- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Saturday, 03 February 2018 18:34
- Hits: 1196
สศอ.เผย ดัชนี MPI เดือนธ.ค.60 อยู่ที่ 109.88 โต 2.35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนทั้งปี 60 โต 1.58%
สศอ.เผย ดัชนี MPIเดือนธ.ค.60 อยู่ที่ 109.88 โต 2.35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 59.53% ส่วน MPI ทั้งปีที่ขยายตัวได้ 1.58% หนุนจีดีพีภาคอุตสาหกรรมปีนี้มีลุ้นโต 2% ส่วนปี 61 คาด MPI โต 1.5-2.5% ขณะที่จีดีพีอุตฯ คาดโต 2-3% พร้อมประเมินกลุ่มอุตฯ ช่วง Q1/61 กลุ่มอาหารจะโต 4.7% ตามตลาดไก่เติบโต ฟากรถยนต์จะมียอดผลิต 5 แสนคัน โต 2.97% และ กลุ่มเหล็กโต 3.21%
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือนธ.ค.2560 ขยายตัว 2.35% อยู่ที่ระดับ 109.88 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 107.36 โดยภาพรวมทั้งปีขยายตัวจากปีก่อน 1.58% ซึ่งเป็นไปตามที่คาดไว้ และเป็นไปในทิศทางเดียวกับการส่งออกเดือนธ.ค.ที่ผ่านมาขยายตัวถึง 11% ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 59.53%
ส่วนดัชนีเอ็มพีไอปี 2560 ทั้งปีที่ขยายตัวได้ 1.58% ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมปี 2560 ทั้งปีคาดว่าจะขยายตัวได้ 2% เพิ่มขึ้นจากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 1.7% ส่วนปี 2561 ดัชนีเอ็มพีไอคาดขยายตัว 1.5-2.5% จีดีพีภาคอุตสาหกรรมคาดขยายตัว 2-3%
นอกจากนี้ ประเมินว่าการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อดัชนีเอ็มพีไอและอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมมากนัก เพราะส่วนใหญ่มีการจ้างงานในอัตราที่สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่ประกาศอย่างเป็นทางการอยู่แล้ว ประกอบกับอุตสาหกรรมส่วนหนึ่งก็มีการปรับใช้เครื่องจักรกลและระบบอัตโนมัติมากขึ้น
“แต่ยอมรับว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อกำลังการผลิตในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลัก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมก่อสร้างและภาคบริการ”
อย่างไรก็ตาม ปีนี้ยังคงต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลก ถ้าไม่มีอะไรผันผวน ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศต่างๆ ไม่รุนแรง เศรษฐกิจคู่ค้าปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมไทยปรับขึ้นดีขึ้นไปด้วย รวมทั้งยังต้องติดตามนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐ
นายศิริรุจ กล่าวเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลใหให้ดัชนีเอ็มพีไอเดือนธ.ค.2560 ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยางขยายตัว 28.92% จากยางแผ่นเป็นหลัก เนื่องจากปีนี้มีน้ำยางออกสู่ตลาดจำนวนมาก จากปีก่อนมีปัญหาน้ำท่วมบางพื้นที่ทำให้ไม่สามารถรีดยางได้ ประกอบกับราคายางตกต่ำทำให้จีนเร่งนำเข้ายางแผ่นจากไทย
รถยนต์ขยายตัว 13.53% จากรถปิคอัพและรถยนต์นั่งขนาดไม่เกิน 1800 cc.เป็นหลัก กำลังซื้อที่เริ่มมีมากขึ้น รวมถึงกำลังซื้อของลูกค้าในกลุ่มรถยนต์คันแรกที่ปลดล็อคแล้ว และผู้ผลิตกระตุ้นตลาดด้วยการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ส่งผลให้ปริมาณจำหน่ายรถยนต์ในประเทศขยายตัว 28.55% ส่วนปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น 12.12%
เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ ขยายตัว 24.15% จากเครื่องยนต์แก๊สโซลีน และเครื่องยนตดีเซลตามการผลิตรถยนต์ในประเทศที่ขยายตัวเพื่อรองรับงาน Motor Expo เมื่อวันที่ 30 พ.ย.-11 ธ.ค.2560 โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซลที่ปรับเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณการจำหน่ายในประเทศที่ยังคงเป็นที่นิยมต่อเนื่องจากการปรับโฉมใหม่ และปริมาณการส่งออจากลูกค้าในกลุ่มประเทศ AEC และประเทศออสเตรเลีย
น้ำมันพืชขยายตัว 57.19% จากน้ำมันปาล์มดิบเป็นหลัก เนื่องจากปีนี้ผลผลิตปาล์มมีจำนวนมากกว่าปกติ ส่งผลให้การผลิตและสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้ต้องเร่งส่งออกน้ำมันปาล์มดิบโดยส่งไปที่อินเดียและจีนเป็นหลัก
น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัว 10.63% จากน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 เป็นหลัก ตามความต้องการของตลาดที่มากขึ้น รองลงมาคือ แนฟทา ที่ผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อนำมาใช้ในในอุตสาหกรรมต่อเนื่องของโรงกลั่น
นายศิริรุจ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า แนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมไตรมาส 1/2561 รายสาขาที่สำคัญๆ ประเมินว่าภาพรวมการผลิตในอุตสาหกรรมอาหารจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.7% เนื่องจากความต้องการสินค้าไก่แปรรูป และไก่สดแช่เย็นแช่แข็งเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
อุตสาหกรรมรถยนต์ คาดว่าในไตรมาส 1/2561 จะมีการผลิตประมาณ 500,000 คัน เพิ่มขึ้น 2.97% อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะขยายตัว 2.76% จากอุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.32% โดยสินค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คือ เครื่องซักผ้า และสายไฟฟ้า จากการจำหน่ายในประเทศและการส่งออกเพิ่มขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดจะขยายตัว 5.19% จากความต้องการส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ และ IC ที่คาดจะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า คาดขยายตัว 3.21% จากคาดการณ์ว่าเหล็กทรงยาวซึ่งในอุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นหลัก จะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง และอุตสาหกรรสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มคาดผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอจะขยายตัว 0.87% ผ้าผืนขยายตัว 5.12% และเสื้อผ้าสำเร็จรูปขยายตัว 6.28% ตามทิศทางการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้า เช่น จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม โดยเฉพาะการส่งออกเส้นในและผ้าผืนไปยังตลาด CLMV
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
สศอ. คาดปี 61 ดัชนี MPI โต 1.5-2.5% GDP ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัว 2-3%, เร่งผลักดัน 10 อุตฯเป้าหมาย
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า สำหรับปี 61 สศอ.ยังคาดการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ไว้ที่ 1.5-2.5% ส่วน GDP ภาคอุตสาหกรรม ปี 61 คาดการณ์ไว้ที่ 2-3% จากปี 60 ที่คาดว่า GDP ภาคอุตสาหกรรมน่าจะอยู่ระหว่างเกือบ 2-2% จากประมาณการเดิมที่ 1.7%
"เดิมเราคาดการณ์ GDP (ภาคอุตสาหกรรม) ปี 60 ไว้ที่ 1.7% แต่หลังจากตัวเลข MPI ทั้งปี 60 ออกมาอยู่ที่ 1.58% แล้ว เราก็คาดว่า GDP ภาคอุตสาหกรรมของปี 60 น่าจะอยู่ระหว่างเกือบๆ 2 ถึง 2%" นายศิริรุจกล่าว
สำหรับ ปัจจัยที่ต้องจับตาในปี 61 ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งหากไม่มีเหตุการณ์ผันผวน หลังสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีสงบลง เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญก็ดีขึ้น ทำให้การส่งออกอาจจะดีขึ้น ก็น่าจะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยปรับตัวดีขึ้น
ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องติดตาม คือ นโยบายการค้าระหว่างประเทศของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และกรณีที่เวียดนามออกกฎหมายควบคุมการนำเข้ารถยนต์ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการส่งออกรถยนต์ของไทย โดยขณะนี้กระทรวงพาณิชย์กำลังเร่งเจรจา
ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวถึงภาวะเงินบาทที่แข็งค่ามากในระยะนี้ว่าไม่ได้กระทบต่อการส่งออกมาก เพราะต้องมองใน 2 ส่วนคือ การนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักรจะถูกลง การส่งออกของไทยที่ขยายตัวมากที่สุด คือ อาหาร ซึ่งใช้วัตถุดิบในประเทศ เพราะฉะนั้นเงินบาทแข็งค่าจึงไม่ส่งผลกระทบมาก แต่ถ้าในภาพรวมภาคอุตสาหกรรมต้องดูหลายๆ ปัจจัยประกอบกัน
ส่วน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น เนื่องจากยังมีผู้ประกอบการไม่มากนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหุ่นยนต์ ขณะนี้มีผู้ผลิตในประเทศที่ทำแขนกลได้อยู่ 4 ราย ก็จะพยายามผลักดันให้เพิ่มขึ้น, เรื่อง Aviation เป็นเรื่องการสนับสนุนให้นักลงทุนต่างชาติมาลงทุนมากขึ้น โดยจะใช้ยุทธศาสตร์ของ EEC คือการใช้ฐานของ EEC ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงที่สนามบินอู่ตะเภา การให้สิทธิประโยชน์ที่เป็นพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมอากาศยานเป็นตัวดึงดูดให้เกิดการลงทุน เรื่องนโยบายอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคต ที่ขณะนี้มีผู้มายื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI แล้ว 8 ราย อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ BOI ซึ่งถ้าได้รับการอนุมัติทั้งหมด ไทยจะยังเป็นฐานการผลิตยานยนต์ โดยเฉพาะยานยนต์ในอนาคตของอาเซียน
ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในภาคอุตสาหกรรม เบื้องต้นคาดว่าจะไม่กระทบเท่าใดนัก เนื่องจากอัตราค่าจ้างในภาคอุตสาหกรรมสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ย่อมมีผลกระทบบ้างเนื่องจากมีการปรับฐานค่าแรงขึ้นไป อุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับผลกระทบ คือ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลัก แต่อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลักได้ย้ายฐานการผลิตไปตั้งแต่มีการปรับค่าแรงรอบที่แล้ว เช่น ตัดเย็บเสื้อที่ย้ายไป CLMV เกือบทั้งหมดแล้ว ส่วนสิ่งทอที่ยังเหลืออยู่ในประเทศไทย ก็จะเป็นกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยี Hi End ใช้ฝีมือมากกว่าการตัดเย็บเสื้อผ้าโหล ซึ่งส่วนใหญ่มีการจ่ายค่าจ้างในอัตราที่สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว ทำให้ สศอ.เชื่อว่าการปรับขึ้นค่าจ้างไม่น่าจะกระทบต่อ MPI ในทางตรง แต่อาจจะกระทบทางอ้อมต่อบางอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลัก
"คาดว่า การเลิกจ้างงานไม่น่าจะเกิดขึ้นมาก เพราะถ้าเครื่องจักรเดิมที่เป็น Automation อยู่แล้วก็อาจจะเติมตัวที่เป็น Connecting เข้าไปเพื่อให้เครื่องจักรคุยกับเครื่องจักรได้ เชื่อมโยงการผลิตให้เป็นอัตโนมัติมากขึ้น" ผู้อำนวยการ สศอ.ระบุ
อินโฟเควสท์