- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Saturday, 03 February 2018 18:41
- Hits: 1468
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผนึกสถาบันอาหาร ผุดหลักสูตรอบรมเข้ม ยกระดับ SME สู่ตลาดโลก
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) จับมือสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดตัวกิจกรรมพัฒนาผู้ประกอบการด้วยเครื่องมือการบริหารจัดการสมัยใหม่ (Advance SME Program) ประจำปี 2561 นำร่องผุดหลักสูตรอบรม SME ครบเครื่อง ทั้งด้านทักษะการผลิต การบริหารจัดการ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ปีแรกเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต หวังยกระดับเป็น Smart SMEs และ Global SMEs ตั้งเป้าเกิดนวัตกรรมใหม่ 1 เรื่อง และเพิ่มมูลค่ายอดขาย หรือลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 - 5 ชี้แนวโน้มโครงสร้างอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทย ทั้งรูปแบบสินค้า และตลาดส่งออกจะเปลี่ยนแปลงไป อาหารอนาคตหรือ Future Food มีศักยภาพสูง ไทยจะลดการพึ่งพิงตลาดเดิมนอกภูมิภาค และหันมากระจายสินค้าสู่ตลาด อาเซียน ญี่ปุ่น และจีนมากขึ้น คาดปี 61 มูลค่าส่งออกอยู่ระหว่าง 1.07 - 1.12 ล้านล้านบาท
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ร่วมมือกับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม จัดกิจกรรมพัฒนาผู้ประกอบการด้วยเครื่องมือการบริหารจัดการสมัยใหม่ (Advance SME Program) ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SME สู่การเป็น Smart SMEs และ Global SMEs ปีงบประมาณ 2561 ขึ้นเป็นปีแรก โดยการจัดหลักสูตรอบรมดังกล่าวมีความเข้มข้นในหลายด้าน มุ่งเน้นการพัฒนา SME กลุ่มอุตสาหกรรมศักยภาพ (S-Curve) โดยเฉพาะ ซึ่งในปีแรกมุ่งเน้นการพัฒนา SMEs ในอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต (Future Food) และอุตสาหกรรมอื่นๆ จำนวน 60 ราย เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง มีศักยภาพในการยกระดับสู่การแข่งขันในตลาดโลก
“ผู้ประกอบการจะสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการวางแผนธุรกิจ การบริหารจัดการในด้านต่างๆ รวมทั้งการจุดประกายแนวคิดในการทำธุรกิจอย่างสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยี ระบบดิจิทัล นวัตกรรม เพื่อยกระดับการผลิต การสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง และการผลิตรูปแบบใหม่ที่สร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับประเทศอย่างยั่งยืน เกิดเครือข่าย และเกิดการเชื่อมโยงธุรกิจ มีการขยายตลาดการค้าหรือการลงทุนในระดับสากล ซึ่งตั้งเป้าว่าเมื่อเสร็จสิ้นการอบรมจะเกิดนวัตกรรมใหม่ไม่น้อยกว่า 1 เรื่อง ผู้ประกอบการมีมูลค่ายอดขายเพิ่มขึ้น หรือลดต้นทุนได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 – 5”
นายกอบชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย DIP Transform for SMEs 4.0 เพื่อไปสู่วิสัยทัศน์ “สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศให้เพิ่มขึ้น 10,000 ล้านบาท ภายในปี 2564” โดยดำเนินการส่งเสริมและพัฒนา SMEs & OTOP ของไทย โดยใช้ 4 เครื่องมือ
1 กลยุทธ์ ได้แก่ IT,Robot, Automation, นวัตกรรม (Innovation) และคลัสเตอร์ (Cluster) มากกว่า 50,000 ราย และจัดทำ 2 มาตรการพิเศษเพื่อขับเคลื่อน SMEs สู่ยุค 4.0 ได้แก่ 1. มาตรการส่งเสริมและช่วยเหลือ SMEs ประกอบด้วย 1) การยกระดับเศรษฐกิจฐานชุมชน (Local Economy) 2) การปฏิรูปกลไกการส่งเสริม SMEs และ 3) การเพิ่มขีดความสามารถและการปรับเปลี่ยนธุรกิจ (Upgrading & Transformation) ภายใต้การดำเนินการที่สำคัญได้แก่ การจัดตั้งและขยายบริการศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม(Industry Transformation Center: ITC) ศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือ SMEs ทั่วประเทศ เป็นต้น และ 2. มาตรการด้านการเงิน ที่เป็นการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนของ SMEs ทุกกลุ่มทุกระดับอย่างทั่วถึง
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สถาบันอาหาร ได้รับมอบหมายจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมให้เป็นหน่วยงานดำเนินออกแบบ และจัดกิจกรรมฝึกอบรมที่เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต ด้วยหลักสูตรการพัฒนาผู้ประกอบการด้วยเครื่องมือการบริหารจัดการสมัยใหม่ (Advance SME Program) ที่จะเริ่มจัดอบรมตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ. - พ.ค. 2561 ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดรับสมัครและคัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดและสมัครได้ที่สถาบันอาหาร
“โดยแนวคิด วิธีการ การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ในครั้งนี้ ใช้แนวทางที่เป็นแบบ Construction Learning ซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพในการดำเนินการจัดหลักสูตร ได้แก่ การบรรยาย การถ่ายทอดประสบการณ์ตรงจากผู้บริหารระดับสูง การจัดกรณีศึกษา การจัดฝึกอบรมภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ และการแบ่งกลุ่มเพื่อระดมความคิด ตลอดจนมีการให้คำปรึกษาและแนะนำอย่างใกล้ชิดจากวิทยากร และทีม Facilitators (Coaching) ของโครงการฯ รวมถึงการจัดกิจกรรมตรวจประเมินปัญหา วินิจฉัย ประเมินศักยภาพของผู้ประกอบการ และให้คำปรึกษาแนะนำที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาธุรกิจของผู้เข้ารับการฝึกอบรม จัดกิจกรรมศึกษาดูงาน ทดสอบตลาด และกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะประสบการณ์ ซึ่งการอบรมดังกล่าวได้รับเกียรติจากวิทยากรชั้นนำของประเทศไทย ทั้งจากภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเป็นผู้บรรยาย”
นายยงวุฒิ กล่าวต่อว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทยนับแต่ปี 2561 เป็นต้นไป เป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมเดิมที่มีการส่งออกในรูปวัตถุดิบเป็นหลัก ไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงสอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล ซึ่งมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) รูปแบบสินค้าเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ มีแนวโน้มพึ่งพิงรายได้จากสินค้าหลักลดลง (สินค้าหลัก 8 รายการ ได้แก่ ข้าว ไก่ กุ้ง ทูน่ากระป๋อง น้ำตาลทราย แป้งมันสำปะหลัง สับปะรดกระป๋อง และข้าวโพดหวานปรุงแต่ง) โดยจะมีการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดมากขึ้น เช่น อาหารอนาคต หรือFuture Food เพราะการส่งออกมีแนวโน้มเติบโตสูงแม้ว่าในเชิงมูลค่ายังไม่มากก็ตาม อาทิ อาหารสำหรับผู้ป่วยและผู้สูงอายุ และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ (Functional food) เป็นต้น 2) ตลาดส่งออกเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ การรวมกลุ่มเศรษฐกิจภายในภูมิภาค เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ทิศทางการค้าอาหาร
ของไทยเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะภายหลังจากการที่ไทยมีความตกลงการค้าที่สำคัญภายในภูมิภาค เช่น FTA อาเซียน-จีน ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) และประชาคมอาเซียน (ASEAN Commodity: AC) ซึ่งพบว่า สินค้าอาหารของไทยลดการพึ่งพิงตลาดเดิมลง เช่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป และมีการกระจายการส่งออกไปตลาดใหม่ ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะตลาดภายในภูมิภาคที่มีความตกลงทางการค้า ได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่นและจีน
ทั้งนี้ แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารของไทยปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2560 ในอัตราร้อยละ 5.3 ถึง ร้อยละ 10.3 โดยมีมูลค่าส่งออกอยู่ในช่วง 1.07 ถึง 1.12 ล้านล้านบาท กลุ่มประเทศอาเซียน ยังคงเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยที่สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 30 รองลงมาได้แก่ ญี่ปุ่นร้อยละ 14 สหรัฐฯร้อยละ 10 จีนและแอฟริกามีสัดส่วนเท่ากันร้อยละ 9 ตามลำดับ