- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Saturday, 03 March 2018 14:27
- Hits: 2161
สศอ.เผยดัชนี MPI ม.ค.61 อยู่ที่ 115.65 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน 3.44% อัตราใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 70.19%
สศอ.เผยดัชนี MPI ม.ค.61 อยู่ที่ 115.65 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.44 เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ขณะที่ อัตราใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ ร้อยละ 70.19 สะท้อนกำลังซื้อที่มีทิศทางที่ดี ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 อยู่ที่ระดับ 67.0 สูงสุดในรอบ 34 เดือน
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือนมกราคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.44 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ระดับ 111.81 มาอยู่ที่ระดับ 115.65 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 70.19
“การส่งออกฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กำลังซื้อในประเทศก็มีทิศทางที่ดีเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 โดยดัชนีผู้บริโภคเดือนมกราคมอยู่ที่ระดับ 67.0 สูงสุดในรอบ 34 เดือน แม้ค่าเงินบาทแข็งค่าและค่าแรงสูงขึ้น แต่ยังสะท้อนขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยสูงขึ้น”
โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัว ประกอบด้วยรถยนต์ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.48 จากเครื่องยนต์ดีเซล และรถบรรทุกปิคอัพเป็นหลัก เพราะมีการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ของค่ายรถยนต์ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า รวมถึงการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า เช่น ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง อเมริกาใต้ สหราชอาณาจักร อาเซียน และเอเชียใต้
“หลังจากโครงการรถยนต์คันแรกสิ้นสุดลง ประกอบกับผู้ผลิตรถยนต์เปลี่ยนรถรุ่นใหม่ค่อนข้างมาก สศอ.จึงประเมินแนวโน้มการผลิตและบริโภคในประเทศน่าจะเพิ่มขึ้น”นายศิริรุจ กล่าว
น้ำมันพืช ขยายตัวร้อยละ 42.51 จากน้ำมันปาล์ดิบและปาล์มบริสุทธิ์เป็นหลัก ตามปริมาณผลปาล์มดิบที่มีมากกว่าปีก่อน ทำให้มีการนำไปผลิตเป็นไบโอดีเซลและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เพิ่มขึ้น น้ำมันปิโตรเลียมขยายตัวร้อยละ 9.15 จากน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ซึ่งบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้และความนิยมมากขึ้น รองลงมาเป็นน้ำมันดีเซลจากการใช้ในภาคการเดินทาง การขนส่งและอุตสาหกรรมที่เป็นไปตามทิศทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น รวมถึงการท่องเที่ยวที่เติบโตได้ดีต่อเนื่อง
ผลิตภัณฑ์ยางขยายตัวร้อยละ 5.22 จากยางแผ่นเป็นหลักตามปริมาณน้ำยางดิบที่มีมากกว่าปีก่อน รวมถึงการส่งออกที่ยังเติบโตต่อเนื่องโดยเฉฑาะตลาดจากจีน เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านขยายตัวร้อยละ 14.58 โดยเฉพาะกลุ่มเดียวจากเครื่องซักผ้าจากการจัดกิจกรรมกระตุ้นตลาดและขยายตลาดในแถบตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น ส่วนพัดลมมีการเร่งผลิตเก็บสต๊อกไว้เพื่อจำหน่ายในช่วงซีซั่นของอุตสาหกรม
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวร้อยละ 1.79 จากการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.39 และส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.97 และอุตสาหกรรมอาหารขยายตัวร้อยละ 7.2 โดยเฉพาะปศุสัตว์เพิ่มขึ้น 8.6 และน้ำตาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย