WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1AAกนอจบมอROJNA

กนอ.จับมือ ROJNA ตั้งนิคมฯ โรจนะแหลมฉบัง จ.ชลบุรี คาดใช้เงินลงทุนราว 2.7 พันลบ.

      นางสุวัทนา กมลวัทนนิศา รองผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการ กนอ.มีมติให้ กนอ.ลงนามในสัญญากับ บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJNA) จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมโรจนะแหลงฉบัง จ.ชลบุรี บนพื้นที่ประมาณ 843 ไร่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ EEC ภายใต้แนวคิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเบาที่ทันสมัยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอุตสาหกรรมดิจิทัล เป็นต้น โดยมีมูลค่าการลงทุนของโครงการราว 2,700 ล้านบาท โดยจะใช้เวลาในการพัฒนาโครงการราว 2 ปี และคาดว่าจะสามารถขายพื้นที่หมดภายในระยะเวลา 3 ปี ก่อให้เกิดรายได้กว่า 3,400 ล้านบาท

      โดยมีจุดเด่นอยู่ที่ทำเลที่ตั้งของโครงการ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เป้าหมายโครงการ EEC ทำให้ผู้ประกอบการสามารถได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้มาตรการส่งเสริมของ EEC และมีนิคมฯ ใกล้เคียงในรัศมี 50 กิโลเมตร กว่า 5 นิคมฯ เพื่อเป็นการรองรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่มีความสนใจในพื้นที่ โดยนิคมฯ ดังกล่าวมีการใช้ประโยชน์ที่ดินโครงการแบ่งเป็น เขตอุตสาหกรรม 72.94% พื้นที่ระบบสาธารณูปโภค 16.00% และพื้นที่สีเขียว 11.06%

                นอกจากนี้ กนอ.ยังมีมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการให้ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมนอกเหนือจากสิทธิประโยชน์การลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ด้วยการลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 50% เพิ่มอีก 5 ปีจากเกณฑ์ปกติ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ได้มีการประกาศ 21 นิคมอุตสาหกรรม เป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้ช่วยดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวมากขึ้น และยังส่งผลให้ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมหลายรายสนใจยื่นเรื่องขอจัดตั้งเป็นเขตส่งเสริม และได้มีนิคมฯ ที่ได้รับการประกาศเป็นเขตส่งเสริมอีกหลายแห่ง

      สำหรับ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ แหลมฉบัง ถือเป็น Flagship ใน EEC แล้วก็จะมีโครงการที่ดำเนินการโดย CP ที่เน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นนักลงทุนจีน อีก 3 พันไร่ ถือเป็น 1 ใน 5 โครงการใหม่ที่บอร์ดการนิคมฯ อนุมัติมาเมื่อต้นปี 61 แล้วก็ยังมีโครงการ Smart Park ของ กนอ.เองอีก 1,200 ไร่

       "ความที่ซีพีมีพื้นฐานทางธุรกิจกับจีนเยอะ การทำ Marketing กับจีนค่อนข้างสะดวก สามารถโฟกัสกลุ่มนักลงทุนจีนได้ ซึ่งจะเน้นไปกลุ่ม S-Curve เต็มที่ใช้เทคโนโลยีสูง"

      นางสุวัทนา กล่าวเพิ่มเติมถึงการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับการลงทุนและการดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายว่า ขณะนี้ความคืบหน้าในการดำเนินงานดังกล่าว โดยในด้านการจัดสรรที่ดิน ระบบสาธารณูปโภค และสิ่งแวดล้อม กนอ.ได้มีการสนับสนุนผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก และระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการลงทุนจากภาคอุตสาหกรรมเพิ่มเติม พร้อมด้วยการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการด้านเขต/สวนอุตสาหกรรมเดิม ดำเนินการยกระดับพื้นที่ของตนเองให้เข้าสู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรม เพื่อพิจารณาสู่การเป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อไป

    นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดหาที่ดินเพื่อรองรับการลงทุนเพิ่มเติมอีกประมาณ 11,000 ไร่ ทั้งในจังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดฉะเชิงเทรา รวมถึงวางแผนด้านการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในนิคมฯ ให้เป็นไปตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมตามรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ของ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยจะเน้นในเรื่องกระบวนการลดมลพิษ การรองรับปริมาณและการกำจัดขยะอุตสาหกรรม รวมถึงเร่งพัฒนาให้นิคมฯ มีความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมากขึ้น

                "กนอ.ได้รับมอบหมายให้จัดพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมประเภท S-Curve 1.5 หมื่นไร่ ตอนนี้ทำไปได้กว่าครึ่งทางแล้ว ซึ่งก็มีทั้งพื้นที่นิคมฯเดิมที่ยังใช้ได้อยู่ และโครงการใหม่ๆ เช่น โครงการของโรจนะ แหลมฉบัง และกำลังตามมาอีกเยอะ ซึ่งมั่นใจว่าจะทำได้และอาจจะได้มากกว่าเป้าหมายด้วยซ้ำ เพราะตอนนี้ได้ในนิคมฯ เดิมประมาณ 1 หมื่นไร่เศษ และมีนิคมฯ ใหม่อีกเกือบหมื่น เพราะฉะนั้นน่าจะไม่มีปัญหา"

       อย่างไรก็ตาม ในการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย จะมีการใช้พื้นที่สำหรับโครงการลงทุนน้อยกว่าโครงการลงทุนทั่วไป เพราะมีระดับเทคโนโลยีสูงกว่า ซึ่ง กนอ. มั่นใจว่าจะสามารถพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการของนักลงทุนในพื้นที่ EEC อย่างแน่นอน

       ด้านการให้บริการ กนอ.ได้มีการดำเนินการร่วมกันกับ สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ในการจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร One Stop Service เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนที่สนใจดำเนินการในพื้นที่ EEC ที่จะมีความรวดเร็วและครบวงจร อาทิ การพัฒนาระบบอนุมัติอนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์ในเขตประกอบการเสรี เพื่อลดขั้นตอนการผ่านพิธีการศุลกากรสำหรับสินค้าเข้า – ออก เพื่อช่วยประหยัดต้นทุนและเวลาในการดำเนินธุรกรรมของผู้ประกอบการ ตลอดจนศูนย์ SME – ITC ที่จะช่วยให้กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้รับองค์ความรู้ และเทคโนโลยีใหม่ๆที่ทันสมัยจากผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ ต่อเนื่องถึงการเชื่อมโยงเพื่อเป็นฐานการผลิตระหว่างกันต่อไป

     การเร่งพัฒนาเมกะโปรเจกต์ เพื่อเป็นฐานรองรับการผลิต การลงทุน ซึ่งได้แก่ ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งในเดือนมิถุนายนนี้จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนแบบเฉพาะรายอีกหนึ่งครั้ง ทั้งในเรื่องของรูปแบบการร่วมลงทุน ความต้องการในด้านสิ่งอำนวยความสะดวก สาธารณูปโภค รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ ส่วนอีกหนึ่งโครงการที่สำคัญคือ โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เพื่อรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และดิจิทัล อยู่ในช่วงสรุปผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยคาดว่าเร็วๆนี้ จะทราบผลดังกล่าว และเดินหน้าประชาสัมพันธ์ให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศได้ทราบถึงข้อมูลที่สำคัญต่อไป

      การพัฒนานิคมฯ ใหม่เพื่อรองรับการลงทุน ในขณะนี้มีผู้ประกอบการในพื้นที่ EEC สนใจส่งเรื่องจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในลักษณะร่วมดำเนินงาน กับ กนอ.จำนวนรวมแล้วไม่น้อยกว่า 15 ราย ซึ่ง กนอ.กำลังอยู่ในระหว่างพิจารณา

      การส่งเสริมด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพราะนวัตกรรมและเทคโนโลยี และระบบต่างๆที่เป็นดิจิทัล เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยดึงดูดการลงทุนใน EEC อย่างมีนัยสำคัญ เช่นการพัฒนานิคมฯ Smart Park ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่รองรับการลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรมด้านดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีอันทันสมัย พร้อมกันนี้ กนอ.ได้ศึกษาการนำระบบเทคโนโลยีประมูลจากเมืองโอตะมาใช้ในระเบียงฯผลไม้ และยังจะมีการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆให้มีความทันสมัย เช่น สิ่งก่อสร้างประหยัดพลังงาน ระบบ IoT ที่จะเชื่อมต่อกับเครื่องมือต่างๆและการติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รวมถึงการส่งเสริมกำลังคนด้านดิจิทัลและนวัตกรรม จากการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยกลุ่มบิ๊กบราเธอร์ ที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่จากไทยและต่างประเทศภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ SME - ITC

    อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!