- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Monday, 04 February 2019 17:23
- Hits: 3635
7 สมาคมเหล็กยื่นหนังสือชี้แจงความเดือดร้อนของกลุ่มผู้ผลิตเหล็กเคลือบสังกะสี และกลุ่มผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน
นายนาวา จันทนสุรคน นายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย และผู้ประสานงานกลุ่ม 7 สมาคมเหล็ก ร่วมกับผู้บริหารของสมาคมเหล็กอื่นๆ เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ ณ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ของ คสช. เพื่อแสดงถึงความเดือดร้อน และความจำเป็นของการขยายระยะเวลาบังคับใช้มาตรการ Safeguard รวมถึงชี้แจงในประเด็นต่างๆที่กระทรวงพาณิชย์ออกมาให้เหตุผลเกี่ยวกับการยุติมาตรการ ซึ่งขัดกับข้อเท็จจริงหลายประเด็นดังนี้
1. ความเดือดร้อนของกลุ่มผู้ผลิต
นอกจากนี้ จากสถานการณ์สงครามทางการค้าในสินค้าเหล็กที่เริ่มโดยสหรัฐอเมริกาที่ต้องการปกป้องและส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล็กและอลูมิเนียมในประเทศของตน โดยบังคับใช้มาตรการ Section 232 ของกฎหมาย Trade Expansion Act, 1962 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2561 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนให้มีการใช้อัตรากำลังการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในสหรัฐอเมริกาให้ถึง 80% (อุตสาหกรรมผู้ผลิตเหล็กไทยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตประมาณ 33%) ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำหนดมาตรการคุ้มครองอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศเพิ่มขึ้นในระยะหลัง ดังนี้
(1) สหภาพยุโรปกำหนดมาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard: SG) สินค้าเหล็ก 28 ประเภท
(2) ประเทศตุรกีกำหนดมาตรการ SG สินค้าเหล็ก 10 ประเภท
(3) สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน อาร์มีเนีย และรัสเซีย) ได้เปิดการไต่สวนพิเศษเกี่ยวกับการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบนเข้ามาในประเทศสมาชิก เพื่อตรวจสอบว่าอุตสาหกรรมในประเทศต้องการการป้องกันในเรื่องปริมาณการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น และจากการเปลี่ยนเส้นทางเหล็กจากสหภาพยุโรป, สหรัฐอเมริกา และตุรกี หรือไม่
(4) ประเทศแคนาดากำหนดมาตรการ SG สินค้าเหล็ก 6 ประเภท
(5) ประเทศเม็กซิโกต่ออายุการเรียกเก็บภาษี 15% สำหรับสินค้าเหล็กจำนวน 186 รายการจากประเทศที่ไม่มี FTA กับเม็กซิโก
จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่าประเทศต่างๆทั่วโลกตระหนักดีว่าเป็นสินค้าเหล็กเป็นสินค้าที่กระทบถึงความมั่นคงของชาติ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้สินค้าที่ไม่สามารถส่งเข้าไปยังประเทศดังกล่าวได้ก็จะเปลี่ยนเป้าหมายไปสู่ประเทศที่ไม่มีมาตรการทางการค้า โดยขณะนี้สินค้าเหล็กของไทยที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสงครามทางการค้าเนื่องจากไม่มีมาตรการทางการค้า ดังนี้
(1) กลุ่มผู้ผลิตสินค้าเหล็กเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน (GI)
สืบเนื่องจากการที่คณะกรรมการตอบโต้การทุ่มตลาดและอุดหนุนได้มีมติยุติการไต่สวนการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็ก GI ที่มีแหล่งกำเนิดจากจีน เกาหลีใต้ และไต้หวัน ส่งผลให้ที่มีปริมาณการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันผู้ผลิตบางรายไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนได้ จนเริ่มมีการปลดพนักงานกว่า 700 คนแล้ว และขณะนี้ผู้ลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาทก็กำลังได้รับผลกระทบจากปัญหาการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นนี้เช่นกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นขอให้มาตรการ SG ซึ่งหากไม่มีการบังคับใช้มาตรการใดๆเพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมผู้ผลิตในประเทศจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็กในอนาคตด้วยเนื่องจากไม่มีความมั่นใจในนโยบายการคุ้มครองนักลงทุนของภาครัฐ
(2) กลุ่มผู้ผลิตสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อน
ผู้ประกอบการต้องยกเลิกโครงการลงทุนต่างๆ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการเพื่อปรับตัวแข่งขันกับสินค้านำเข้าได้ ซึ่งอาจจะต้องปิดกิจการลงภายในระยะเวลา 1-3 ปี และกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ให้กับธนาคาร, เจ้าหนี้เงินกู้ และเจ้าหนี้การค้ากว่า 70,000 ล้านบาท
2. หลักกฎหมายในการต่ออายุมาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard)
จากกรณีที่กระทรวงพาณิชย์แจ้งว่าการจะใช้มาตรการเซฟการ์ดจะต้องเข้าตาม 3 เงื่อนไขคือ มีปริมาณการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมภายในของไทยเกิดความเสียหาย และความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากปริมาณการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่เป็นไปตามข้อกฎหมาย และเจตนารมณ์ของกฎหมาย ดังนี้
(1) ตามที่คณะกรรมการพิจารณามาตรการปกป้อง ได้เคยต่ออายุมาตรการ Safeguard ทั้งกรณีสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออื่นๆ ชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน พ.ศ. 2559 และกรณีสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนไม่เจือชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน พ.ศ. 2560 โดยได้ให้เหตุผลว่า “เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในระหว่างการปรับตัว” ซึ่งในการพิจารณาไม่ได้พิจารณาในส่วนปริมาณนำเข้าว่าต้องมีปริมาณสูงขึ้น (ในช่วงที่ใช้มาตรการ 3 ปีแรกปริมาณการนำเข้าลดลง) ส่วนความเสียหายก็ไม่ได้พิจารณาว่ามีความเสียหายที่ร้ายแรง แต่พิจารณาว่าอุตสาหกรรมยังมีความเสียหายอยู่ ซึ่งในกรณีนี้อุตสาหกรรมภายในยังคงมีผลประกอบการที่ขาดทุนอยู่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังคงมีความเสียหายอยู่
(2) โดยทั้งปริมาณนำเข้าที่ลดลง และความเสียหายที่ลดลงเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายอยู่แล้ว เพื่อให้อุตสาหกรรมภายในมีกำลังในการลงทุนเพื่อดำเนินโครงการตามแผนปรับตัวตามที่ได้เสนอต่อคณะกรรมการพิจารณามาตรการปกป้อง
3. การขอชดเชย และตอบโต้จากประเทศต่างๆ
(1) จากการประสานานผ่านบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ของเกาหลีพบว่ารัฐบาลเกาหลีไม่มีนโยบายที่จะขอชดเชย หรือตอบโต้ไทย
(2) ประเทศจีน อียิปต์ และตุรกีไม่มีการส่งสัญญาณในการตอบโต้ไทย เพราะในการประชุมรับฟังความเห็นทั้ง 3 ประเทศไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วมให้ความเห็น และแสดงถึงการคัดค้านมาตรการแต่อย่างใด
(3) ประเทศอียิปต์ และ ตุรกีอาจจะไม่มีสิทธิ์ในการขอชดเชย เนื่องจากปริมาณที่เคยส่งมายังไทยนั้นมีปริมาณน้อยกว่าขั้นต่ำของการเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการ (ไทยฟ้องตุรกีใน WTO แล้วเช่นกัน กรณีที่ตุรกีขึ้นภาษีนำเข้าเครื่องปรับอากาศจากไทย)
(4) ตามกระบวนการจะมีการขอ Consult ก่อนอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการขอ Consult แต่อย่างใด จึงไม่ถือเป็นการขอชดเชยอย่างเป็นทางการ และกรณีมีการขอชดเชย อุตสาหกรรมภายในยินดีสนับสนุน และให้การชดเชยอยู่แล้วหากเป็นไปตามข้อกฎหมายของไทย และ WTO
4. กรณีตุรกีขึ้นภาษีเครื่องปรับอากาศ
(1) อุตสาหกรรมภายในได้ยินยอมให้มีการชดเชยเป็นโควตาตามมูลค่าที่ตุรกีร้องขอผ่านกรมการค้าต่างประเทศตามกระบวนการชดเชยของ WTO แล้ว แต่ตุรกีกลับเปลี่ยนเป็นร้องขอในสิ่งที่ผิดกฎหมายของไทย และผิดกฎ WTO ซึ่งคณะกรรมการ Safeguard พิจารณาแล้วว่าไม่สามารถให้ตามที่ตุรกีร้องขอ ประกอบกับได้มีการฟ้องตุรกีไปยัง WTO แล้วว่าตุรกีดำเนินการไม่ถูกต้อง ในหลายประเด็นเช่น
- ตุรกีไม่ใช่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการจึงไม่สามารถตอบโต้ไทยได้
- มูลค่าภาษีที่ตุรกีเรียกเก็บเพิ่มนั้นสูงกว่ามูลค่าที่ตุรกีได้รับผลกระทบ
(2) นอกจากการยอมให้มีโควตาแล้ว ในการเจรจาอุตสาหกรรมภายในยังเสนอจะทำการจัดซื้อเครื่องปรับอากาศจากบริษัทที่ได้รับผลกระทบด้วยเพื่อชดเชยส่วนที่สูญเสียไปจากการส่งออก
(3) อุตสาหกรรมภายในเสนอผ่านกรมการค้าต่างประเทศให้ส่วนลดในส่วนของวัตถุดิบให้กับบริษัทเครื่องปรับอากาศเป็นมูลค่าเท่ากับที่อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศต้องชดเชยค่าภาษีนำเข้าให้กับตุรกี
5. ผลกระทบจากการใช้มาตรการต่อภาคอุตสาหกรรมอื่น
ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่นๆในประเทศมีน้อยมาก เนื่องจากมาตรการ Safeguard นี้เป็นการบังคับใช้มาตรการเท่าที่จำเป็นเท่านั้นซึ่งจะสามารถพิจารณาได้จากสินค้านำเข้ายังมีอยู่ในระดับสูงประมาณ 1.2 ล้านตันในปี 2561 เนื่องจากอุตสาหกรรมภายในมีการยกเว้นมาตรการให้กับหลายอุตสาหกรรมดังนี้
1. อุตสาหกรรมยานยนต์
2. อุตสาหกรรมเหล็กเกรดพิเศษ
3. สินค้าที่นำมาผ่านกระบวนการรีดเย็นต่ออยู่แล้ว
4. นอกจากนี้ ยังยกเว้นมาตรการให้กับการนำเข้ามาผลิตเพื่อส่งออกด้วย เพื่อลดผลกระทบของสินค้าที่อยู่ในข่ายของการบังคับใช้มาตรการ
6. การเร่งรัดใช้มาตรการ และพิจารณาขยายเวลาบังคับใช้มาตรการ
อุตสาหกรรมภายในยินดีเข้าร่วมพบนายกพร้อมกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อชี้แจงประเด็นความจำเป็นในการบังคับใช้มาตรการ Safeguard และประเด็นข้อกฎหมายในมุมของภาคเอกชนเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน
7. การบังคับใช้มาตรการ AD ที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถทดแทนมาตรการ Safeguard ได้
การบังคับใช้มาตรการ AD ทั้งหมดเป็นสินค้าคนละประเภทกับสินค้าที่ใช้มาตรการปกป้องทั้งสิ้น มีเพียงกรณีเดียวที่มีสินค้าที่เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการ Safeguard คือ AD เหล็กแผ่นรีดร้อนเจือโบรอน แต่ภายหลังจีนหลบเลี่ยงไปเติมธาตุอื่นแล้วจึงไม่เข้าข่ายมาตรการ AD นี้ ดังนั้นหากไม่มีมาตรการ Safeguard จะเป็นช่องว่างให้มีการนำเข้าอย่างมากมายโดยเฉพาะประเทศจีน โดยเฉพาะในช่วงที่มีสงครามทางการค้าที่ประเทศต่างๆ หาแหล่งระบายสินค้า
Click Donate Support Web