- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Tuesday, 29 January 2019 11:09
- Hits: 3667
ชาวไร่อ้อยอำนาจเจริญ-ยโสธรกว่า 7,000 คน เดือดร้อนหนัก ภาครัฐยื้อไม่ออกใบอนุญาตกว่าครึ่งปี
กรณีเหตุการณ์ปัจจุบันที่มีกลุ่มผู้คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อยในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านทั้งสองฝ่าย ซึ่งมีทั้งกลุ่มผู้คัดค้านและกลุ่มผู้สนับสนุนในจังหวัดอำนาจเจริญและยโสธร เพื่อประกอบการพิจารณาใบอนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยในวันนี้ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยได้มายื่นหนังสือสนับสนุนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลจังหวัดอำนาจเจริญ เนื่องจากประสบปัญหาเดือดร้อนอย่างหนักจากการแบกรับต้นทุนขนส่งอ้อยไปยังโรงงานนอกพื้นที่ภายหลังการเก็บเกี่ยว ส่งผลให้เกษตรกรที่ปลูกอ้อยในจังหวัดอำนาจเจริญและยโสธร เกิดความกังวลต่ออาชีพปลูกอ้อยในระยะยาว
นายอุทิศ สันตวงค์ ประธานสหกรณ์ชาวไร่อ้อยลำน้ำเซบาย กล่าวว่า “ขณะนี้ ยังมีชาวไร่อีกกว่า 7,000 คน ในจังหวัดอำนาจเจริญและจังหวัดยโสธร กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากที่โรงไฟฟ้าชีวมวลไม่เกิดขึ้น ซึ่งสิ่งที่เสียหายไปนี้ คือชาวไร่อ้อยต้องส่งอ้อยในพื้นที่ไปยังโรงงานในจังหวัดกาฬสินธุ์ ปีนี้ชาวไร่อ้อยสูญเสียเงินค่ารถเฉพาะค่าขนส่งไปแล้วกว่า120 ล้านบาท แทนที่เงินส่วนนี้จะได้เข้าสู่กระเป๋าพี่น้องชาวไร่อ้อยเรา และเราคงต้องขาดทุนมากกว่านี้ถ้าตัดอ้อยส่งไม่ทัน เพราะทางกาฬสินธุ์ก็มีอ้อยอยู่จำนวนมาก แต่ถ้าโรงงานน้ำตาลและไฟฟ้าชีวมวลเกิดขึ้นในพื้นที่ก็จะส่งผลดีต่อชุมชน ทุกคนมีรายได้ พี่น้องไม่ต้องเป็นหนี้ ซึ่งที่เป็นหนี้อยู่ขณะนี้ก็เป็นหนี้นอกระบบทั้งนั้น อีกทั้งปีนี้ ราคาอ้อยก็ตกต่ำ ยิ่งซ้ำเติมชาวไร่ให้ขาดทุนหนักขึ้นไปอีก จึงขอฝากไปถึงคณะกรรมการฯ รวมถึงสื่อมวลชนว่า ในขณะที่มีเสียงจากกลุ่มผู้คัดค้าน ก็อยากให้เห็นใจและรับฟังเสียงข้อเท็จจริงจากกลุ่มผู้ปลูกอ้อยใน 2 จังหวัดนี้ด้วยว่าเราเดือดร้อนจริงๆ ซึ่งที่ผ่านมา ชาวไร่อ้อยและชุมชนรอบๆ โรงงานก็ได้รับฟังการชี้แจงเกี่ยวกับการมาตรการการดำเนินงานที่โปร่งใสของโรงงานและการมีส่วนร่วมกับชุมชน เราจึงเชื่อมั่นและเห็นว่าโครงการนี้จะมีประโยชน์กับจังหวัดอำนาจเจริญและยโสธร”
ที่ผ่านมาการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลโครงการมิตรอำนาจเจริญและโรงไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อยที่เป็นธุรกิจต่อเนื่องนั้น มีทั้งกลุ่มคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะตามมาเมื่อมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาก่อสร้างในพื้นที่ ซึ่งในเรื่องนี้ โรงงานน้ำตาลมิตรอำนาจเจริญเองก็ได้มีการชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งโรงงานน้ำตาลว่าเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงสื่อสารชี้แจง ทำความเข้าใจกับชุมชนด้วยข้อมูลที่ถูกต้องครอบคลุมทุกด้าน ตั้งแต่โอกาสทางเศรษฐกิจของชุมชนและรายได้ของครัวเรือนที่จะเพิ่มมากขึ้น การจ้างงานในท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้น การพัฒนาของชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนผลกระทบที่มีมาตรฐานการป้องกันร่วมกัน ได้แก่ การจัดการระบบน้ำทิ้ง ระบบการดูแลและควบคุมฝุ่น ระบบการจราจร โดยมีการชี้แจงข้อมูลดังกล่าวผ่านการประชุมรับฟังความคิดเห็นทั้ง 2 ครั้ง และได้เรียนเชิญตัวแทนชาวบ้านที่อยู่อาศัยภายในรัศมี 5 กิโลเมตร จากที่ตั้งโรงงาน ทั้งหมดจำนวน 34 หมู่บ้าน จากจังหวัดอำนาจเจริญและยโสธรเข้าร่วมงาน
แต่เดิมในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญและยโสธรมีการทำไร่อ้อยอยู่แล้วกว่า 80,000 ไร่ หรือคิดเป็นผลผลิตอ้อยประมาณ 800,000 ตัน ทว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวอ้อย เกษตรกรชาวไร่อ้อยในสองจังหวัดนี้ยังคงต้องส่งอ้อยไปยังโรงงานน้ำตาลในจังหวัดข้างเคียง เช่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ซึ่งทำให้ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงจนชาวไร่บางรายก็ไม่คุ้มทุน หรือไม่ก็ขาดทุน การก่อตั้งโครงการโรงงานน้ำตาลในพื้นที่เช่นนี้จึงช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนค่าขนส่งลงได้มาก
จนเมื่อปีพ.ศ. 2558 ที่โครงการประชารัฐแปลงใหญ่อ้อย จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นความร่วมมือของหลายภาคส่วนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และมีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยได้เริ่มแนะนำส่งเสริมการปลูกอ้อยให้เกษตรกรในจังหวัดอำนาจเจริญและยโสธร เนื่องจากพบว่ามีพื้นที่กว่า 50% ที่เหมาะสมกับการปลูกอ้อย และด้วยสภาพภูมิอากาศและดินในภาคอีสานที่จะทำให้อ้อยมีความหวานสูงกว่าภูมิภาคอื่น ทำให้ชาวไร่ได้ราคาขายที่สูงกว่าภาคอื่นด้วย อ้อยจึงเป็นพืชทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกร ปัจจุบัน พื้นที่ส่งเสริมการปลูกอ้อยในโครงการประชารัฐ แปลงใหญ่อ้อย จังหวัดอำนาจเจริญ มีจำนวนพื้นที่ 139,053 ไร่ มีเกษตรกรทั้งหมด 7,219 ราย เป็นปริมาณอ้อยทั้งสิ้น 1,750,000 ตัน สร้างรายได้มากกว่า 1,750 ล้านบาท เฉลี่ยรายได้จากการทำไร่อ้อยต่อครัวเรือน 86,730 บาทต่อปี หลังหักต้นทุนค่าใช้จ่าย
Click Donate Support Web