- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Thursday, 29 August 2019 23:51
- Hits: 5013
สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จับมือสถาบันพลาสติก เปิดตัวผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ
สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ร่วมกับสถาบันพลาสติก เปิดตัวผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ เพื่อเป็นการรณรงค์และสร้างความตระหนักในการลดการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายยากมาเป็นพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ง่ายขึ้น
โดยมีนางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยนายเกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก ณ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ถ.พระราม 6
ทั้งนี้ จากการส่งเสริมของภาครัฐที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยส่งเสริมให้เกิดการยกระดับอุตสาหกรรมในทุกภาคส่วน โดยใช้เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้ตอบโจทย์กับการเปลี่ยนแปลงของโลกอุตสาหกรรมใหม่ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) และ สถาบันพลาสติก จึงได้ร่วมมือพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพจากพืชเศรษฐกิจของไทยอย่าง “อ้อย” ให้สามารถแปรรูปเป็นพลาสติกในรูปแบบต่างๆ เช่น แก้วน้ำพลาสติกชีวภาพ ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอีกด้วย ซึ่งในปีนี้ทั้ง 2 หน่วยงานได้ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เห็นและสามารถจับต้องได้ง่าย ส่วนในปีต่อไปจะเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นต่อไป
นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า ความร่วมมือของทั้ง 2 หน่วยงานครั้งนี้ ทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลจากเดิมที่อ้อยสามารถผลิตได้เพียงน้ำตาลให้สามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่นได้ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นเช่น การนำไปผลิตเป็น พลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) ในหลายรูปแบบ เช่น จาน ชาม แก้วน้ำพลาสติก และหลอดพลาสติกชีวภาพเพื่อตอบสนองการใช้งานที่หลากหลาย ภายใต้การผลักดันของภาครัฐที่ต้องการให้อุตสาหกรรมของไทยมุ่งไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ เพื่อตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมโลก และยังเป็นการยกระดับศักยภาพของการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้สูงขึ้นอีกด้วย รวมถึงปัจจุบันทิศทางของผลิตภัณฑ์ชีวภาพซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจสีเขียวที่เริ่มเป็นกติกาสากลของโลก ส่งผลให้ในหลายประเทศต่างกำหนดมาตรการต่างๆ ออกมา เพื่อลดปัญหาเรือนกระจกและปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น
ด้าน นายเกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยเราตระหนักในปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และพลาสติกคือตัวปัญหาใหญ่มาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาของประเทศไทยเรา โดยปริมาณการใช้ในแต่ละปีที่ผ่านมาได้สร้างปัญหาขยะให้เกิดขึ้นมาโดยตลอด โดยเฉพาะกับแก้วน้ำพลาสติกที่ใช้กันอย่างกว้างขวางทั่วไป แต่นับจากนี้ หลังจากที่ได้ร่วมมือกันกับทาง สอน. เพื่อหาแนวทางร่วมกัน เพื่อพัฒนานวัตกรรมพลาสติกชีวภาพให้เกิดขึ้นอย่างชัดเจน วันนี้ เราจึงอยากจะสร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้นในวงกว้าง โดยวันนี้เราได้ นำแก้วน้ำพลาสติกชีวภาพ ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ ซึ่งผ่านการออกแบบและปรับปรุงให้สวยงาม พร้อมใช้งาน มามอบให้แก่หน่วยงานในสังกัดของกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย
AO08571
Click Donate Support Web