- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Monday, 29 September 2014 22:24
- Hits: 3545
สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) : เคล็ด(ไม่)ลับกับการปลูกอ้อยแบบพึ่งพาตนเอง
บ้านเมือง : แม้ว่า อ้อยจะเป็นพืชไร่ ที่ไม่ต้องปลูกใหม่ทุกปี เนื่องจากสามารถไว้ตอได้แต่เมื่ออ้อยตอเริ่มให้ผลผลิตลดน้อยลง เกษตรกรจะต้องรื้อตออ้อยปลูกใหม่ ซึ่งจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการปลูกอ้อยใหม่ เพื่อมาปลูกทดแทนตออ้อยเก่า ซึ่งในการปลูกอ้อยใหม่ 1 ครั้ง ชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่ก็จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจากอ้อยรุ่นนั้นไปอีก 3-4 ปี
แต่สำหรับต้นอ้อยที่เติบโตอยู่ในไร่ของคุณบุญพร้อม สำราญวงศ์ ณ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ในขณะนี้นั้น เป็นอ้อยที่เกิดจากตออ้อยที่ปลูกไว้เมื่อ 13 ปีก่อน
ส่วนเหตุที่สามารถไว้ตออ้อยได้ถึง 13 ปีนั้น คุณบุญพร้อมเล่าให้ฟังว่า หลังจากตนเองเปลี่ยนที่ 8 ไร่ จากปลูกข้าวมาทำอ้อยเมื่อปี 2541 นั้ น ในช่วงแรกไม่ได้ตัดอ้อยสด (เผาใบอ้อยก่อนตัดอ้อย) เหมือนกับเพื่อนบ้านคนอื่น ๆ แต่พบว่ามันทำให้ดินแห้ง มีการระบาดของแมลงศัตรูอ้อย และอ้อยมีโอกาสตายสูง ตนเองจึงนำแนวคิดเรื่องการไถกลบฟางข้าวที่ได้ไปรับการอบรมมา มาปรับใช้กับแปลงอ้อยของตนเองตั้งแต่ปี 2544 โดยหันมาตัดอ้อยสดที่ไม่มีการเผาใบอ้อยก่อนและหลังตัด แล้วเหลือใบอ้อยที่ตัดให้คลุมแปลงไว้
"พอทำปีแรกก็ได้ผลเลย เพราะเมื่อเราเปรียบเทียบกับตอนที่ทำอ้อยไฟไหม้ นอกจากของเราจะไม่ต้องมาเสียเวลาแต่งหรือตัดตออ้อย ไม่ต้องฝังปุ๋ยแล้ว ยังพบว่า ตออ้อยเก่าที่คลุมด้วยใบสดยังให้ลำอ้อยที่แข็งแรง ที่สำคัญเมื่อตัดอ้อยส่งเข้าโรงงานแล้ว ตออ้อยที่เหลืออยู่ก็ยังแข็งแรงและสมบูรณ์พอที่จะให้ลำอ้อยให้เราเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อีก ทำให้เราไม่ต้องลงอ้อยใหม่อีกเลยจนถึงปัจจุบันก็เป็นปีที่ 13 แล้ว"
นอกจากจะสามารถทำให้ไว้ตออ้อยได้ถึง 13 ปีแล้ว คุณบุญพร้อมยังเดินตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการพึ่งพาตนเอง และไม่เน้นการใช้เทคโนโลยีที่เกินความจำเป็น เช่น ใช้แรงงานในการกำจัดวัชพืชแทนการใช้รถ การใช้เครือญาติ หรือคนในครอบครัวมาช่วยกันตัดอ้อย แทนการจ้างรถตัดอ้อย รวมไปถึงการใส่ปุ๋ยที่ใช้การหว่านมือ
"เนื่องจากเราต้องการให้ตออ้อยของเราสมบูรณ์ที่สุด ดังนั้นเราถึงต้องใช้แรงงานคนมาจัดการกับวัชพืชแทนรถ ส่วนที่ต้องหว่านปุ๋ยด้วยมือนั้นก็เพราะว่าหากใช้รถจะทำให้ดินแน่น ซึ่งขณะที่เดินหว่านเราก็จะนำโซ่ยาว 2 เส้น มาผูกที่เอวฝั่งซ้ายและขวา เพื่อให้เวลาที่เดินไปในแปลง ปลายโซ่ที่ลากไปกับพื้นจะช่วยตวัดใบอ้อยให้พลิกหรือยกขึ้นมา ทำให้ปุ๋ยที่หว่านลงถึงดินได้มากขึ้น และใบอ้อยก็ยังถูกย่อยสลายเป็นธาตุอาหารได้ ทั้งหมดนี้ช่วยลดการใช้ปุ๋ยให้เหลือเพียงไร่ละครึ่งกระสอบ" (โดยทั้วไปชาวไร้อ้อยจะใส่ปุ๋ยบำรุงอ้อย เฉลี่ยไร่ละ 2 กระสอบ)
นอกจากนี้ การทำไร่อ้อยของคุณบุญพร้อม ยังมีแนวคิดที่น่าสนใจอีกหลายประการ เช่น การไถระเบิดดินดานก่อนปลูก การมีแปลงอ้อยพันธุ์ของตนเอง การใช้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยมูลสัตว์ควบคู่ไปกับปุ๋ยอินทรีย์ การใช้แตนเบียนในการป้องกันหนอนกออ้อยและลดการใช้สารเคมีให้น้อยที่สุด รวมไปถึงเทคนิคการย่อยสลายใบอ้อยด้วยการนำปุ๋ยยูเรียมาละลายน้ำก่อนฉีดพ่นใบอ้อยหลังตัด แทนการเผา ที่พบว่าทำให้ใบอ้อยสดย่อยสลายไว และวัชพืชลดน้อยลง ซึ่งนอกจากจะทำให้มีต้นทุนลดลงจนไม่ต้องใช้เงินเกี๊ยวจากโรงงานน้ำตาลพิมาย (โรงงานน้ำตาลฯที่ส่งอ้อยอยู่ในปัจจุบัน) แล้ว ยังทำให้มีกำไรจนสามารถขยายพื้นที่ปลูกได้ถึง 125 ไร่ในปัจจุบัน กับผลผลิตเฉลี่ย 14.16 ตันต่อไร่ ที่ความหวาน 13 ซี.ซี.เอส.
จากความสำเร็จบนพื้นฐานของการพึ่งตนเองในการปลูกอ้อยของคุณบุญพร้อม กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จึงประกาศให้ คุณบุญพร้อม สำราญวงศ์ ได้รับรางวัลชาวไร่อ้อยตัวอย่างด้านการผลิตอ้อยอย่างยั่งยืน ประจำปี 2557 โดยเข้ารับรางวัลจากปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
"อยากให้ชาวไร่อ้อยรายใหม่ ที่ไม่มีอะไรแบบดิฉัน ไม่มีเครื่องมืออะไร ได้ลงมือทำด้วยตัวเอง ประสบการณ์จะบอกเราให้รู้ว่าต้องทำตรงไหน ปรับตรงไหน และเมื่อทำต่อไปอย่างตั้งใจก็จะประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอนค่ะ" คุณบุญพร้อมกล่าวสรุป
สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.)
มุ่งพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของทุกภาคส่วน ด้วยจิตสำนึกรู้รับผิดชอบต่อสังคม โทร. 0 2202 3075 เว็บไซต์ www.ocsb.go.th