- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Wednesday, 24 January 2018 21:40
- Hits: 11081
'เด็นโซ่' เสริมความแข็งแกร่ง SMEs ไทย
นายคัทซึฮิโกะ ซุกิโตะ กรรมการบริหาร บริษัท เด็นโซ่ คอร์ปอเรชั่น (สำนักงานใหญ่ เมืองคาริยะ จังหวัดไอจิ ประเทศญี่ปุ่น) กล่าวว่า บริษัทได้รับมอบหมายจาก องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นหรือ JETRO ในการจัดตั้ง โครงการพัฒนาผู้ประกอบการ Lean Automation System Integrator หรือ LASI ภายใต้แนวคิด Connected Industries โดยโครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) กับกระทรวงอุตสาหกรรมของไทย (MOI) ซึ่งการจะยกระดับขีดความสามารถ การแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิตให้อยู่ในระดับสูงได้นั้น ไม่สามารถทำได้ด้วยการพัฒนาหรือการนำเครื่องจักร ที่เป็นแบบอัตโนมัติมาใช้เพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่จะขาดไม่ได้ คือ การพัฒนาบุคลากรของผู้ประกอบการ System Integrator ให้สามารถประสานเทคโนโลยีด้าน Automation (ออโตเมชั่น) ให้เข้ากับเทคโนโลยีสารสนเทศในการกำจัดความสูญเปล่าของสายการผลิตหรือโรงงานได้ทั้งหมด
ทั้งนี้ การสร้างระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 'เด็นโซ่' ใช้หลักการ Lean Automation ในการกำจัดความสูญเปล่าของการผลิตทั้งหมด ในการพัฒนาและสร้างระบบการผลิตอัตโนมัติที่มีประสิทธิภาพสูงในกระบวนการผลิตต่าง ๆ ภายในโครงการนี้จะมีการจัดตั้ง อาคาร Showcase ภายในอาคารจะมีการจำลองระบบ การผลิตเพื่อเรียนรู้หลักการกำจัดความสูญเปล่า และการออกแบบระบบการผลิตแบบ Lean Automation อันเป็นเอกลักษณ์มาตั้งแต่อดีตของ 'เด็นโซ่' เข้ากับแนวคิด Connected Industries ซึ่งได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ประกอบไปด้วย หุ่นยนต์เคลื่อนไหวได้จำนวน 7 ตัว เพื่อใช้สำหรับเรียนรู้การใช้งานหุ่นยนต์พื้นฐานและการออกแบบระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ
โดยหุ่นยนต์ทั้งหมดจะได้รับการติดตั้งที่ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC)ตั้งอยู่อาคารปฏิบัติการ Shop A ซอยตรีมิตร กล้วยน้ำไท กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และถือเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ของทุกภาคส่วน สามารถเข้ามาสัมผัสระบบการผลิตแบบใหม่นี้ได้อย่างอิสระ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาหลักสูตรและสื่อการเรียนรู้ที่จะใช้ อาคาร Showcase ในการฝึกอบรม โดยความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยและหน่วยงานด้านการศึกษาของไทย 6 แห่ง พร้อมด้วยผู้ประกอบการ System Integrator ของไทยอีก 7 แห่ง
อย่างไรก็ตาม เด็นโซ่คาดว่าจะพัฒนาผู้ประกอบการ Lean Automation System Integrator ที่มีศักยภาพของไทยผ่านโครงการนี้ จะก่อเกิดการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรม Automation ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนหลักของนโยบาย Thailand 4.0 ไปพร้อม ๆ กับการประสานแนวคิด Connected Industries ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย อันจะนำไปสู่การยกระดับระบบการผลิตแบบ Automation เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่อุตสาหกรรมการผลิตของประเทศไทยในอนาคตต่อไป ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นโครงการในปีนี้แล้วจะมีการประเมินผลปรับหลักสูตรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ 'กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม' ยังมีการพิจารณาขยายผลโครงการนี้ไปยังหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนต่อไปในอนาคต
ด้านนายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เพื่อช่วย SMEs ไทย ผ่านศูนย์ ITC ซึ่งศูนย์มีหน้าที่ช่วยเหลือพร้อมให้คำปรึกษาแนะนำทางธุรกิจ การวิจัยเชิงพาณิชย์ ออกแบบและผลิต รวมทั้งด้านการเงิน ตลอดจนการบ่มเพาะผู้ประกอบการให้สามารถปรับเปลี่ยนไปสู่การดำเนินธุรกิจ และการพัฒนาสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยให้ SMEs ไทยสามารถปรับตัวและพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล นับตั้งแต่เริ่มให้บริการเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ระยะเวลา 5 เดือน ได้พัฒนาผลงานนวัตกรรมให้ SMEs ไปแล้วกว่า 40 ชิ้นงาน คิดเป็นมูลค่ากว่า 3 ล้านบาท
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดี กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า จากมาตรการช่วยเหลือ SMEs เบื้องต้น กสอ. ได้เริ่มการให้บริการไปยังศูนย์ ITC ส่วนภูมิภาคทั้ง 11 แห่งแล้ว โดยใช้โมเดลจากศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) ที่กรุงเทพฯ เป็นต้นแบบศูนย์ ITC ทั้ง 11 แห่ง มาปรับรูปแบบการให้บริการให้สอดคล้อง กับศักยภาพของอุตสาหกรรมในพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ 1. ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จ.เชียงใหม่ มุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป 2. ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 2 จ.พิษณุโลก มุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป การออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และ 3. ศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิก จ.ลำปาง มุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเซรามิก ส่วนพื้นที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่เหลือจะเร่งเปิดให้บริการภายในต้นปี 2561 นอกจากนี้ กสอ. ยังได้เชิญชวนบริษัทชั้นนำระดับโลกที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงแก่ผู้ประกอบการไทย รวมถึงความร่วมมือจากบริษัท เด็นโซ่ คอร์ปอเรชั่น ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาประจำที่ไทย เพื่อเชื่อมโยงแพลตฟอร์มและถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการของไทยในอนาคต รวมถึงการเชื่อมโยงการทำธุรกิจระหว่างเอสเอ็มอีไทยและผู้ประกอบการญี่ปุ่นโดยตรง