- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Wednesday, 30 May 2018 13:56
- Hits: 1424
กรอ.จ่อดำเนินการผู้ลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ แจงใบอนุญาตที่ออกให้เฉพาะใช้ในรง.เท่านั้นห้ามจำหน่ายต่อ
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวถึงกรณีการพบขยะอิเล็กทรอนิกส์ในโรงงานของบริษัท ดับบลิว เอ็มดี ไทย รีไซคลิ้ง จำกัด ในพื้นที่ของจังหวัดฉะเชิงเทรา กรอ. ตรวจสอบพบว่า บริษัทฯ ไม่มีใบอนุญาตนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่ง กรอ.จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบแหล่งที่มาของขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ ว่ามาจากการลักลอบนำเข้า หรือมีการสำแดงข้อมูลอันเป็นเท็จต่อศุลกากรและเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะต้องระวางโทษตามมาตรา 73 แห่ง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
อธิบดีกรมโรงงาน กล่าวต่อว่า แนวโน้มการเพิ่มมากขึ้นของขยะอิเล็กทรอนิกส์ มีจำนวนมากขึ้นตามการเติบโตของเทคโนโลยี สำหรับในประเทศไทยมีปริมาณของขยะอิเล็กทรอนิกส์จากภาคอุตสาหกรรมและการนำเข้าในปี 2560 กว่า 6 หมื่นตัน แบ่งเป็นจากภาคอุตสาหกรรมในประเทศจำนวนประมาณ 7,400 ตัน และนำเข้าประมาณ 53,000 ตัน โดยการนำเข้าของเสียอิเล็กทรอนิกส์สามารถนำเข้าได้ตามขั้นตอนการขออนุญาตภายใต้อนุสัญญาบาเซล อันประกอบไปด้วยกระบวนการตั้งแต่การพิจารณาคำขอคำยินยอมจากหน่วยงานรัฐจากประเทศต้นทาง จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบความพร้อมในด้านสถานที่จัดเก็บ ปริมาณการนำเข้า และกระบวนการผลิต ฯลฯ และหากได้รับการยินยอมแล้ว จะพิจารณาออกใบอนุญาตนำเข้าและขึ้นทะเบียน
ทั้งนี้ ในการออกใบอนุญาตการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ จะออกให้เฉพาะโรงงานที่ประสงค์นำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาเป็นวัตถุดิบในโรงงานของตนเองเท่านั้น ไม่สามารถนำไปขายหรือจำหน่ายต่อให้ผู้อื่นหรือโรงงานอื่นได้ และปริมาณที่นำเข้าต้องสอดคล้องกับกำลังการผลิตของโรงงาน
อย่างไรก็ตาม ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-waste คือกากขยะที่มาจากผลิตภัณฑ์จำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของโลกในการหาแนวทางในการจัดการเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่เพราะส่วนประกอบในขยะอิเล็กทรอนิกส์มีแร่โลหะที่มีมูลค่าสูง ซึ่งหากมีเทคโนโลยีที่เหมาะสมก็สามารถสร้างมูลค่าได้มหาศาลให้กับประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่นมีการนำโลหะมีค่าที่สกัดจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ ทองคำ ทองแดง มาผลิตเป็นเหรียญรางวัลที่จะใช้ในกีฬาโอลิมปิก ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2020 ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทยมีโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานจำนวน 132 โรงงาน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีมีผู้ลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในประเทศไทยว่า การลักลอบถือว่าผิดกฎหมายอยู่แล้ว ซึ่งจากนี้ไปจะต้องเร่งตรวจสอบในทุกกิจการ ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง
"ที่ผ่านมาได้มีการปล่อยปละละเลยกฎหมายกันจนเกิดปัญหา แต่รัฐบาลนี้จะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ส่วนขยะที่ค้างอยู่ในขณะนี้ต้องดำเนินการตามกฎหมาย หากทำผิดกฎหมายก็ต้องระงับไป" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
อินโฟเควสท์
ก.อุต'คุมเข้มโรงงานรีไซเคิลขยะไอที
แนวหน้า : นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า กระทรวงได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมไปตรวจสอบโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าวัตถุอันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย และอนุสัญญาบาเซล ที่มีอยู่ 7 โรงงาน หากพบการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง จะต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด
พร้อมกันนี้ ยังได้สั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ สำรวจ และทำหนังสือแจ้งเตือนโรงงานอุตสาหกรรมที่ประกอบกิจการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ประเภทโรงงานการคัดแยก ฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (โรงงานลำดับที่ 105) และประเภทโรงงานผลิตวัสดุดิบที่มาจากผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่แล้ว เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (โรงงานลำดับที่ 106) โดยให้ทุกโรงงานปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 อย่างเคร่งครัด
นายพสุกล่าวว่า ยังมอบหมายให้อุตสาหกรรมจังหวัดประสานงานกับหน่วยงาน อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตำรวจ ทหาร สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานสาธารณสุข เพื่อร่วมกันเข้าตรวจสอบโรงงาน พร้อมต้องให้คำปรึกษา ผู้ประกอบการให้สามารถประกอบกิจการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งขณะนี้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ และสมุทรสงคราม ได้รายงานผลการตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมที่ประกอบกิจการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์
"ขณะนี้พบว่า ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ได้มี 2 โรงงาน ที่ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 โดยมีการกองเศษวัตถุดิบ อยู่ภายนอกอาคารโรงงาน จึงได้ใช้คำสั่งมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ให้โรงงานดังกล่าวดำเนินการจัดเก็บวัตถุดิบภายในอาคาร และพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ได้มีการแจ้งหนังสือให้โรงงานดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนจังหวัดอื่นๆ จะทยอยรายงานผลการตรวจสอบ ซึ่งจะต้องรายงานผลการดำเนินงานให้ทราบภายในสัปดาห์นี้"
โดยปัจจุบันนี้โรงงานอุตสาหกรรมที่ประกอบกิจการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ มีจำนวน 1,761 โรงงาน แยกเป็นโรงงานการคัดแยก ฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช่แล้ว จำนวน 1,222 โรงงาน และโรงงานผลิตวัสดุดิบที่มาจากผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่แล้ว เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ จำนวน 539 โรงงาน และในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา