- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Saturday, 28 July 2018 22:58
- Hits: 7832
กนอ.ผนึกเอกชนปักหมุดนิคมฯ บ่อทอง 33 เชื่อม EEC–กัมพูชา คาดมูลค่าลงทุนแตะ 5 หมื่นลบ.
นางสุวัฒนา กมลวัทนนิศา รองผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย (สายงานยุทธศาสตร์และพัฒนา) หรือ กนอ. เปิดเผยว่า กนอ. ได้เตรียมจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในลักษณะร่วมดำเนินงานกับบริษัท บ่อทองอินดัสทรี เทคโนโลยี จำกัด ภายใต้ชื่อ นิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง 33 ในอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ด้วยงบประมาณการลงทุนราว 1,710 ล้านบาท
นิคมฯดังกล่าวจะถูกพัฒนาให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับอุตสาหกรรม S-Curve ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรม เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ และอุตสาหกรรมเบา เช่น เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น และมีการออกแบบนิคมอุตสาหกรรมภายใต้แนวคิด นิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Estate) ที่มีการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล อาทิ การจัดให้มีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่แนวกันชนเชิงนิเวศ (Eco-Belt) รอบพื้นที่โครงการฯ การออกแบบระบบ Reclaimed Water System เพื่อนำน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับมาปรับปรุงคุณภาพน้ำและนำกลับไปใช้ในกระบวนการผลิตน้ำประปาในการผลิตอีกครั้ง
ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการนำเสนอข้อมูลโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ยังมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมรับคนงานในพื้นที่เข้าทำงาน เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นมีงานทำและมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจชุมชน และเศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น
สำหรับ ทำเลที่ตั้งและลักษณะพื้นที่โครงการนิคมฯบ่อทอง 33 ครอบคลุมพื้นที่จำนวน 1,746 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ที่ก่อให้เกิดรายได้ 1,214 ไร่ พื้นที่ระบบสาธารณูปโภค 341 ไร่ พื้นที่สีเขียวและแนวกันชน 191 ไร่ โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 ประมาณ 649 ไร่ ระยะที่ 2 ประมาณ 534 ไร่ และ ระยะที่ 3 ประมาณ 565 ไร่ สามารถเชื่อมโยงพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว และพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียนเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมและกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) พร้อมเป็นฐานการผลิตและการดึงดูดการลงทุน
นอกจากนี้ นิคมฯ ดังกล่าว ยังอยู่ใกล้ศูนย์กลางคมนาคมหลักของประเทศ พร้อมทั้งยังมีโครงสร้าง พื้นฐานต่างๆ ที่เอื้อต่อการประกอบอุตสาหกรรม ได้แก่ ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ห่างจากชายแดนไทย-กัมพูชา (ด่านปอยเปต) ประมาณ 87 กิโลเมตรมีระบบถนนที่สามารถเชื่อมโยงไปยังนิคมฯอื่นๆ ได้อย่างสะดวก เช่น นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค เขตอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี และสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ นอกจากนี้ พื้นที่โครงการเป็นพื้นที่ราบ ไม่มีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมถึง และพื้นที่มีความลาดเอียงสามารถระบายน้ำได้ดี
นางสุวัฒนา กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง 33 จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อจังหวัดปราจีนบุรี ในการควบคุมดูแลการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคล้องกับนโยบายของจังหวัดตามกฎหมายผังเมือง เพื่อไม่ให้เกิดการกระจายตัวของภาคอุตสาหกรรมและจะมีการกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงานให้มีการเติบโตในพื้นที่ที่ได้จัดเตรียมไว้ และสามารถดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในการเพิ่มพื้นที่อุตสาหกรรมเพื่อรองรับการลงทุนด้านอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ คาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 49,456 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานไม่น้อยกว่า 11,240 คน และคาดว่าสำหรับในการพัฒนาพื้นที่ในเฟสแรกจะแล้วเสร็จภายใน 2 ปี และพร้อมรองรับการลงทุนต่อไป
นางสุวัฒนา กล่าวว่า กนอ. ได้รับมอบหมายจากภาครัฐบาลให้จัดหาพื้นที่รองรับการพัฒนาโครงการในพื้นที่ EEC ทั้งหมด 150,000 ไร่ ในปี 64 โดยปัจจุบันสามารถจัดหาพื้นที่ได้แล้ว 124,606 ไร่ จำนวน 33 โครงการ ซึ่งยังไม่รวมการพัฒนาพื้นที่เขตอุตสาหกรรมและสวนอุตสาหกรรม ซึ่งคาดว่าจะสามารถหาพื้นที่ได้พร้อม และอาจจะเกินเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากปัจจุบันมีผู้สนใจจำนวนมากที่จะเข้าติดต่อและต้องการพัฒนาพื้นที่ของตนเองเป็นนิคมอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ ยังมีเจ้าของที่ดินรายย่อยหลายรายรวบรวมพื้นที่ และสนใจที่จะพัฒนาพื้นที่ให้เป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม ราว 20 โครงการ พื้นที่ราว 35,782 ไร่ แต่พื้นที่อยู่ในเขตพื้นที่สีเขียวซึ่งยังต้องมีการพิจารณาจากกรมโยธาธิการและผังเมืองก่อนเพื่อที่จะหาทางออกในเรื่องนี้ต่อไป โดยพื้นที่ดังกล่าวแบ่งเป็น 24,718 ไร่ อยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา และ จังหวัดชลบุรี 6,606 ไร่ และจังหวัดระยอง 4,458 ไร่
สำหรับ อุตสาหกรรมที่ปัจจุบันมีความสนใจเข้ามาลงทุนคือ คลังสินค้า ยาง พลาสติก ยานยนต์ เครื่องจักร รวมไปถึงเหล็ก และโลหะ
"เราจะออกไปต่างประเทศเพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อที่จะให้ผู้ที่ต้องการลงทุนได้รับรู้ว่ามีนิคมอุตสาหกรรมใหม่ๆเพื่อรองรับการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่ หรือรายเล็กๆเงินลงทุนไม่มาก เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น"นางสุวัฒนา กล่าว
อินโฟเควสท์