WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1aaaaaaaaaSME

สสว.ผนึกกำลัง 25 องค์กร หนุน SME สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 9 หมื่นล้านบาทGDP SME ปี 2560 โตทะลุเป้า 5.1% คาดปีนี้โตสูงสุด 5.5%

    บอร์ด SME อนุมัติงบประมาณปี 2561 วงเงิน 1,219 ล้านบาท สสว. ผนึกกำลัง 25 หน่วยงาน ขับเคลื่อน SME ผ่านงบบูรณาการปีที่ 3 มุ่งส่งเสริม SME 4.0 ตามยุทธศาสตร์ชาติ หนุนใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงสู่ฐานรากระดับชุมชน ตั้งเป้าเอสเอ็มอีที่ได้รับการพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจโดยรวม 9 หมื่นล้านบาท สอดรับตัวเลข GDP SME ปี 2561 โตสูงสุดถึงร้อยละ 5.5 หลัง GDP ไตรมาส 4 โตสูงสุดในรอบ 11 ไตรมาส ขยายตัวถึงร้อยละ 6.1 ดันภาพรวมตัวเลขปี 2560 โตทะลุเป้าร้อยละ 5.1 คิดเป็นมูลค่ากว่า 6.55 ล้านล้านบาท

      ภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2561 ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ มีมติเห็นชอบจัดสรรงบประมาณสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จำนวน 1,219 ล้านบาท เพื่อบูรณาการงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้สอดคล้องกับมาตรการเร่งด่วนในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีตามยุทธศาสตร์ชาติ และจัดสรรเงินกองทุนฯ จำนวน 30 ล้านบาท ให้แก่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ดำเนินโครงการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) ระยะที่ 2 เพื่อสนับสนุนการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับหลักประกันธุรกิจใหม่ตามมาตรฐานสากล การศึกษาและแผนปฏิบัติการแนวทางการยกระดับการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น และแนวทางการพัฒนาการเข้าถึง E-Government ด้านต่าง ๆ นั้น

      นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ในปี 2561 สสว. เป็นเจ้าภาพการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการด้านการส่งเสริมเอสเอ็มอีของประเทศเป็นปีที่ 3 โดยประสานความร่วมมือกับ 25 หน่วยงาน เดินหน้าแผนบูรณาการขับเคลื่อนเอสเอ็มอีปี 2561 วงเงิน 3,810.41 ล้านบาท ภายใต้นโยบาย “พลิก SME สู่อนาคต” เน้นปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ พัฒนาขีดความสามารถและความพร้อม SME สู่สากล และพัฒนาเครือข่ายให้เข้มแข็งและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ คือการปรับรูปแบบธุรกิจสู่ SME 4.0 และเชื่อมโยงฐานรากระดับชุมชน โดยใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนใน 4 แนวทางคือ 1) สร้างและพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นและผู้ประกอบการรายใหม่ (Start Up) วงเงิน 1,266.53 ล้านบาท ตั้งเป้าเตรียมความพร้อมสู่การเป็น SME 34,000 คน สร้างและพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นที่มีมูลค่าสูง 7,800 กิจการ 2) ส่งเสริม SME กลุ่มทั่วไป (Regular) ให้มีศักยภาพมากขึ้นและให้ความช่วยเหลือ SME ที่ประสบปัญหาทางธุรกิจ (Turnaround) วงเงิน 1,086.16 ล้านบาท ตั้งเป้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ในการสร้างมูลค่า 5,800 กิจการ SME ได้รับการพัฒนาประสิทธิภาพการทำธุรกิจ 32,00 กิจการ ผ่านการรับรองมาตรฐาน 115 กิจการ เชื่อมโยง

      คลัสเตอร์ 44 เครือข่าย SME ได้รับการส่งเสริมด้านการตลาด 52,000 กิจการ และมีความพร้อมฟื้นฟูกิจการ 2,500 กิจการ 3) ส่งเสริม SME ที่มีศักยภาพ (Strong) ให้มีความสามารถในการแข่งขันได้มากขึ้น วงเงิน 1,028.93 ล้านบาท ตั้งเป้าพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่า 2,000 กิจการ SME ได้รับการพัฒนามาตรฐานระดับสากล 400 กิจการ และขยายโอกาสทางการตลาดในระดับสากล 5,600 กิจการ 4) พัฒนาปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจเพื่อการส่งเสริม SME (Ecosystem) วงเงิน 428.77 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้แก่ SME พัฒนาผู้ให้บริการ SME และงานบริหารจัดการงานส่งเสริม SME ให้มีประสิทธิภาพ โดยภาพรวมตั้งเป้าหนุน SME ได้รับประโยชน์ 331,315 ราย สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ 90,000 ล้านบาท

     “ในปีนี้ สสว. มีนโยบายการพัฒนาและส่งเสริม SME แบบบูรณาการใน 4 แนวทางหลัก ได้แก่ 1) ปรับรูปแบบธุรกิจสู่ SME 4.0 (Transformation to SME 4.0) โดยใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Transformation) เชื่อมโยงระบบเทคโนโลยีกับเครื่องมือสื่อสาร อาทิ เว็บไซต์ แอปพลิเคชั่น โซเชียลมีเดีย ฯลฯ การสร้างที่ปรึกษา (Train the Coach) เสริมแกร่ง SME รอบรู้การเงิน (Financial Literacy) และการมุ่งสู่ตลาดสากล (Internationalization G2G, B2B, B2C) 2) การพัฒนาผู้ประกอบการฐานราก (Community Based Area Based) โดยสสว.จะจัดกลุ่มผู้เชี่ยวชาญหรือพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาแนะนำแก่ SME โดยคำนึงถึงความสอดคล้องเชิงพื้นที่และประเภทธุรกิจ

       ภายใต้โครงการตามแนวพระราชดำริ เกษตรยุคดิจิทัล (Smart Farmer) สหกรณ์และศึกษารูปแบบกลุ่มธุรกิจการเกษตร (Farming 4.0) โครงการส่งเสริมเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน และโครงการสุดยอด SME จังหวัด (SME Provincial Champions) 3) การยกระดับธุรกิจสู่การค้าออนไลน์ (Business shift up to E-Market place) ให้ความรู้เพื่อยกระดับสินค้าและมาตรฐานสู่การค้าออนไลน์ ส่งเสริมการขายและขยายฐานลูกค้า การจัดการสินค้าเพื่อขายออนไลน์ เช่น การถ่ายภาพ การขนส่ง ฯลฯ รวมถึงการขยายตลาดสู่พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) 4.) การจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data for SME) โดย สสว. วางระบบฐานข้อมูลใน 3 รูปแบบ คือ คลังข้อมูล (SME Data Center) ให้เป็นศูนย์กลางฐานข้อมูลประชากร SME ของประเทศ

      ขณะที่ SMEONE.info เป็นศูนย์กลางข้อมูลเชื่อมโยงข่าวสารและบริการไปสู่ SME ภายใต้แนวคิดทุกเรื่องครบ จบที่เดียว โดยหลังจากเริ่มทดลองเปิดใช้บริการเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2561 มีผู้เข้าใช้งานแล้วประมาณ 3,300 คน โดยหัวข้อที่ได้รับความสนใจสูงสุดคือเรื่องการเงินร้อยละ 15.27 และการจัดทำแอปพลิเคชั่นสำหรับ SME (Application SME Connect)

     ส่วนของความคืบหน้ากองทุนเพื่อสนับสนุน SME ปัจจุบัน กองทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อม ขณะนี้ดำเนินการอนุมัติแล้วประมาณ 80% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นเดือนเมษายนนี้ ส่วนกองทุนฟื้นฟูวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อนุมัติแล้ว 391 ราย วงเงิน 304.83 ล้านบาท และเงินกองทุนเพื่อผู้ประกอบการรายย่อย รายละไม่เกิน 200,000 บาท อนุมัติแล้ว 1,894 ราย วงเงิน 316.61 ล้านบาท โดย สสว. ได้จัดตั้งทูตกองทุนจำนวน 6 คน ภายใต้แนวคิด ทุกเรื่องกองทุน สสว. พวกเรามีคำตอบ เพื่อเป็นสื่อกลางอำนวยความสะดวกในการติดตาม ประสานงานให้เกิดความรวดเร็ว รัดกุม และเป็นระบบมากยิ่งขึ้น” นายสุวรรณชัย กล่าว

       ขณะที่ตัวเลข GDP SME ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ที่ขยายตัวได้ถึงร้อยละ 6.1 ซึ่งนับเป็นการขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 11 ไตรมาส ส่งผลให้ GDP SME ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 5.1 มากกว่าที่ สสว. ได้ประมาณการไว้ที่ร้อยละ 5 โดยมีมูลค่ากว่า 6.55 ล้านล้านบาท และมีสัดส่วนต่อ GDP รวมร้อยละ 42.2 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มีสัดส่วน ร้อยละ 42.1 ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แถลง GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ที่มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 4 โดยปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญมาจากการขยายตัวในภาคการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกและภาคบริการนั้น

     สำหรับ SME แม้ว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะลดลง แต่ GDP SME ยังคงขยายตัวได้สูง จากการเติบโตของภาคการค้าและภาคบริการ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ซึ่ง SME มีบทบาทค่อนข้างสูง โดยสาขาธุรกิจที่ขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อน ได้แก่ธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร (15.3%) ธุรกิจการขนส่งและการคมนาคม (8.9%) และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (5.6%) รวมทั้งภาคการค้าปลีกค้าส่งขยายตัวเร่งขึ้น จาก 6.4% เป็น 6.9% ในไตรมาสนี้ ในส่วนของธุรกิจ SMEs ในสาขาอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ สาขาอุตสาหกรรมขยายตัว 2.9% ขะลอตัวลงจากการขยายตัว 4.1% ในไตรมาสก่อน ในขณะที่สาขาการก่อสร้างหดตัวลง 5.3%

      ในปี 2561 สสว. ประมาณการการเติบโตของ GDP SME เท่ากับ 5.0-5.5% เพิ่มขึ้นจากปี 2560 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสาขาการก่อสร้าง ที่มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้สูงอีกครั้ง จากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่คาดว่าเริ่มดำเนินการได้ในปีนี้ อีกทั้งแนวโน้มการบริโภคภายในประเทศรวมทั้งภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจะส่งผลดีต่อภาคการค้าและภาคการบริการที่ SME มีบทบาทอยู่มาก

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!