- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Thursday, 22 February 2018 10:05
- Hits: 3628
รัฐบาลปลดล็อคอุ้มผู้ประกอบการ SMEs คนตัวเล็กที่มีปัญหาทางการเงิน คลอดสินเชื่อเปิดโอกาสฟื้นฟูและเสริมศักยภาพธุรกิจ คิดดอกเบี้ยต่ำ 1% ต่อปี
รัฐบาลเดินหน้าสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย SMEs คนตัวเล็กที่มีปัญหาทางการเงินเข้าถึงแหล่งทุน ออกโครงการสินเชื่อพิเศษ วงเงิน 8,000 ล้านบาท ให้กู้สูงสุด 1 ล้านบาทต่อราย คิดดอกเบี้ย 1%ต่อปี เปิดโอกาสใช้ลงทุนขยายกิจการ ทุนหมุนเวียน แจ้งเกิดธุรกิจใหม่ เชื่อช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพและสร้างรายได้ ผลักดันเศรษฐกิจฐานรากเติบโตยั่งยืน
ดร.พสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือSME Development Bank) กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะรายย่อย หรือที่เรียกว่า “คนตัวเล็ก” ในชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งอดีตที่ผ่านมามักไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบได้เลย มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 ได้เห็นชอบและอนุมัติมาตรการพิเศษเพื่อขับเคลื่อน SMEs สู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 โดยอนุมัติ “โครงการฟื้นฟูและเสริมศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสำหรับ SMEsคนตัวเล็ก”วงเงิน 8,000 ล้านบาท โดยผ่อนปรนเงื่อนไขต่างๆ เปิดโอกาสให้คนตัวเล็กเข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำพิเศษได้มากกว่าปกติ
“สินเชื่อนี้ ต้องการสนับสนุน SMEsคนตัวเล็ก ที่เป็นนิติบุคคลมีปัญหาทางการเงิน ซึ่งเดิมเข้าถึงแหล่งทุนของสถาบันการเงินได้ยาก แต่กิจการยังมีศักยภาพดำเนินต่อไปได้ และมีความสามารถในการชำระหนี้ได้ ให้ได้รับโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อนำไปใช้ฟื้นฟูปรับปรุงกิจการ เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ หรือพัฒนากิจการให้มีประสิทธิภาพและขีดความสามารถเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสร้างเศรษฐกิจจากฐานราก (Local Economy) เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ที่ยั่งยืน รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEsรายย่อยเข้าสู่ระบบตามนโยบายรัฐบาลด้วย” ดร.พสุ กล่าว
แนวทางดำเนินการนั้น คณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ (กอป.) มอบหมายให้ ธพว. เป็นหน่วยร่วมดำเนินการทำหน้าที่ผู้จัดการโครงการ ทั้งรับคำขอกู้ วิเคราะห์โครงการ และอนุมัติสินเชื่อ เป็นต้น สำหรับคุณสมบัติของผู้ประกอบการ SMEs รายย่อยคนตัวเล็กที่อยู่ในข่ายได้รับการสนับสนุนสินเชื่อนี้ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ส่วนบุคคลธรรมดายื่นขอกู้ได้เช่นกัน แต่ต้องจดทะเบียนนิติบุคคลให้เสร็จ ก่อนอนุมัติสินเชื่อ มีจำนวนการจ้างงานไม่เกิน 50 คน หรือมีมูลค่าสินทรัพย์ถาวรไม่รวมที่ดินไม่เกิน 50 ล้านบาท และ ณ วันยื่นขอกู้ต้องไม่เป็น NPL หรือ ไม่ถูกดำเนินคดี นอกจากนี้ผู้กู้ต้องมีบัญชีรับ-จ่าย หรือระบบบัญชีชุดเดียวในกิจการเท่านั้น
ส่วนประวัติการชำระหนี้ก่อนวันยื่นกู้ กรณีลูกหนี้ปกติ ในช่วง 12 เดือนนี้ ชำระหนี้ล่าช้าได้ไม่เกิน 3 ครั้ง สำหรับกรณีเคยปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ หรือเคยปรับโครงสร้างหนี้ ต้องชำระหนี้มาแล้ว 4 งวดติดต่อ ไม่เคยค้างหลังมีการปรับเงื่อนไขหรือโครงสร้างหนี้ และหากชำระหนี้มาแล้วมากกว่า 4 งวด ให้ชำระหนี้ล่าช้าได้ไม่เกิน 2 ครั้ง
นอกเหนือจากคุณสมบัติดังกล่าวข้างต้นแล้ว ผู้กู้ต้องไม่อยู่ระหว่างการได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนสนับสนุนสินเชื่อจาก กองทุนพลิกฟื้น วงเงิน 1,000 ล้าน หรือ กองทุนฟื้นฟู วงเงิน 2,000 ล้านบาท จากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัว และหัตถกรรมไทย จากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ในการขอกู้ ต้องนำเงินไปใช้ลงทุน ขยาย ปรับปรุง พัฒนากิจการให้มีประสิทธิภาพและขีดความสามารถเพิ่มขึ้น รวมถึงลงทุนเริ่มต้นธุรกิจ สร้างธุรกิจใหม่ หรือใช้เป็นทุนหมุนเวียนในกิจการ กำหนดวงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้น สูงสุด 3 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1%ต่อปีตลอดอายุสัญญา สำหรับกรณีผู้กู้เคยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ให้วงเงินสูงสุดกู้ไม่เกิน 200,000 บาท หากมีผลการชำระหนี้เป็นปกติไม่น้อยกว่า 3 งวด หรือตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด แต่ไม่น้อยกว่า 3 เดือนให้สามารถขอวงเงินเพิ่มได้ตามความเหมาะสม และความสามารถในการชำระหนี้ โดยสามารถยื่นกู้ได้ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะหมดวงเงิน เชื่อว่าจะมีผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงสินเชื่อกว่า 27,000 ราย เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้จากฐานราก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 36,640 ล้านบาท
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ : นางอุบลรัตน์ ค่าแพง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการตลาด ลูกค้าสัมพันธ์และกิจกรรมเพื่อสังคม โทร. 085-980-7861, 02-265-4404