- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Sunday, 05 August 2018 15:09
- Hits: 2063
ยุตั้งรง.ผลิตรถไฟในไทยสศอ.ชี้หนุนลงทุน-ลดนำเข้า
แนวหน้า : นายณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และรักษาราชการ แทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ. จะนำผลศึกษา "โครงการแนวทาง พัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในประเทศไทย" เสนอให้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงาน คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม พิจารณา ในเร็วๆ นี้
สำหรับ ผลศึกษาดังกล่าว สศอ. ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษา พบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนขั้นต่ำ 339 ตู้ ขณะที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีความต้องการหัวรถจักร 314 ตู้ รถขนส่งสินค้า 3,460 ตู้ และรถไฟฟ้าความเร็วสูง 1 สาย 42 ตู้ แต่ปรากฏว่าประเทศไทยยังไม่มีนโยบายส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมระบบรางรองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางแต่อย่างใด
ขณะที่ รัฐบาลมีแผนปฏิบัติการลงทุนด้านคมนาคมขนส่ง พ.ศ.2561 วงเงินลงทุนระบบรางสูงกว่า 1.5 ล้านล้านบาท แต่ ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันไทยใช้วิธีการนำเข้าขบวนรถไฟแบบสำเร็จรูปจากต่างประเทศทั้งสิ้น ไม่เคยมีการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนผลิตรถไฟฟ้าหรือหัวรถจักรในประเทศ
"ดังนั้น รัฐควรมีการกำหนดเงื่อนไข (ทีโออาร์)การจัดซื้อแบบมีเงื่อนไข เพื่อให้มีการลงทุน การจัดซื้อในประเทศ และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ช่วยให้ไทยลดการสูญเสียเงินตราการนำเข้าขบวนรถและจ้างผู้เชี่ยวชาญ ยกระดับขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีและพัฒนาบุคลากรที่มีความชำนาญระบบรางอย่างยั่งยืน"นายณัฐพล กล่าว
ทั้งนี้ หากมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตและซ่อมแซมรถไฟในประเทศ โดยกำหนดให้มีการประกอบขั้นสุดท้ายในประเทศจะก่อให้เกิดการลงทุนขั้นต่ำกว่า 500 ล้านบาท สามารถซื้อรถไฟได้ในราคาที่ลดลง 17,000 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนรถไฟ 6,000 ตู้ อีกทั้งค่าจ้างแรงงานกว่า 2,000 ล้านบาท จะกลับเข้าสู่ประเทศ ก่อให้เกิดการจ้างงานที่ใช้ความรู้ระดับสูงอย่างต่อเนื่อง
สศอ. เร่งผลักดัน-ยกระดับการผลิตด้วยเครื่องจักรกลอัตโนมัติในภาคอุตสาหกรรมแก่พื้นที่อีสานใต้
นายณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า การยกระดับศักยภาพการผลิตของโรงงานในพื้นที่นั้น กระทรวงอุตสาหกรรม โดย Center of Robotics Excellent (CoRE) และ Industrial Transformation Center (ITC) จะเข้าไปให้ความรู้ในการใช้เครื่องจักรอัตโนมัติกับสถานประกอบการ และกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยน รวมทั้งจัดทำต้นแบบที่เหมาะสม เพื่อให้อุตสาหกรรมในพื้นที่กว่า 2,200 ราย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร แปรรูป อาหาร และ Bio-industry สามารถนำไปขยายผล
รวมทั้งสร้างระบบจำลองการผลิตแบบอัตโนมัติไปวางในพื้นที่ Science Park และ ITC เพื่อเป็นต้นแบบการเรียนรู้ ตลอดจนการเข้าไปให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับแต่ละสถานประกอบการ โดย CoRE ร่วมกับมหาวิทยาลัยอุบลราชนี จะเป็นหน่วยงานหลักด้านวิชาการ โดยความร่วมมือกับศูนย์ ICT และภาคเอกชนในพื้นที่
นายณัฐพล กล่าวว่า ในส่วนการยกระดับผู้ผลิตเครื่องจักรและระบบอัตโนมัตินั้น CoRE จะเข้าไปเสริมเทคโนโลยีด้านการออกแบบเครื่องจักร และระบบโปรแกรมควบคุมระบบอัตโนมัติที่ทันสมัยให้กับผู้ผลิตเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ และเพิ่มขีดความสามารถของช่างเทคนิคและวิศวกรในพื้นที่ รวมทั้ง เร่งพัฒนา System Integrators (SI) รองรับงานประกอบติดตั้งเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติที่คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นในอนาคต ในขณะที่ สมอ. จะช่วยยกระดับมาตรฐานของเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติเข้าสู่สากล
ในขณะที่ การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัตินั้น จากการลงพื้นที่อีสานตอนล่าง 2 (อุบลราชธานี, ยโสธร, อำนาจเจริญ และศรีสะเกษ พบว่าจังหวัดอุบลราชธานี มีความพร้อมในการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้และเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาบุคลากร (HRD Hub) ด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยมีโครงสร้างพื้นฐานของ Science Park รองรับ และมีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งสนับสนุนด้านวิชาการและการผลิตบุคลากร รวมทั้งมีผู้ผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนงานฝึกปฏิบัติได้ โดยผู้ผลิตหุ่นยนต์ พร้อมจะสนับสนุนหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อใช้ในการเรียนการสอนและการฝึกอบรม และนำหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติดังกล่าวไปสาธิตในศูนย์ CoRE และ ITC ด้วย
อินโฟเควสท์
ปลื้มเอ็มพีไอ พุ่งต่อเนื่อง จับตาสงครามการค้า ธปท.ฟุ้งเศรษฐกิจแรง
ไทยโพสต์ : พระราม 6 * สศอ.ปลื้มเอ็มพีไอ มิ.ย.โตต่อเนื่องเดือนที่ 14 จับตาสงครามการค้า-น้ำท่วมกระทบ แต่ยังคงประมาณการเอ็มพีไอเดิมไว้ที่ 2.5-3% ธปท.ฟุ้งเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ยังแรงไม่หยุด
นายณัฐพล รังสิตพล เลขา ธิการสำนักงานมาตรฐานผลิต ภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และรักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือน มิ.ย. 2561 เพิ่มขึ้น 4.74% อยู่ที่ระดับ 115.90 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ระดับ 110.66 ซึ่งขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเดือนที่ 14 โดยเป็นผลจากการส่งออกไปสหรัฐมีมูลค่า 2,487 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังสูงสุดในรอบ 40 เดือน และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมสูงสุดในรอบ 42 เดือน อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 69.04%
"สศอ.จะยังไม่มีการปรับประมาณการใหม่ แม้ครึ่งปีแรกดัชนีเอ็มพีไอจะขยายตัว 3.9% แล้ว แต่ยังคงประมาณการเอ็มพีไอปี 2561 ทั้งปีอยู่ที่ 2.5-3% และผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ภาคอุตสาห กรรมอยู่ที่ 2-3% เพราะต้องขอติดตามปัจจัยบวกและลบในเดือน ก.ค.ต่อไป เนื่องจากจะเป็นช่วงที่เริ่มเทียบกับฐานของปีก่อนที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ แม้เบื้องต้นประเมินว่าในระยะสั้นไม่น่าส่งผลกระทบต่อสถานประกอบการ แต่ยอมรับว่าอาจส่งผลกระทบ ต่อพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งยังต้องติดตาม อย่างต่อเนื่อง" นายณัฐพลกล่าว
ขณะที่ในช่วงที่เหลือของปีนี้ต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ว่าผลกระทบจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นกว่าปัจจุบันที่มีการตอบโต้ทางการค้าอยู่ในสินค้า 128 รายการหรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นไทยยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่กลับมีสัญญาณที่ดีต่อสินค้าบางรายการที่เริ่มมีนักลงทุนจีนเข้ามา สอบถามเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์การลงทุนในไทยมากขึ้น แต่ยอมรับว่าหากมีการประกาศมาตรการตอบโต้ทางการค้าในสินค้าทุกรายการ จะส่งผลกระทบลุกลามออกไปเป็นวงกว้างอย่างแน่นอน
นางสาวพรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการสำนักวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่ง ประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจเดือน มิ.ย. ปี 2561 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า จากอุปสงค์ในประเทศและต่างประ เทศ โดยมูลค่าการส่งออกขยายตัว 10% เป็นการขยายตัวในทุกหมวดสินค้า ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวขยายตัว 11.6% จากระยะเดียวกันของปีก่อน ตามการขยายตัวของนักท่องเที่ยวจีนและฮ่องกง ส่วนการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมและลูกจ้างนอกภาคเกษตรกรรม ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวสอดคล้องกัน
นอกจากนี้ การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามเครื่องชี้การลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ สะท้อนจากการนำเข้าสินค้าทุนของภาคเอกชน โดย มูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัว 12.9% จากระยะเดียวกันของปีก่อน เป็นการขยายตัวในหลายหมวดสินค้า ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวชะลอลงจากปีก่อน ทั้งรายจ่ายลงทุนและรายจ่ายประจำ โดยรายจ่ายลง ทุนขยายตัวตามการเบิกจ่ายของกรมทางหลวงชนบท กรมชลประทาน และกรมโยธาธิการและผังเมือง ส่วนรายจ่ายประจำขยายตัวเล็กน้อยเพื่อซื้อสินค้าและบริการ.
สศอ.เผยดัชนี MPI มิ.ย.61 อยู่ที่ 115.90 โต 4.74% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI)มิ.ย.61 อยู่ที่ 115.90 โต 4.74% จากช่วงเดียวกันปีก่อน บวกเป็นเดือนที่ 14 ติดต่อกัน รับยอดส่งออกไปสหรัฐฯ ทำนิวไฮ 2.48 พันล้านดอลลาร์ ชี้ อิเล็กทรอนิกส์,ยาง ,สิ่งทอ,เหล็ก และอาหารกระป๋อง เป็นแรงหนุนสำคัญ
นายณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมิ.ย.2561 อยู่ที่ระดับ 115.90 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.74 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ระดับ 110.66 ขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเดือนที่ 14 เป็นผลจากการส่งออกไปสหรัฐอเมริกามีมูลค่า 2,487 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 69.04
นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังสูงสุดในรอบ 40 เดือน และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมสูงสุดในรอบ 42 เดือน โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกในเดือนนี้ ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์ เครื่องปรับอากาศ ชิ้นส่วนเม็ดพลาสติกและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิสก์ โดยเฉพาะน้ำตาลทรายที่มีการผลิตขยายตัวสูงถึงร้อยละ 78.9 ต่อเนื่อง ทำให้ไตรมาส 2/2561 MPI ขยายตัวร้อยละ 3.6 และ 6 เดือนแรกของปี 2561 MPI ขยายตัวร้อยละ 3.9
“เดือนนี้ยังไม่มีการปรับประมาณการ เพราะเดือนก.ค.2561 นี้เป็นต้นไปจะเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ในฐานสูง จึงขอติดตามดูตัวเลขเดือนหน้าให้มีความชัดเจนก่อนพิจารณาทบทวนในเดือนถัดไป ส่วนปัญหาน้ำท่วมขณะนี้ไม่น่าส่งผลกระทบโรงงานหรือสถานประกอบการ แต่ยอมรับว่าอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกผลผลิตทางการเกษตรปลูกที่เป็นวัตถุดิบ 1 ใน 3 ในกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม แต่หากปัญหาขยายออกไปเป็นวงกว้างและยาวนานขึ้นก็ต้องประเมินอีกครั้ง”
โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกต่อดัชนี ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวร้อยละ 6.0 ตามการขยายตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก โดยเฉพาะ IC ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากใช้เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีสูง รวมถึงนำไปใช้เป็นชิ้นส่วน Smart phone, Tablet ส่วน HDD มีการพัฒนาให้มีความจุมากขึ้นเพื่อใช้ใน Cloud Storage และในตลาดมีการพัฒนา Semiconductor มากขึ้น เพื่อใช้เป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์สมาร์ทต่าง ๆ เช่น นาฬิกา จอ LED และโฟโต้เซนเซอร์ที่ใช้ในกล้องถ่ายรูป
อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตยางรถยนต์ในประเทศขยายตัวร้อยละ 1.33 สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจมีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.45 ตามแนวโน้มความต้องการใช้ที่สูงขึ้น
อุตสาหกรรมสิ่งทอ การผลิตผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ ขยายตัว ร้อยละ 5.83 ในกลุ่มเส้นใยสังเคราะห์ และเส้นใยสมบัติพิเศษต่าง ๆ เช่น เส้นใยคอลาเจน เส้นใยอาระมิด เพื่อรองรับการส่งออกที่ขยายตัว
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า มีอัตราการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 และเมื่อพิจารณาตามผลิตภัณฑ์หลัก คือ เหล็กทรงแบนและเหล็กทรงยาว พบว่า เหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.0 เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 53.2 จากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นของ
อุตสาหกรรมอาหารทะเลกระป๋อง ส่วนเหล็ก ทรงยาว เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 โดยเหล็กเส้นกลม เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 ซึ่งเหล็กทรงยาวเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ
อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ที่มีมาตรกีดกันสินค้า 128 รายการ ซึ่งเบื้องต้นมองว่ายังไม่มีใครได้ใครเสีย ขณะที่ไทยอาจได้อานิสงส์ในสินค้าค้ารายการที่เริ่มมีนักลงทุนจีนติดต่อสอบถามเงื่อนไขและกฎเกณฑ์การเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อกระจายความเสี่ยงทางการค้า ส่วนที่กีดกัน 128 รายการ แต่หากมีการกีดกันการค้าในสินค้าทุกรายการยอมรับว่าผลกระทบจะลุกลามออกไปเป็นวงกว้างแน่นอน และต้องติดตามความไม่แน่นอนของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในระยะสั้น
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย