- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Thursday, 08 March 2018 17:17
- Hits: 1711
ผู้ผลิตเหล็กหวั่น มาตรา 232 ดันเหล็กนอกทะลักเข้าไทย
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กหวั่นเหล็กนำเข้าทะลักเข้าไทย หลังนาย Wilbur Ross รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐยื่นรายงานผลการไต่สวนมาตรา 232 ต่อประธานาธิบดี Donald Trump เมื่อวันที่16 กุมภาพันธ์ ผ่านมา ระบุปริมาณนำเข้าสินค้าเหล็กเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง วอนกระทรวงพาณิชย์เร่งการบังคับใช้มาตรการปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ รวมทั้งปิดช่องโหว่ต่างๆเพื่อป้องกันการทุ่มตลาดจากเหล็กนำเข้า
สำหรับ รายงานผลการไต่สวนมาตรา 232 นาย Wilbur Ross ได้นำเสนอให้ประธานาธิบดี Trump พิจารณาการบังคับใช้มาตรการทางการค้า 3 ทางเลือก ได้แก่
1) กำหนดอากรนำเข้าอย่างน้อยร้อยละ 24 กับสินค้าเหล็กทุกประเภท จากทุกประเทศ หรือ
2) กำหนดอากรนำเข้าอย่างน้อยร้อย 53 กับสินค้าเหล็กนำเข้าจาก 12 ประเทศ ได้แก่ บราซิล จีน คอสตาริกา อียิปต์ อินเดีย มาเลเซีย เกาหลีใต้ รัสเซีย แอฟริกาใต้ ไทย ตุรกี และเวียดนาม และกำหนดโควต้านำเข้าสินค้าเหล็กจากประเทศอื่นๆ ในปริมาณเท่ากับ 100 % ของปริมาณส่งออกมายังสหรัฐในปี 2560 หรือ
3) กำหนดโควต้านำเข้าสินค้าเหล็กจากทุกประเทศเท่ากับร้อยละ 63 ของปริมาณที่แต่ละประเทศส่งออกมายังสหรัฐในปี 2560
มาตรการดังกล่าวข้างต้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตเหล็กภายในประเทศจากอัตราการใช้กำลังการผลิตปัจจุบันที่ร้อยละ 73 เป็นร้อยละ 80 โดยจะบังคับใช้กับสินค้าเหล็กทุกชนิดจากทุกประเทศทั่วโลก เพิ่มเติมจากอัตราอากรภายใต้มาตรการทางการค้าที่มีการบังคับใช้อยู่แล้ว ซึ่งตามกฎหมายสหรัฐ ประธานาธิบดี Trump จะต้องตัดสินใจว่าจะดำเนินการตามผลการไต่สวนตามที่นาย Ross เสนอหรือไม่ภายในวันที่ 11 เมษายน 2561
นายวรพจน์ เพียรอภิธรรม นายกสมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น กล่าวว่า หากประธานาธิบดี Trump ตัดสินใจใช้มาตรา 232 จริงก็จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกสินค้าเหล็กของไทยไปยังสหรัฐ ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ปริมาณส่งออกสินค้าเหล็กของไทยไปสหรัฐมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 ปริมาณส่งออกเหล็กทั้งหมด 383,496 ตัน เพิ่มขึ้นจากปริมาณส่งออกจากปี 2559 ถึงร้อยละ 131 คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 10,479 ล้านบาท ในส่วนของสินค้าท่อ ที่สมาชิกของสมาคมผู้ผลิตท่อฯ ส่งออกไปสหรัฐ เป็นท่อเชื่อมตะเข็บ ปริมาณส่งออกปีที่แล้วประมาณ 109,000 ตัน มูลค่ากว่า 2,600 ล้านบาท แต่ที่เรื่องที่น่ากังวลมากกว่าก็คือ เหล็กจากประเทศอื่นที่ไม่สามารถขายเข้าสหรัฐได้ จะไหลทะลักเข้ามาประเทศไทย
“ตอนนี้มีความเป็นไปได้สูงที่ ประธานาธิบดี Trump จะตัดสินใจใช้มาตรา 232 หลังจากที่เขาออกมาประกาศ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมาว่าจะกำหนดอากรนำเข้าร้อยละ 25 สำหรับสินค้าเหล็ก โดยไม่มีกำหนดเวลา ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ การตอบโต้ทางการค้าจากประเทศต่างๆและการใช้นโยบายปกป้องทางการค้า (Protectionism) มาใช้เพิ่มมากขึ้น” นายวรพจน์กล่าว
นายพงศ์เทพ เทพบางจาก นายกสมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ให้ความเห็นว่า มาตรา 232 จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดเหล็กในประเทศอย่างแน่นอน เพราะประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าสินค้าเหล็กเป็นอันดับ 3 ของโลก ไทยจึงเป็นตลาดเป้าหมายหลักที่ประเทศต่างๆ จะระบายสินค้าที่ไม่สามารถส่งออกไปสหรัฐเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี (GI) ที่ปัจจุบันยังไม่มีมาตรการปกป้องทางการค้าใดๆ ไม่ว่าจะเป็น เอดี หรือ เซฟการ์ด ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงที่สุด เพราะขณะนี้ปริมาณนำเข้าก็มากมายมหาศาลอยู่แล้ว ปีที่แล้วยอดนำเข้าประมาณ 1 ล้านตัน เป็นสินค้าจากจีนประมาณ 5 แสนตัน ไต้หวันและเกาหลีใต้รวมกัน 2 แสนตัน ส่วนที่เหลืออีก 3 แสนตัน นำเข้าจากประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น เป็นต้น สิ่งที่น่ากังวลนอกจากผลกระทบทางตรงต่อสินค้าเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีแล้ว
ยังพบว่า ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ มีการนำเข้าเหล็กเคลือบสังกะสี (GI) มาใช้ทดแทนสินค้าเหล็กบางประเภท เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน และเหล็กแผ่นรีดเย็น ซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นทาง (upstream) ที่ใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ประเภทท่อเหล็กและเหล็กโครงสร้างรูปพรรรณบางประเภท อีกด้วย เรียกว่าส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศทั้งซัพพลายเชนเลยทีเดียว ทั้งนี้เหล็กเคลือบสังกะสี นอกจากไม่มีมาตรการเอดี และเซฟการ์ด แล้วยังเป็นสินค้าที่ยังไม่มีมอก.บังคับ นอกจากจะทำให้สามารถนำเข้ามาได้โดยง่ายแล้ว ยังส่งผลต่อการนำสินค้าด้อยคุณภาพเช่นการเคลือบบางๆ มาใช้ ซึ่งส่งผลเสียต่อผู้บริโภคเพราะความคงทนจะลดน้อยลงไปด้วย
นายเชาวรัตน์ จั่นประดับ นายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย กล่าวว่า สินค้าเหล็กแผ่นรีดเย็นจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ผลกระทบทางตรงคือทำให้ไทยเสียโอกาสในการส่งออกสินค้าเหล็กแผ่นรีดเย็นรวมถึงผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ปริมาณส่งออกสินค้าเหล็กแผ่นรีดเย็นของไทยไปสหรัฐมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 ปริมาณการส่งออกเหล็กแผ่นรีดเย็นทั้งหมด 85,445 ตัน เพิ่มขึ้นจากปริมาณส่งออกในปี 2559 ถึงร้อยละ 68 คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 2,218 ล้านบาท เมื่อยอดขายลดลงย่อมส่งผลต่อปริมาณการผลิตที่ลดลงตามไปด้วย ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยสูงขึ้น ทำให้ความสามารถแข่งขันด้านราคาจะลดต่ำลงไปอีก สำหรับผลกระทบทางอ้อม สินค้าเหล็กแผ่นรีดเย็นจากทั่วโลกจะทะลักเข้ามาในอาเซียน เนื่องจากผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่ไม่สามารถส่งออกไปยังสหรัฐได้ เช่น ประเทศเกาหลีใต้ ไต้หวัน อินเดีย ต้องหาทางส่งออกไปประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีปริมาณการบริโภคเหล็กจำนวนมาก
นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เนื่องจากสหรัฐเป็นตลาดนำเข้าเหล็กที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหภาพยุโรป โดยในปี 2560 มีปริมาณนำเข้าเหล็กกว่า 34 ล้านตัน ซึ่งหากสินค้าเหล่านี้ไม่สามารถเข้าไปในตลาดสหรัฐได้ ก็จะหันไปส่งออกไปยังตลาดอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิภาคอาเซียน ซึ่งการไหลทะลักเข้ามาของเหล็กนำเข้าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมเหล็กและตลาดเหล็กของไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดหลักของภูมิภาค จากการประเมินประเทศที่มีความเสี่ยงที่จะส่งเหล็กมาไทย 8 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ ตุรกี ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน รัสเซีย เวียดนาม และอินเดีย ซึ่งมีการส่งออกเหล็กคิดเป็นร้อยละ 40ของยอดส่งออกเหล็กไปสหรัฐ โดยกลุ่มสินค้าหลักจาก 8 ประเทศดังกล่าวที่มีความเสี่ยงจะส่งมาไทย คือ เหล็กเส้น เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เหล็กแผ่นเคลือบดีบุกและเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เนื่องจากยังไม่มีมาตรการทางการค้า
“ปัจจุบันผู้ผลิตเหล็กในประเทศต้องเผชิญกับปัญหาอัตราการใช้การกำลังการผลิตต่ำ (Underutilization) อยู่แล้ว ประมาณร้อยละ 30-40 ดังนั้นหากปล่อยให้เหล็กนำเข้าทะลักเข้ามาอีก ก็จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาของอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศให้เลวร้ายมากขึ้นอีก” นายวิโรจน์กล่าว
นายวรพจน์ กล่าวว่า จะร่วมกับกลุ่ม 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย ซึ่งประกอบด้วย (1) สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย (2) สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย (3) สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น (4) สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า (5) สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน (6) สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี และ (7) สมาคมโลหะไทย เข้าพบกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหารือแนวทางช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากภาครัฐในประเด็นต่างๆ ดังนี้
1) ขอให้รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์แสดงบทบาทเป็นผู้แทนกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ ในการแสดงท่าทีอย่างเป็นทางการในการคัดค้านการบังคับใช้มาตรการ 232 ของสหรัฐ รวมทั้งแสดงข้อกังวลและผลกระทบต่อระบบการค้าเสรีและต่ออุตสาหกรรมเหล็กของไทย เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรป จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ที่ออกมาแสดงจุดยืนในเรื่องนี้อย่างชัดเจน
2) ขอให้กรมการค้าต่างประเทศบังคับใช้มาตรการทางการค้าต่างๆ เช่น AD Safeguard อย่างเข้มงวดและรวดเร็ว
รวมทั้งเร่งบังคับใช้กฎหมายตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า (Anti Circumvention) และมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty) โดยเร่งด่วน
นอกจากนี้ อยากร้องขอให้หน่วยงานภาครัฐที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าเหล็ก ได้แก่ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งการบังคับใช้มอก.บังคับ เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าหล็กคุณภาพต่ำที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริโภค และกรมศุลกากรช่วยตรวจสอบติดตามเหล็กนำเข้าที่มีเจตนาหลบเลี่ยงอากรและมาตรการทางการค้าอย่างเข้มงวดด้วย