- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Thursday, 11 September 2014 23:49
- Hits: 3114
สสว.ลุยจัดเอสเอ็มอีไทยแลนด์
บ้านเมือง : นายวีระยุทธ เชื้อไทย รองผู้อำนวยการสำนักบริการผู้ประกอบการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ภาพรวมปัจจุบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ไทย มีจำนวนทั้งสิ้น 2.76 ล้านราย คิดเป็น 97.2% ของวิสาหกิจทั้งหมด ก่อให้เกิดการจ้างงานจำนวน 11.4 คิดเป็น 81.0% สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมกว่า 4.45 ล้านล้านบาท คิดเป็น 37.4% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ
ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 57 (ม.ค.-มิ.ย.) SMEs มีการส่งออกสินค้า มูลค่า 980,419.86 ล้านบาท ขยายตัวขึ้นจากช่วงเดียวกัน ปีก่อน คิดเป็น 14.77% ขณะที่การนำเข้าสินค้าของ SMEs มีมูลค่ารวม 1,074,005.84 ล้านบาท หดตัวลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน คิดเป็น 13.2% สะท้อนให้เห็นว่า SMEs มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ยกระดับให้การส่งเสริม SMEs เป็นวาระแห่งชาติ
นายวินัย วิโรจน์จริยากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพนนินซูลาร์ แอสโซซิเอทส์ จำกัด กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs ไทย ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะต่อสู้ตามลำพังในขณะที่เทคโนโลยีทำให้โลกของการค้านั้นไร้พรมแดน การสร้าง "พันธมิตรทางธุรกิจ" ด้วยการดึงเอาจุดแข็งของแต่ละธุรกิจมารวมกัน ย่อมจะทำให้ปิดจุดอ่อนของตนเองได้ โดยเฉพาะ SME ที่มีขนาดเล็ก เงินลงทุนน้อย จึงควรต้องมีพันธมิตรมาคอยเสริมความแข็งแกร่งซึ่งกันและกัน เพื่อช่วยสนับสนุน แลกเปลี่ยนและแบ่งปันความรู้ ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้จัดงาน SME Thailand Expo 2014 ในวันที่ 25-28 ก.ย.57 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ฮอลล์ 7-8 โดยภายในงานจัดให้องค์ความรู้ต่างจากเวทีสัมมนาเพื่อเปิดมุมมองใหม่ๆ และความรู้ให้กับผู้ประกอบการและผู้เข้าชมงาน
ส.อ.ท.เสนอ 6 แนวทางให้แบงก์ชาติหนุน SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน
นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และประธานกรรมการบริหารสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต(SMI) เปิดเผยว่า ภารกิจที่สำคัญ ของสถาบัน SMI ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของการดำเนินงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ สภาอุตสาหกรรมฯ คือ การยกระดับ SMEs สู่วาระแห่งชาติ โดยสภาอุตสาหกรรมฯ มีความเห็นที่จะพัฒนาศักยภาพ SMEs ไทย จึงได้เข้าไปมีส่วนในการสร้างและส่งเสริมปัจจัยเอื้อต่างๆ ให้กับ SME ในประเทศ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับ SME ที่จะเป็นตัวจักรสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นและเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งในกลุ่มที่เป็น SMEs รายใหม่, SMEs ที่กำลังเติบโต รวมถึงกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนหรือกรณีพิเศษ
ทั้งนี้ จากการสำรวจทำให้ทราบว่าผู้ประกอบการ SMEs ประสบปัญหาทางการเงิน ในด้านการขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน, มีต้นทุนทางการเงิน, ดอกเบี้ยสูงกว่ารายใหญ่ เนื่องจากขาดหลักทรัพย์, มีความเสี่ยงสูงกว่า อีกทั้งไม่มีแผนธุรกิจที่ดี เนื่องจากขาดประสบการณ์ รวมถึงเป็นกิจการใหม่และขาดประวัติการชำระเงิน และสถาบันการเงินมีเงื่อนไขที่เข้มงวด และมีขั้นตอนการดำเนินงานนาน
ดังนั้น สภาอุตสาหกรรมฯ จึงได้ยื่นข้อเสนอแนวทางหนุน SMEs ต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ดังนี้ 1.ยกเลิกเครดิตบูโรชั่วคราว สำหรับ SMEs ที่ประสบปัญหาในช่วงระยะเวลาการชุมนุมทางการเมือง (เหมือนกรณีราชประสงค์) 2.Soft Loan ดอกเบี้ยต่ำสำหรับ SMEs เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 3.ปรับโครงสร้างหนี้ SMEs ให้มีการชำระหนี้แบบ Balloon (ยืดระยะเวลาให้ยามและตอนต้นชำระน้อย ตอนปลายชำระเยอะ)
4.ปรับบทบาทและเงื่อนไขการให้สินเชื่อหรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินของ SME Bank ให้สามารถอนุมัติสินเชื่อให้กับ SMEs ได้มากขึ้น 5.ปรับหลักเกณฑ์การค้ำประกันเงินกู้ของ บสย.จาก 18% เป็น 30-50% 6.สนับสนุนการเงินแก่ SME ในรูปของการเข้าร่วมลงทุน (Venture Capital) ในธุรกิจที่มีศักยภาพเพื่อช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน ลดค่าใช้จ่ายทางด้านดอกเบี้ย และช่วยปรับปรุงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนให้ต่ำลง ตลอดจนยังเป็นการเตรียมความพร้อม SME ให้สามารถระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ MAI หรือ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
นายศักดิ์ชัย กล่าวว่า จากข้อเสนอดังกล่าว ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับเรื่องไว้เพื่อเสนอผู้ว่าการฯ นำไปพิจารณาศึกษาความเป็นไปได้ต่างๆ โดย ธปท.ได้ให้ความเห็นในแต่ละประเด็นที่ สภาอุตสาหกรรมฯ เสนอไว้ดังนี้
1. กรณี SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง เบื้องต้น ธปท.ได้หารือกับธนาคารพาณิชย์เพื่อช่วยเหลือลูกค้าในกลุ่ม SMEs ไปบ้างแล้ว ทั้งในรูปแบบการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ หรือการลดดอกเบี้ยให้ ซึ่งสภาอุตสาหกรรมฯ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับ ธปท.ถึงปัญหาของ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมและภาวะเศรษฐกิจผันผวนนั้น ยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือความช่วยเหลือจาก ธนาคารพาณิชย์อย่างจริงจัง เนื่องจาก ธนาคารพาณิชย์มีกระบวนการในการช่วยเหลือเฉพาะลูกค้าที่มีคุณภาพที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวเท่านั้น แต่ในส่วนของลูกค้า SMEs ที่มีปัญหาทางการเงินอยู่แล้ว และได้รับผลกระทบดังกล่าวเพิ่มเข้ามานั้น ยังไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างแท้จริง
2. Soft Loan ดอกเบี้ยต่ำสำหรับ SMEs นั้น พรบ.ปี 2551 ไม่ได้อนุมัติให้ ธปท.สามารถดำเนินนโยบายปล่อย Soft Loan ได้ ซึ่งต้องได้รับการอนุมัติจากกระทรวงการคลังก่อน 3. การปรับโครงสร้างหนี้แบบ Balloon ไม่ควรใช้กับผู้ขอสินเชื่อทุกรายทั่วไป แต่ควรมีการออกแบบให้เหมาะกับ SMEs ในแต่ละรายอย่างเหมาะสม
4. สำหรับกรณีของ SMEs Bank ขณะนี้มีคณะทำงานพิจารณาทบทวนบทบาทฯ ซึ่งกระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแล โดย ธปท.ได้ร่วมเป็นหนึ่งในคณะทำงานชุดดังกล่าว และรับทราบถึงประเด็นปัญหาของการทำงานของ SMEs Bank และคาดว่าจะมีแนวทางปรับปรุงการทำงานของ SMEs Bank ต่อไป
สำหรับ เรื่อง บสย.และ Venture Capital ธปท.ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องโดยตรง แต่ ธปท.ได้รับทราบข้อเสนอของสภาอุตสาหกรรมฯ ที่เสนอให้ปรับปรุงระบบ การให้ความช่วยเหลือ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากยิ่งขึ้น โดยจะนำไปพิจารณาในภาพรวมของนโยบายทางการเงินที่จะช่วยกันขับเคลื่อน SMEs ต่อไป
อินโฟเควสท์