลื่อนภาคส่วนต่างๆของประเทศไทยให้มีความทันสมัยและทัดเทียมกับญี่ปุ่น จึงได้ร่วมกับบริษัท เอ็กซโปซิส จำกัด กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย – ญี่ปุ่น และภาคเอกชนในการจัดกิจกรรม “Maintenance and Resilience Asia 2019” ภายใต้แนวคิด Smart Manufacturing & Smart Infrastructure ระหว่างวันที่ 2-4 ตุลาคม 2562 ที่ไบเทค บางนา เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและญี่ปุ่นให้เติบโตไปพร้อมๆกับญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม JMA เชื่อมั่นว่ากิจกรรมดังกล่าวจะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคคมนาคม และในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานของไทยแข็งแกร่งได้เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกในเรื่องความสมบูรณ์แบบของระบบขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค โดยยังจะช่วยให้รู้วิธีการจัดการกับการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ระบบขนส่ง ถนน อุโมงค์ สะพาน รถไฟ ฯลฯ ที่ญี่ปุ่นมีการใช้งานมากว่า 50 ปีแต่ยังมีความคงทนและฟื้นฟูได้รวดเร็ว และสามารถรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ประสบครั้งแล้วครั้งเล่า นอกจากนี้ ยังจะมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี อาทิ เซ็นเซอร์ ปัญญาประดิษฐ์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ IoT ฯลฯ มาร่วมจัดแสดงและให้ความรู้ การประชุมสัมมนา ตลอด 3 วันการจัดงาน และจะมีการบรรยายและการนำเสนอกรณีศึกษาต่างๆ ที่จะช่วยผลักดันให้ทุกภาคส่วนปรับตัวให้เข้ากับกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เพื่อให้ทันต่อการแข่งขันในระดับภูมิภาคอาเซียนและระดับโลก
สำหรับ ผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท เอ็กซโปซิส จำกัด โทรศัพท์ 02 – 5590856 อีเมล์ [email protected]
หมายเหตุถึงกองบรรณาธิการ
- • การพัฒนาศักยภาพแรงงาน เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งในปีหน้าแรงงานที่มีมาแต่เดิมโดยเฉพาะในยุค Baby Boomer จะเริ่มหมดไป และจะทำให้จำนวนแรงงานในภาคการผลิตเริ่มลดน้อยลง ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับประเทศไทยเท่านั้นแต่จะแพร่กระจายในหลายประเทศทั่วโลก โดยสิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมต้องพัฒนาคือ การส่งเสริมให้แรงงานมีทักษะที่หลากหลาย (Multi skill) สามารถทำงานได้หลายบทบาท มีความเข้าใจในด้านระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรม สามารถเรียนรู้ระบบที่ทันสมัยไปจนถึงการคิดค้นสิ่งใหม่ๆที่เป็นประโยชน์ในทางธุรกิจ และที่สำคัญที่สุดคือต้องมีทักษะที่หุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติไม่สามารถทำได้ โดยเฉพาะในการคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจ และความคิดสร้างสรรค์
- • การส่งเสริมการตลาดควบคู่การผลิต ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในยุคที่อุตสาหกรรมมีการแข่งขันสูง โดยผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องหมั่นศึกษาทิศทางและแนวโน้มของผู้บริโภคที่มีผลตกกระทบต่อการผลิต เพื่อให้ผลผลิตที่เป็นทั้งสินค้าและการบริการสอดคล้องกับความต้องการเหล่านั้น และที่สำคัญคือต้องปรับแนวคิดจากการผลิตอย่างไรให้ได้มากที่สุดเป็นการผลิตที่มีประสิทธิภาพและลดต้นทุนได้มากที่สุด เพื่อสร้างทางรอดและมูลค่าให้กับธุรกิจ
- • การมีแผนงานและระบบเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการจัดการความเสี่ยง โดยต้องยอมรับว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น ภาคอุตสาหกรรมไทยยังมีส่วนน้อยที่มีแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพมากพอ เช่น เทคโนโลยีในการจัดการหากกรณีเกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ อาทิ อุทกภัย อัคคีภัย ความแห้งแล้ง ซึ่งควรจะต้องมีแผนหรือเครื่องมือในการจัดการเพื่อให้การผลิตเกิดความต่อเนื่องและไม่กระทบต่อองค์กร การมีแผนจัดการด้านความปลอดภัย รวมถึงการคาดเดาหรือการมองอนาคตภาวะต่างๆที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจ เป็นต้น
- • การคิดค้น และนำเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมาใช้ในการผลิต โดยเฉพาะในกลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งเรื่องดังกล่าวภาครัฐและกระทรวงอุตสาหกรรมได้พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ระบบอัตโนมัติ ระบบหุ่นยนต์ บิ๊กดาต้า ไอโอที (Internet of Things) โดยระบบเหล่านี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพทั้งในเรื่องของผลผลิตทางอุตสาหกรรม การซ่อมบำรุงที่สถานประกอบการและภาคอุตสาหกรรมต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายไปกับกิจกรรมดังกล่าวปีละกว่าหลักแสนล้านบาท รวมถึงต้องมีระบบหรือเครื่องมือที่สามารถรายงานสถานะ หรือการทำงานได้แบบเรียลไทม์ให้มากขึ้น เนื่องจากในภาคอุตสาหกรรมและเอสเอ็มอีไทยยังขาดความต่อเนื่องและความรวดเร็วในการดำเนินงานกันเป็นจำนวนมาก
- • การติดตามสถานการณ์การค้าและอุตสาหกรรมในระดับมหภาค เพื่อให้ก้าวทันกระแสต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นโดยเฉพาะในบริบทโลก เช่น เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ความผันผวนของสถานการณ์การเงิน ข่าวสารด้านสงครามการค้าและการตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมสามารถตั้งรับและปรับตัวได้ทัน และเป็นประโยชน์ในด้านการผลิต เช่น ลดปัญหาการสต็อกสินค้า การผลิตสินค้าได้ตรงและทันความต้องการของตลาด การก้าวทันคู่แข่ง ฯลฯ
-
Click Donate Support Web