- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Saturday, 17 August 2019 17:34
- Hits: 5482
SME D Bank ประสาน มอ. ติดปีก Startup ยางพาราสู่สากล
ดีเดย์ 16 ส.ค. เปิดโผ 10 ทีมสุดท้าย คว้ารางวัลเกือบ 2 แสนบาท
SME D Bank ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แจงบทสรุปความสำเร็จโครงการ “SME D Scaleup Rubber HACKATHON 2019 ติดปีก Startup ยางพาราสู่สากล” ดีเดย์ 16 ส.ค. เปิดผลแข่งขันนำเสนอจาก 10 ทีมสุดท้าย รับรางวัลเกือบ 2 แสนบาท
นายพงชาญ สำเภาเงิน รองกรรมการผู้จัดการ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า ธนาคารได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) จัดโครงการ “SME D Scale up Rubber Hackathon ติดปีก Startup ยางพาราสู่สากล” เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนแนวคิดธุรกิจใหม่ในผลิตภัณฑ์นวัตกรรมยางพารา โดยมีนักศึกษาจากทุกสถาบันการศึกษาทั่วประเทศสมัครเข้าร่วมโครงการ 22 ทีม และผ่านกระบวนการคัดเลือกรอบแรก 15 ทีม เพื่อเข้ารับการอบรมเข้มข้นทั้งการสัมมนาและเวิร์คช้อปและสร้างสรรค์ความคิดผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ภายในระยะเวลา 24 ชม. เพื่อพร้อมนำเสนอไอเดียให้คณะกรรมการคัดเลือกเพื่อรับเงินทุนตั้งต้น 1 หมื่นบาท เพื่อไปผลิตผลงานจริง แล้วกลับมานำเสนออีกครั้งในรอบ 10 ทีมสุดท้าย โดยมีพิธีเปิดพร้อมการอบรมสัมมนาระหว่างวันที่ 8 – 9 มิ.ย. 62 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ 10 ทีมสุดท้าย ที่ได้นำเสนอผลงาน (Pitching) ในวันที่ 16 สิงหาคม 2562 ชิงเงินรวมรางวัลเกือบ 200,000 บาท มีผู้ที่ได้รับรางวัลดังต่อไปนี้
1. รางวัลชนะเลิศโล่และเงินรางวัล มูลค่า 100,000 บาท ได้แก่ ทีม I Love Rubber ผลงาน รองเท้าโคนม (ผลงานของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)
2. รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 1 โล่และเงินรางวัล มูลค่า 30,000 บาท ทีม หวังเหวิด ผลงาน แผ่นหนังเทียมจากยางพารา (ผลงานของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)
3. รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 2 โล่และเงินรางวัล มูลค่า 10,000 บาท ทีม RISE Insulation ผลงาน ฉนวนทำความเย็นที่ใช้ในโรงงานและบ้านเรือน ฉนวนความร้อนต่ำ (ผลงานของบริษัท ไรส์ ชิลเลอร์ จำกัด)
4. Popular Vote 1 รางวัล โล่และเงินรางวัลมูลค่า 10,000 บาท ทีม I Love Rubber ผลงาน รองเท้าโคนม (ผลงานของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)
และ 5. รางวัลชมเชย 7 รางวัล มูลค่ารางวัลละ 5,000 บาท
สำหรับโครงการครั้งนี้ประกอบด้วยหลักสูตรพัฒนาความรู้และสร้างโอกาสในการจัดตั้งธุรกิจนวัตกรรมยางพาราให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ ยกระดับแนวคิดธุรกิจสู่ทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมต่อยอดธุรกิจในเชิงพาณิชย์ สร้างสรรค์ไอเดียและสร้างเครือข่ายกลุ่มยางพาราในกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ และได้รับการโค้ชชิ่ง (Coaching) คำปรึกษาแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญมากประสบการณ์โดยตรง สานฝันผลักดันผลิตภัณฑ์นวัตกรรมยางพาราสู่ธุรกิจต่อไป
AO08326
Click Donate Support Web