- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Tuesday, 11 September 2018 12:16
- Hits: 3485
สถาบันอาหาร แนะ SMEs ลุยอาหารออร์แกนิก รับกระแสตลาดโลก
สถาบันอาหาร ชี้ช่อง SMEs รุกตลาดอาหารออร์แกนิกจริงจัง แนวโน้มกระแสตอบรับจากผู้บริโภคทั่วโลกดีที่สุดในบรรดากลุ่มอาหารอนาคตหรือ Future Food เผยเติบโตสูงสุดเฉลี่ยร้อยละ 13 ต่อปี ทั่วโลกมีผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายมากสุดถึง 23,590 รายการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยุโรปเป็นตลาดใหญ่ที่สุดครองสัดส่วนร้อยละ 65 รองลงมาคือ อเมริกาเหนือร้อยละ 16 ส่วนจีนและญี่ปุ่นตลาดมีกำลังซื้อสูงเช่นกัน แนะสินค้าออร์แกนิกไทยที่มีโอกาสขยายการส่งออก ได้แก่ ข้าวสารบรรจุถุง ผลิตภัณฑ์นม เครื่องดื่มธัญพืช เครื่องปรุงรส และน้ำมันมะพร้าว เป็นต้น
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผยข้อมูล แนวโน้มตลาดอาหารอนาคต หรือ Future Food ในตลาดโลก พบว่า อาหารออร์แกนิกหรือเกษตรอินทรีย์ เป็นตลาดที่มีศักยภาพมากที่สุดเนื่องจากมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วและมีจำนวนผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ออกสู่ตลาดมากที่สุดเมื่อเทียบกับอาหารอนาคตอีก 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเสริมสุขภาพ กลุ่มอาหารทางการแพทย์ และกลุ่มอาหารที่ผลิตขึ้นมาใหม่ทางนวัตกรรม โดยในปี 2560 ทั่วโลกมีผลิตภัณฑ์อาหารออร์แกนิกออกวางจำหน่ายมากถึง 23,590 รายการ เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 13 ต่อปีในช่วง 5 ปีหลัง เพราะตรงกับความต้องการของผู้บริโภคทุกกลุ่มที่ไม่อยากเสี่ยงกับสารเคมีตกค้างในวัตถุดิบและส่วนประกอบอาหาร ขณะที่กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเสริมสุขภาพ เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่รองลงมาจากอาหารเกษตรอินทรีย์ โดยมีผลิตภัณฑ์ออกวางจำหน่ายจำนวน 17,396 รายการ เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 4.3 ในช่วง 5 ปีหลัง ขณะที่อาหารทางการแพทย์ มีผลิตภัณฑ์ใหม่น้อยว่า 1,000 รายการ ส่วนกลุ่มอาหารที่ผลิตขึ้นมาใหม่ทางนวัตกรรม มีน้อยกว่า 500 รายการ
โดยตลาดอาหารออร์แกนิกส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป(65%) รองลงมาได้แก่ อเมริกาเหนือ(16%) เอเชียแปซิฟิก(13%) ละตินอเมริกา(4%) แอฟริกาและตะวันออกกลาง(2%) หลายประเทศตลาดมีแนวโน้มเติบโตดี โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนที่มีกำลังซื้อสูง และให้ความสำคัญกับสุขภาพ และความปลอดภัย จนเกิดกระแสการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพขยายไปในวงกว้าง พบว่าในปี 2560 ตลาดอาหารออร์แกนิกในจีนมีมูลค่ารวม 19,359 ล้านหยวน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาขยายตัวเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 25.7 ต่อปี นมและผลิตภัณฑ์นม เป็นสินค้าที่มีมูลค่าการขายมากที่สุดราว 14,000 ล้านหยวน ซึ่งล้วนนำเข้าจากต่างประเทศ โดยสินค้าอาหารออร์แกนิกที่ไทยมีโอกาสขยายสู่ตลาดจีน อาทิ ข้าวสารบรรจุถุง เครื่องดื่มธัญพืช เช่น น้ำนมข้าว นมถั่วเหลือง น้ำฟักทอง น้ำงาดำ เครื่องปรุงรส เช่น ซอสถั่วเหลือง และน้ำมันมะพร้าว
นายยงวุฒิ กล่าวต่อว่า ขณะที่การจำหน่ายอาหารออร์แกนิกในญี่ปุ่น ในปี 2560 มีมูลค่ารวม 42.5 พันล้านเยน ขนมปังออร์แกนิกมีมูลค่าสูงสุด 16.2 พันล้านเยน หรือราวร้อยละ 38 ของมูลค่าตลาดในประเทศ รองลงมาคือผลิตภัณฑ์ซอสและเครื่องปรุงรส ข้าวและอาหารเส้น ผลิตภัณฑ์นม และน้ำมันสำหรับประกอบอาหารสินค้าอาหารออร์แกนิกที่ไทยมีโอกาสขยายสู่ตลาดญี่ปุ่น อาทิ น้ำมันมะพร้าว ข้าว ซอสและเครื่องปรุงรส เช่น น้ำสลัดงาคั่ว น้ำสลัดซี่อิ๊วญี่ปุ่น เต้าเจี้ยว เครื่องแกง เครื่องเทศ เป็นต้น
“สำหรับ อุตสาหกรรมอาหารของไทย ในช่วงแรกควรมุ่งเน้นการพัฒนา 2 กลุ่มหลักก่อน ได้แก่ กลุ่มอาหารออร์แกนิก และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเสริมสุขภาพ โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตสินค้าอาหารออร์แกนิกเพื่อวางจำหน่ายในท้องตลาดได้สูงถึง 565 รายการ เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 46 ต่อปี อาทิ ข้าว ชาพร้อมดื่ม เครื่องดื่มสมุนไพร โยเกิร์ต น้ำผลไม้ นมพร้อมดื่ม และธัญพืชอบกรอบ เป็นต้น เนื่องจากอาหารออร์แกนิกมีความเป็นนวัตกรรมที่ระบบการจัดการกระบวนการผลิตระดับฟาร์มที่ไม่ใช้สารเคมีใดๆ ดังนั้น ไม่เฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น แต่ผู้ผลิตในระดับเอสเอ็มอี ก็สามารถพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจในกลุ่มอาหารออร์แกนิกได้เช่นกัน ทั้งนี้ อาจต้องประเมินอุปสรรคเรื่องวัตถุดิบไม่เพียงพอ และการขอรับการรับรองผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้เวลาดำเนินการ”
Click Donate Support Web