- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Monday, 18 March 2019 18:31
- Hits: 3343
สวทน.ส่งต่อความสำเร็จฟู้ดอินโนโพลิส สู่มือ สวทช. 'พิเชฐ'เชื่อ ก้าวถึง ฮับนวัตกรรมอาหารโลก ซันกรุ๊ป - เซ็นทรัลแล็บ ประเดิมร่วมมือภายใต้บ้านใหม่ ชูเพิ่มมูลค่าพัฒนามาตรฐานส่งออก
ตามที่มีมติจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 เห็นชอบในส่วนของการจัดตั้งและดำเนินการเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) จากการบริหารและดำเนินการของ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ไปเป็นการบริหารและดำเนินงานโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สวทน. จึงได้ร่วมกับ สวทช. จัดงานแถลงข่าว ‘ส่งต่อความสำเร็จโครงการ Food Innopolis จาก สวทน. สู่ สวทช.’ ขึ้น ในวันจันทร์ที่ 18 มีนาคม 2562 ณ บริเวณโถงชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานพร้อมแสดงวิสัยทัศน์ ‘อนาคตอุตสาหกรรมอาหารของไทยก้าวต่อไปของ Food Innopolis’ พร้อมด้วยดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สวทน. และ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. แถลงรายละเอียดความสำเร็จของโครงการที่พร้อมส่งต่อ เพื่อขับเคลื่อนต่อไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่า
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า โครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ ฟู้ดอินโนโพลิส ถือว่าเป็นโครงการแฟลกชิป ที่รัฐบาลตั้งใจพัฒนาในประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารของโลก โดยดึงเอาศักยภาพและความพร้อมด้านเกษตรและอาหารมาผนวกกับข้อได้เปรียบประเทศทั้งในด้านบุคลากรวิจัยในสาขาวิชาเทคโนโลยีอาหารและการเป็นศูนย์กลางคมนาคมของกลุ่มประเทศอาเซียน นอกจากนี้ รัฐบาลยังมุ่งหวังให้ ฟู้ดอินโนโพลิส เร่งสร้างสภาพแวดล้อมด้านนวัตกรรม ที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารให้เติบโตอย่างยั่งยืนและแข่งขันได้ในเวทีโลก โดยเฉพาะการเชื่อมโยงผู้ประกอบการอาหารของไทยในทุกระดับกับห่วงโซ่มูลค่าอาหารโลก รวมทั้งดึงดูดให้มีการลงทุนวิจัยพัฒนาของบริษัทอาหารชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจากการดำเนินงานในช่วงเกือบสองปีมานี้ ถือเป็นการเริ่มต้นได้อย่างดีมากและกำลังจะดำเนินต่อไปเข้มแข็งเพื่อให้ประเทศของเราพัฒนาไปสู่สังคมและเศรษฐกิจฐานความรู้อย่างยั่งยืนต่อไป
“ผมรู้สึกยินดีที่วันนี้โครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร ที่ สวทน. ได้ผลักดันมาตั้งแต่การออกแบบนโยบายสู่การปฏิบัติได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม และได้รับความร่วมมืออย่างดีจากภาครัฐและเอกชนที่ร่วมขับเคลื่อนโครงการฯ จากวันนั้นถึงวันนี้แม้จะเป็นช่วงเวลาเพียงสองปี แต่โครงการฯ มีความก้าวหน้าไปอย่างมาก สามารถทำงานแบบบูรณาการในทุกมิติและพร้อมส่งต่อไปสู่ สวทช. ตามภารกิจกระทรวงฯ ใหม่”ดร.พิเชฐ กล่าว
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ผลสำรวจการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมของปี 2561 โดย สวทน. พบว่า อุตสาหกรรมอาหาร ติด 1 ใน 3 อันดับแรกของอุตสาหกรรมที่เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชน โดยมีมูลค่าการลงทุนวิจัยและพัฒนา 16,203 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจาก 15,051 ล้านบาท ในปี 2560) โดยส่วนมากเป็นการวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่ให้ตรงตามความต้องการที่หลากหลาย และการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ จากข้อมูลการสำรวจยังพบอีกว่า ผู้ประกอบการอาหารในทุกระดับมีการพัฒนาผลิตอาหารใหม่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคและตอบรับกระแสความต้องการของตลาด
และหลายบริษัทได้จัดตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาและนวัตกรรม ทั้งในพื้นที่ของตนเองและในพื้นที่ที่รัฐจัดโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการวิจัยและพัฒนาให้ เช่น เมืองนวัตกรรมอาหาร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย และ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค อย่างไรก็ตามหากมองกระแสความท้าทายของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในปัจจุบัน อุตสาหกรรมอาหารในยุค Thailand 4.0 จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และตอบรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมอาหาร ทั้งในแง่ความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค ความปลอดภัยอาหาร ตลอดจนเทคโนโลยีล่าสุดและนวัตกรรมใหม่ๆ โดยนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการพัฒนาและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารและบริการที่ตอบโจทย์ของผู้บริโภค
ดร.พิเชฐ กล่าวด้วยว่า โครงการเมืองนวัตกรรมอาหารที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กำลังขับเคลื่อนอยู่นั้น เป็นแรงผลักดันที่สำคัญมากที่จะช่วยตอบโจทย์ให้กับภาคเอกชนด้านนวัตกรรมอาหาร และการเร่งให้เกิดผู้ประกอบการนวัตกรรมด้านอาหารให้มากขึ้น เป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนและเพิ่มมูลค้าสินค้าของไทยให้มีคุณภาพสูง สามารถแข่งขันในตลาดโลก นวัตกรรมอาหารจะช่วยเปิดโอกาสทางการตลาดและช่องทางใหม่ๆให้กับธุรกิจ และยังตอบโจทย์นโยบายของประเทศเรื่อง Thailand 4.0 เพราะเป็นการสร้างระดับการพัฒนาที่พี่งพานวัตกรรม และเศรษฐกิจหมุนเวียนไปพร้อมๆ กัน ซึ่งจะนำพาให้ประเทศไทยเป็นฮับนวัตกรรมอาหารโลกได้อย่างแท้จริง
ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า ฟู้ดอินโนโพลิส ภายใต้การบริหารจัดการของ สวทน. มีบริษัทเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศมาลงทุนวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมในพื้นที่แล้ว 36 บริษัท มี เอสเอ็มอี เข้ามาทำวิจัยและนวัตกรรมในพื้นที่ศูนย์วิจัยอาหารแห่งอนาคต “Future Food Lab” 17 บริษัท และมีผู้ประกอบการกว่า 200 บริษัทเข้ามาใช้บริการศูนย์ RDI One -Stop Service ซึ่งสนับสนุนการทำวิจัยและนวัตกรรมให้มีความคล่องตัว สะดวก และรวดเร็ว รวมทั้งอยู่ระหว่างขยายการดำเนินงานไปยังส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ โดยใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานของมหาวิทยาลัย และอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค
ดร.กิติพงค์ ยังกล่าวอีกว่า สวทน. ได้วางรากฐานสำคัญ 5 ด้าน ของฟู้ดอินโนโพลิส เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารที่สำคัญของโลก ได้แก่ 1. มุ่งส่งเสริมบริษัทอาหารในการพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูงด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง 2. จัดให้มีบริการครบวงจรด้านวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมในรูปแบบ “One-stop service” และบริการครบวงจรด้วย Service Platforms ต่างๆ ที่ได้พัฒนาขึ้นร่วมกับพันธมิตร 3. ส่งเสริมและเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรฐาน วิเคราะห์ทดสอบ และความปลอดภัยด้านอาหาร 4. เชื่อมโยงหน่วยงานวิจัยและผู้ประกอบการเพื่อสร้างนวัตกรรมอาหาร ทั้งการกระตุ้นให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี และบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี รวมทั้งเร่งการเติบโตของสตาร์ทอัพ และ 5. ส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรวิจัยจากทั่วโลกมาร่วมวิจัยและพัฒนากับบริษัทและหน่วยงานในเมืองนวัตกรรมอาหาร และพัฒนาบุคลากรด้านอาหารร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ดร.ณรงค์ กล่าวว่า สวทช. ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ ซึ่งบทบาทสำคัญต่อการผลักดันเศรษฐกิจ ทั้งด้านการผลิต การส่งออก การสร้างผู้ประกอบการ การจ้างงาน และการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ โดยมีการเชื่อมโยงกับภาคเกษตรกรรมในห่วงโซ่อุปทานจากทุกภูมิภาคของประเทศ อีกทั้งยังสนับสนุนให้มีการนำผลงานวิจัยและพัฒนาไปใช้ภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs สตาร์ทอัพ เกษตรกร และอุตสาหกรรม เพื่อสร้างขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางสู่ Thailand 4.0 และเร่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศได้ตามเป้าหมายร้อยละ 50 ภายในปี 2568 จากร้อยละ 36 ในปี 2561
เมืองนวัตกรรมอาหารแห่งแรก ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย นี้ ที่ สวทน. ดำเนินงานมาแล้วสองปีสามารถสร้างการรับรู้ถึงหน้าที่ของเมืองนวัตกรรมอาหารต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงกว้าง และเริ่มเป็นที่รู้จักในเวทีโลก ที่สามารถสร้างระบบนิเวศน์นวัตกรรม (innovation ecosystem) เอื้อต่อการทำวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง โดย สวทช. พร้อมจะต่อยอดและขยายผลการดำเนินงานของเมืองนวัตกรรมอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา Service Platforms ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ การให้บริการ One-Stop Service เชื่อมโยงบริการสนับสนุนการวิจัยพัฒนาของหน่วยงานต่าง ๆ และการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการทำวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชน อีกทั้งจะพัฒนากลไกสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการในรูปแบบอื่นเพิ่มเติมให้เกิดผลกระทบมากขึ้น เพื่อเร่งให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยตลอดทั้งห่วงโซ่เกษตรและอาหาร สามารถพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้นและเติบโตได้อย่างยั่งยืน
สำหรับ การขยายเครือข่ายเมืองนวัตกรรมอาหาร ไปยังหน่วยงานที่มีศักยภาพและความพร้อมทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ในพื้นที่ของ 13 มหาวิทยาลัย และ 2 หน่วยงาน (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ) เพื่อขยายความร่วมมือและการดำเนินงานของ สวทช. จากส่วนกลางไปสู่ภูมิภาค
นอกจากนี้ สวทช. จะสนับสนุนให้เมืองนวัตกรรมอาหารทำงานร่วมกับ 4 ศูนย์เทคโนโลยีแห่งชาติของ สวทช. เพื่อให้เกิดการลงทุนวิจัยและนวัตกรรมอาหาร มีความเข้มแข็งและเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารของโลก เช่น Internet of Food การพัฒนาคนสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร 4.0 โลจิสติกส์ และซัพพลายเชนสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร ความปลอดภัยอาหารและมาตรฐานอาหาร การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารตามแนวทางเศรษฐกิจแนวใหม่บน 5 ฐานแนวคิด คือ 1. เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) 2. เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) 3. เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) 4. เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Intelligent Economy) และ 5. เศรษฐกิจร่วมใช้ประโยชน์ (Sharing Economy) เพื่อยกระดับศักยภาพของประเทศสร้างความมั่นคง ยั่งยืนต่อไป
วันเดียวกัน ภายหลังจากที่ได้ส่งต่อความสำเร็จจาก สวทน. สู่ สวทช. แล้ว สวทช. เดินหน้าต่อทันทีด้วยการลงนามความร่วมมือ กับบริษัทซันกรุ๊ป และ บริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนเมืองนวัตกรรมอาหาร โดยมี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ ร่วมเป็นสักขีพยาน
ดร.ณรงค์ กล่าวว่า จากความสำเร็จที่ สวทน. ได้ดำเนินการไว้ ทำให้ สวทช. สามารถทำงานต่อได้ทันที จึงได้มีการจัดให้การลงนามร่วมมือเป็นเครือข่ายกับบริษัท ซันกรุ๊ป จำกัด และบริษัทเซ็นทรัลแล็บ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อร่วมขับเคลื่อนเมืองนวัตกรรมอาหาร โดยบริษัทซันกรุ๊ป ดำเนินธุรกิจไก่ครบวงจรทั้งไก่เนื้อและไก่ไข่ ประกอบด้วย โรงงานผลิตอาหารไก่ ฟาร์มพ่อ แม่พันธุ์ โรงฟักไข่ ฟาร์มไก่เนื้อ ธุรกิจไก่ประกัน และไก่จ้างเลี้ยง โรงงานผลิต และแปรรูปเนื้อไก่สดเนื้อไก่แช่แข็ง เพื่อการส่งออก รวมถึงโรงงานผลิตอาหารปรุงสุกแช่แข็งจากเนื้อไก่
ทั้งนี้ บริษัทซันกรุ๊ป เป็นหนึ่งในบริษัทที่ตั้งอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยอยู่แล้ว และเป็นสมาชิกของฟู้ดอินโนโพลิส ในนามบริษัท ซันฟีด จำกัด ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2558 โดยที่ผ่านมามีความร่วมมือด้านการวิจัยกับ Food and Feed Innovation Center เพื่อพัฒนาสูตรอาหารสำหรับเลี้ยงไก่ และได้ทำงานกับเครือข่ายเมืองนวัตกรรมอาหารมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของการออกแบบและจัดตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบทางประสาทสัมผัสตามมาตรฐานสากล โดยได้รับคำแนะนำและร่วมออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญจากคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เพื่อประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอนพัฒนาระบบการเลี้ยง และพัฒนาคุณภาพเนื้อไก่ เป็นต้น
สำหรับ ความร่วมมือกับบริษัทเซ็นทรัลแล็บฯ นั้น ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอาหารมีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านมาตรฐานการตรวจวิเคราะห์อันจะนำไปสู่ความสามารถด้านการแข่งขันสินค้านวัตกรรมเพื่อการส่งออก ตลอดจนเป็นการสนับสนุนให้เกิดมาตรฐานงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารที่มีคุณภาพ และความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์อาหารไทยที่ได้รับการตรวจวิเคราะห์ภายใต้มาตรฐานการส่งออกสินค้าต่อไป
Click Donate Support Web