- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Wednesday, 23 May 2018 11:21
- Hits: 1141
ม.232 พ่นพิษคาดเหล็กรีดเย็นไทยสูญ 2.6 พันล้าน เร่งรัฐถกสหรัฐเว้นอากร-หลายชาติแห่ล้อมคอก
มาตรา 232 สหรัฐอเมริกาส่งผลกระทบผู้ผลิตในประเทศไทยแล้ว กลุ่มเหล็กรีดเย็นออเดอร์วูบ บางรายอาการหนักไม่มีคำสั่งซื้อเลย ประเมินเสียหาย 2,600 ล้านบาทในปี 2561 นายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทยวอนรัฐเร่งเจรจาสหรัฐยกเว้นภาษีนำเข้า ก่อนเสียหายมากกว่านี้ หลายประเทศไหวตัวคลอดมาตรการป้องกันเหล็กทะลักเข้าประเทศ
นายเชาวรัตน์ จั่นประดับ นายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย เปิดเผยว่าจากการที่สหรัฐประกาศใช้มาตรา 232 เรียกเก็บอากรสินค้าเหล็กนำเข้า 25% ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2561นั้น มาตรการดังกล่าวได้ส่งผลกระทบอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็นในประเทศ โดยคาดว่าจะมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 2,600 ล้านบาท หลังจากมาตรการดังกล่าวบังคับใช้กับไทย แม้ว่าโดยรวมแล้วในปี 2560 สินค้าเหล็กนำเข้าจากไทยคิดเป็น 1% ของปริมาณการนำเข้าของสหรัฐ แต่การที่ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในรายชื่อประเทศที่ได้รับการยกเว้นอากรทำให้สินค้าเหล็กของไทยถูกเรียกเก็บอากรสูงถึง 25%
นายเชาวรัตน์กล่าวว่าสมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทยร่วมอยู่ในกลุ่ม 7 สมาคมเหล็กฯ ที่ได้ส่งหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์เพื่อพิจารณาเร่งรัดการเจรจายกเว้นอากรดังกล่าว รวมถึงกำหนดมาตรการต่างๆเพื่อป้องกันปัญหาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการที่สินค้าเหล็กจากประเทศต่างๆทะลักเข้ามายังประเทศไทย จากการที่ไม่สามารถส่งออกไปยังสหรัฐได้ และจากรายงานสถิตินำเข้าของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย มีสัญญาณการนำเข้าสินค้าเหล็กที่ผิดปกติจากประเทศอิหร่าน รัสเซีย และเวียดนามในสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น และสินค้าเหล็กลวดแล้ว ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเป้าหมายของมาตรา 232 แต่ขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดมาตรการใดๆอย่างเป็นรูปธรรมจากภาครัฐไทย
“สถานการณ์ล่าสุดสหรัฐฯได้ประกาศขยายระยะเวลาการยกเว้นอากรชั่วคราว มาตรา 232 กับสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียม ออกไปอีกถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2561 สำหรับ สหภาพยุโรป แคนาดาและเม็กซิโก และมีการเสนอให้โควต้าสำหรับประเทศออสเตรเลีย อาร์เจนติน่า และบราซิล ในการนำเข้าสินค้าเหล็ก และอะลูมิเนียม ซึ่งแต่ละประเทศกำลังพิจารณาว่าจะยอมรับข้อเสนอดังกล่าวหรือไม่”
นายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย เปิดเผยอีกว่าขณะนี้หลายประเทศได้กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันผลกระทบทางอ้อมจากมาตรา 232 ที่อาจจะเกิดการไหลทะลักของสินค้าเหล็กที่ไม่สามารถส่งไปยังสหรัฐได้ เช่นกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ได้ประกาศเปิดไต่สวนมาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard) กับสินค้าเหล็กถึง 26 รายการสินค้า เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2561 โดย EU ประกาศว่าจะใช้เร่งรัดการไต่สวนให้เสร็จสิ้นในระยะเวลา 9 เดือนเท่านั้น และตุรกีก็ดำเนินการในรูปแบบเดียวกันคือการเปิดไต่สวนมาตรการ Safeguard เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2561 กับ 5 กลุ่มสินค้า เช่นเดียวกัน ดังนั้นเพื่อไม่ให้ประเทศไทยตกเป็นเป้าหมายของการส่งออกสินค้าเหล็กจากทั่วโลกควรกำหนดมาตรการปกป้องตนเองเช่นเดียวกับ EU และตุรกี และต้องเร่งรัดดำเนินการเป็นอย่างยิ่ง ควบคู่กับการเจรจากับสหรัฐเพื่อให้ไทยได้รับการยกเว้นจากมาตรา 232
Click Donate Support Web