- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Tuesday, 11 September 2018 15:09
- Hits: 2026
กพร.ร่วมกับ เอสซีจี ลงนามความร่วมมือวิจัย และพัฒนานวัตกรรมวัตถุดิบเพื่ออุตสาหกรรม เพิ่มมูลค่าทรัพยากรแร่ให้สูงขึ้น
กรมอุตสาหกรรมกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม และบริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด ร่วมลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมวัตถุดิบเพื่ออุตสาหกรรม มุ่งต่อยอดเพิ่มมูลค่าทรัพยากรแร่ให้สูงขึ้น โดยมีนายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นสักขีพยาน
นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมวัตถุดิบเพื่ออุตสาหกรรม ระหว่างกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ โดยนายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กับบริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด โดยนายศาณิต เกษสุวรรณ Total Integrated Solution and Service Director เพื่อสนับสนุนความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมวัตถุดิบเพื่ออุตสาหกรรม ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิล กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เปิดเผยหลังพิธีลงนามว่า พิธีลงนามความร่วมมือในวันนี้เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดการขับเคลื่อน “ประเทศไทย 4.0” ที่มุ่งหวังผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจากภาคการผลิตที่เน้นการใช้แรงงานสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนบนฐานของความรู้จากนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่ม และนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมที่เน้นการบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จึงส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหมืองแร่ได้นำนวัตกรรมมาใช้ในการปรับปรุงพัฒนากระบวนการผลิต เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ มุ่งเน้นการพัฒนาแหล่งแร่ของบริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด ที่มีอยู่ให้มีมูลค่าสูงขึ้น และสามารถตอบสนองต่อความต้องการด้านวัตถุดิบของอุตสาหกรรมศักยภาพของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยในระยะที่ 1 จะเป็นการศึกษาพัฒนาคุณภาพกลุ่มแร่หินปูนให้มีมูลค่าสูงขึ้น เพื่อให้สามารถนำไปเป็นวัตถุดิบคุณภาพสูงในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยา และอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์
“ความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากแร่หินปูนแล้ว จะมีการพัฒนาแร่อีก 3 ชนิด ได้แก่ แร่ยิปซัม จะพัฒนาเพื่อนำไปในใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหาร แร่บอลเคลย์ จะพัฒนาเป็นวัตถุดิบคุณภาพสูงสำหรับอุตสาหกรรมผลิตโพลิเมอร์และเคมีภัณฑ์ และแร่ไดอะตอมไมต์ จะพัฒนาเป็นวัตถุดิบคุณภาพสูงสำหรับอุตสาหกรรมเซรามิก ทั้งนี้ การนำนวัตกรรมมาใช้ในการเพิ่มมูลค่าแร่ จะก่อให้เกิดประโยชน์ด้านความมั่นคงทางวัตถุดิบของประเทศอีกทางหนึ่ง”นายวิษณุ กล่าวเพิ่มเติม
นายศาณิต เกษสุวรรณ Total Integrated Solution and Service Director บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด กล่าวว่า เอสซีจี โดย บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด เป็นผู้ประกอบการเหมืองแร่ ผลิตแร่หินปูนและวัตถุดิบอื่นๆ สำหรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ ได้เล็งเห็นว่า ทรัพยากรแร่บางส่วนที่บริษัทสามารถผลิตได้ มีคุณภาพและคุณสมบัติเพียงพอที่จะนำไปพัฒนาต่อยอด สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ นอกเหนือจากการผลิตปูนซีเมนต์ได้ เช่น อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมอาหารและยา เอสซีจีจึงมีความตั้งใจที่จะศึกษาและพัฒนาทรัพยากรแร่อย่างจริงจรัง เพื่อใช้ประโยชน์ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรแร่อย่างสูงสุด จึงได้ร่วมมือกับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม วิจัยและพัฒนานวัตกรรมวัตถุดิบเพื่ออุตสาหกรรม
โดยแผนระยะแรกจะร่วมกันพัฒนาแร่หินปูนให้มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมอาหารและยา รวมถึงพัฒนาศักยภาพบุคลากรของทั้งสองหน่วยงานให้มีความรู้ และความเชี่ยวชาญ เพื่อให้สามารถพัฒนาและเพิ่มมูลค่าของทรัพยากรแร่ให้สูงสุด เชื่อมั่นว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาทรัพยากรแร่อย่างยั่งยืน รวมถึงช่วยยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างมั่นคงต่อไป
Click Donate Support Web