- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Friday, 19 September 2014 23:11
- Hits: 3623
นักวิชาการชี้ 3 อุตสาหกรรมชนิดเสี่ยงผลกระทบหลังเปิดเสรี RCEP
แนวหน้า : นายอาชนัน เกาะไพบูลย์ คณะวิจัยจากศูนย์บริการวิชาการเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยภายในการสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษา'โครงการศึกษาเตรียมความพร้อมของภาคอุตสาหกรรมไทยสำหรับการจัดทำหุ้นส่วนเศรษฐกิจในภูมิภาค (RCEP)'ว่า คณะวิจัยได้ศึกษาและวิเคราะห์อุตสาหกรรมรายสาขาจำนวน 10 อุตสาหกรรม พบว่ามี 3 อุตสาหกรรมได้แก่ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเหล็กเป็นกลุ่มที่ผลกระทบจะขึ้นอยู่กับท่าทีการเจรจา ขณะที่อีก 7 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป สิ่งทอและเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ อัญมณี และปิโตรเคมี เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบด้านบวก
ทั้งนี้ ในส่วนของยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นสาขาที่ผู้ประกอบการกังวลกับการเปิดเสรีโดยเฉพาะกับประเทศจีน เพราะจีนเป็นทั้งคู่แข่งทางการค้าและตลาดที่มีศักยภาพ ขณะที่จีนเองก็กังวลที่จะเปิดเสรีกับไทยเช่นเดียวกัน จากการศึกษาพบว่าหากมีการเปิดเสรีในกรอบ RCEP ใน 2 สาขาการผลิตนี้จริง การค้าระหว่างไทยกับจีนจะเกิดขึ้น 2 ทิศทาง คือไทยส่งออกสินค้าไปจีนเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันจีนก็จะส่งสินค้าเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทยเพิ่มขึ้น
นายอาชนัน กล่าวว่า การเปิดเสรีน่าจะมีส่วนกระตุ้นยุทธศาสตร์การลงทุนของบริษัทข้ามชาติจากประเทศญี่ปุ่นใน 2 อุตสาหกรรมดังกล่าว ให้ลดการลงทุนในประเทศจีน และออกมาลงทุนในประเทศอื่น เพื่อส่งสินค้าเข้าไปขายในประเทศจีนแทน เพื่อลดปัญหาการเผชิญแรงกดดันอย่างรุนแรงจากท้องถิ่น
ด้านอุตสาหกรรมเหล็ก ความท้าทายที่สำคัญคือปัญหาการทุ่มตลาดอันเนื่องจากปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินที่จะให้ผลรุนแรงกว่าการเปิดเสรี เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาจีนได้เร่งขยายการผลิตอย่างมาก ในขณะที่เศรษฐกิจโลกไม่ได้เติบโตสูง ความต้องการใช้จึงไม่ได้เพิ่มมากขึ้นตามที่คาดการณ์ จึงทำให้มีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่
รวมทั้งมีแรงกดดันด้านต้นทุนการผลิตและราคาเหล็กปลายน้ำ โดยราคาเหล็กต้นน้ำ ซึ่งเป็นต้นทุนจะมีราคาสูงกว่าราคาเหล็กปลายน้ำมาก ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยการผลิตเหล็กไทยแพงกว่าต้นทุนเฉลี่ยในต่างชาติประมาณ 2 เท่า แต่ที่ผ่านมาได้มีการเปิดเสรีอุตสาหกรรมเหล็กผ่านกรอบเอฟทีเออาเซียน-จีน ไปแล้ว ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ดังนั้นผลจากการเปิดตลาดในกรอบ RCEP คงจะมีไม่มาก
"การเปิดเสรีในกรอบ RCEP ผลที่ได้รับจะไม่เหมือนการเปิดเสรีในกรอบอื่นๆ เนื่องจากเป็นเอฟทีเอที่ซ้อนเอฟทีเอเดิมอยู่แล้ว ดังนั้นประโยชน์จะเกิดขึ้นต่อเมื่อสาขาที่ยังไม่มีการเปิดเสรีในกรอบก่อนหน้า ได้มาเปิดเสรีในกรอบนี้ รวมทั้ง RCEP จะทำให้เกิดกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าใหม่ และช่วยอำนวยความสะดวกในด้านการตลาด ผลที่ได้จึงจะไม่ใช่การทำให้การค้าเติบโต แต่จะช่วยสร้างบรรยากาศการค้าที่ดีขึ้น"นายอาชนัน กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงของการเปิดเสรี RCEP ได้แก่ ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มสมาชิก รวมทั้งความคืบหน้าในการเจรจาการเปิดเสรี RCEP เนื่องจากก่อนหน้านี้ประเทศจีนได้เร่งให้มีการเปิดกรอบ RCEP เพราะจีนกลัวจะตกขบวน หากมีความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) แต่เมื่อทีพีพีเริ่มแผ่วลง จึงไม่มีบรรยากาศที่จะเร่งการเจรจา RCEP