- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Friday, 08 February 2019 07:59
- Hits: 4104
อุตสาหกรรมข้าวโพดหวาน ร้องคณะกรรมการวัตถุอันตราย เลิกใช้พาราควอต สูญกว่า 1.3 หมื่นล้านบาทต่อปี
กลุ่มผู้รวบรวมข้าวโพดหวานอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือต่อ คณะกรรมการวัตถุอันตราย ร้องเกิดความเสียหายขึ้นทันทีหากยกเลิกใช้ สารพาราควอต มูลค่าสูง 1.3 หมื่นล้านบาท
นายคมกฤต ปานจรูญรัตน์ รองประธาน กลุ่มผู้รวบรวมข้าวโพดหวานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า พื้นที่ปลูกข้าวโพดหวานทั่วประเทศ มีขนาด 700,000 ไร่ มูลค่าการส่งออกเกือบ 7,000 ล้านบาท ยังไม่นับการบริโภคภายในประเทศ อาจมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาท แม้ว่าประเทศไทยส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่ยังประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดหวานลดลง เกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่อยู่ในโครงการประกันราคาของรัฐบาล ดังนั้น จำเป็นต้องหาวิธีการเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้นเพื่อทดแทนพื้นที่ปลูกที่ลดลง และยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหา หากมีการห้ามใช้ สารพาราควอต ต้นทุนการเกษตรจะเพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่า 800 ล้านบาท ส่งผลต่อเนื่องไปยังกลุ่มผู้ผลิตข้าวโพดกระป๋อง คิดเป็นมูลค่า 7,000 ล้านบาท
ด้านการส่งออก ปัจจุบันกลุ่มประเทศในยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ นำเข้าข้าวโพดหวานจากไทยเป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะมีการใช้สารพาราควอต ในกระบวนการผลิต ไม่เคยเกิดกรณีตีกลับข้าวโพดหวานจากสารพารา ควอตตกค้าง หรือมีอันตรายต่อผู้บริโภค แต่กระแสข่าวที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับพาราควอต ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านการส่งออกในระดับนานาชาติ
นอกจากนี้ เกษตรกรข้าวโพดหวานจังหวัดกาญจนบุรี นายวาทิน มงคลสารโสภณ กล่าวว่า พาราควอตเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของเกษตรกร ช่วยในการควบคุมวัชพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ไม่มีสารหรือวิธีการอื่นใดทดแทน และหากจะมองว่าเป็นสารเคมีอันตราย สารเคมีทุกตัวก็อันตรายทั้งหมด ก็ควรห้ามใช้ทั้งหมด จะอันตรายหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับบุคคลที่นำไปใช้มากกว่าว่านำไปใช้ถูกวิธีหรือไม่ ผู้รวบรวมข้าวโพดหวานอุตสาหกรรม จังหวัดกาญจนบุรี นายชาตรี ฟักเหลือง กล่าวถึงผลกระทบโดยตรงต่อข้าวโพดหวานอุตสาหกรรมว่า ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น คุณภาพผลผลิตลดลง ส่วนผลกระทบต่อผู้บริโภคนั้น มั่นใจว่า ไม่มี เพราะการใช้สารพาราควอตไม่ได้ฉีดลงบนพืช ทำให้ไม่มีการดูดซึมสารตามกล่าวอ้าง สิ่งที่เกษตรกรต้องการคือ ไม่ใช่การแบนสาร แต่ควรมาอบรมให้ความรู้เพื่อการใช้อย่างถูกต้องจะดีกว่า
ด้านตัวแทนกลุ่มผู้รวบรวมข้าวโพดหวานอุตสาหกรรม จังหวัดเชียงใหม่ นางสาววิเชียร ติง กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ในพื้นที่ภาคเหนือมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดหวานเป็นจำนวนมาก เพื่อป้อนเข้าสู่โรงงานผลิตข้าวโพดหวานกระป๋อง ดังนั้นหากมีการเลิกใช้พาราควอต ไม่เพียงแต่เกษตรกรเท่านั้นที่จะได้รับความเดือดร้อน แต่โรงงานอุตสาหกรรมก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน เพราะต้องหาผลผลิตจำนวนมากมาแปรรูป เพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ จึงขอให้มีการพิจารณาใช้สารพาราควอตต่อไป แต่ให้มีการอบรมเกษตรกรควบคู่กันไปด้วย เพราะจากประสบการณ์กว่า 10 ปีที่ใช้มา หากมีการใช้อย่างถูกวิธี จะไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกายตามที่เป็นข่าว และไม่มีสารตกค้างในผลผลิตด้วย
กลุ่มผู้รวบรวมข้าวโพดหวานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงอยากให้ตระหนักถึงผลกระทบและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นทั้งระบบห่วงโซ่ที่แยกจากกันไม่ได้ ระบบการผลิต อุตสาหกรรมการแปรรูป อุตสาหกรรมอาหาร หากเกษตรกรอยู่ไม่ได้ สร้างผลผลิตไม่ได้ จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมเกษตรทั้งระบบ รวมทั้ง กลุ่มนักวิชาการและแพทย์ได้เคยชี้ข้อเท็จจริงแล้วว่า พาราควอต มีความจำเป็นต่อเกษตรกร และอุตสาหกรรมข้าวโพดหวาน ประเด็นด้านสุขภาพจากเอกสารงานวิจัยต่าง ๆ ไม่ได้ระบุว่า พาราควอต เป็นสาเหตุของการเกิดโรค และอาการต่าง ๆ ดังกล่าวอ้าง เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น
“กลุ่มรวบรวมข้าวโพดหวานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีความเห็นตรงกันว่า ไม่ควรห้ามใช้ สารกำจัดวัชพืช พาราควอต เพราะเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต ส่งผลกระทบกับห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ (การผลิต) จนถึงปลายน้ำ (ผลิตผลหรือสินค้าแปรรูป) และยังไม่มีสารอื่นที่สามารถมาทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่เท่าเทียมกัน รวมทั้ง ภาครัฐยังไม่มีมาตรการรองรับผลกระทบด้านต้นทุนของเกษตรกร หากมีการห้ามใช้ พาราควอต จะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรของไทยอย่างใหญ่หลวง เพียงแค่กลุ่มเกษตรกรข้าวโพด ส่งผลกระทบเสียหายทั้งระบบรวมมูลค่ากว่า 1.3 หมื่นล้านบาท
ดังนั้น จึงขอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายยืนยันมติเดิม ไม่แบนการใช้ 3 สารเคมี พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต กลุ่มรวบรวมข้าวโพดหวานอุตสาหกรรมเอง ก็กำลังจัดทำโครงการส่งมอบความสุขให้เกษตรกร ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยการเข้าไปให้ความรู้เรื่องการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนสำหรับการปลูกข้าวโพดหวาน เพื่อให้เกษตรกรมีความมั่นใจในรายได้ในการผลิตข้าวโพดหวานเข้าสู่อุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” นายคมกฤต กล่าวสรุป
Click Donate Support Web