- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Wednesday, 24 January 2018 10:35
- Hits: 5679
ก.อุตฯ เผยปีนี้เปิดสินเชื่อใหม่ 3 โครงการ มูลค่า 7.8 หมื่นลบ.พร้อมดัน 9 มาตรการยกระดับ SME ไทย
นายสมชาย หาญหิรัญ รมช.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมยังคงเป็นหน่วยงานหลักในการช่วยเหลือและพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีเป้าหมายเพื่อยกระดับไปสู่ยุค 4.0 ที่มีศักยภาพ โดยในปี 2561 จะมีโครงการสินเชื่อใหม่ 3 โครงการ เพื่อช่วยเหลือทางด้านการเงิน วงเงินรวมกว่า 78,000 ล้านบาท ผนวกกับอีก 9 มาตรการที่เป็นตัวขับเคลื่อนพัฒนาส่งเสริมควบคู่กันไป โดยมาตรการช่วยเหลือทางด้านการเงินที่เตรียมทยอยออกในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ คือ 1.สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) วงเงิน 50,000 ล้านบาท 2.สินเชื่อเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรระยะที่ 2 (Transformation Loan) วงเงิน 20,000 ล้านบาท และ 3.โครงการฟื้นฟูและเสริมสร้างศักยภาพเอสเอ็มอีคนตัวเล็ก (Micro SMEs) วงเงิน 8,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริมที่ไม่ใช่ด้านการเงินอีก 9 มาตรการ เพื่อยกระดับเอสเอ็มอีไทย โดยมุ่งเน้นไปที่ "ไมโครเอสเอ็มอี" ดันรายได้สู่ท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยทั้ง 9 มาตรการ ประกอบด้วย 1.การขยายศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) ทั่วประเทศ 23 แห่ง ซึ่งจะให้บริการเครื่องจักรกลาง และพื้นที่ CoWorking Space เพื่อให้เอสเอ็มอีมีพื้นที่ในการพัฒนาสินค้าต้นแบบใหม่ๆ รวมทั้งการบริการที่ปรึกษาแนะนำเชิงลึก และเชื่อมโยงเครือข่ายองค์กรสนับสนุนต่างๆ 2.ศูนย์สนับสนุนช่วยเหลือเอสเอ็มอี (SME Support & Rescue Center: SSRC) ทำหน้าที่เป็น Front Desk บูรณาการที่ปรึกษา รับคำขอกู้เงิน แก้ไขปัญหาและส่งต่อเอสเอ็มอี โดยจะตั้งศูนย์ให้ได้ 270 แห่งทั่วประเทศที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ศูนย์บริการเอสเอ็มอี (OSS) ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ 3.Train The Coach หรือการสร้างโค้ช เพื่อส่งไปช่วยเหลือเอสเอ็มอี 3 ประเภท ได้แก่ 4.0 Biz Transformer เพื่อเข้าไปช่วยเอสเอ็มอีปรับโมเดลธุรกิจ Tech Expert ช่วยแนะนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมและปูพื้นเทคโนโลยีสู่ยุค 4.0 และ Biz Mentor เป็นที่ปรึกษาแก้ไขปัญหาทั่วไปทางธุรกิจ
4.SME Big Data โดยจัดทำข้อมูลประชากรเอสเอ็มอีของประเทศ ที่สามารถใช้วิเคราะห์โครงสร้างและสถานการณ์เอสเอ็มอีของประเทศผ่าน Data Analytic ทั้งการกระจายตัว ระดับศักยภาพ พร้อมสร้างช่องทางให้ SME เข้าถึงบริการของภาครัฐและเครือข่ายอย่างครบถ้วนทุกที่ทุกเวลา
5.โครงการ Big Brothers หรือโครงการพี่ช่วยน้อง เพื่อเชื่อมต่อเอสเอ็มอีสู่ห่วงโซ่การผลิตระดับโลก โดยจะร่วมมือกับบริษัทและองค์กรชั้นนำระดับประเทศและระดับโลก เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีใน 2 ลักษณะ คือ เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจพร้อมเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตโลก และการยกระดับเทคโนโลยี ขณะนี้มี Big Brothers ตอบรับเข้าร่วมแล้ว อาทิ ปตท. เอสซีจี เดนโซ่ เดลต้า นิสสัน ฮอนด้า และโตโยต้า
6.Digital Value Chain ผลักดันเอสเอ็มอีสู่ห่วงโซ่การผลิตโลกผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม B2B โดยจะพัฒนาระบบเว็บ T-Good Tech ที่เชื่อมต่อ J-Good Tech ผ่านทางการสนับสนุนของกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่น และในอนาคตจะขยายความร่วมมือไปอีกหลายประเทศเริ่มจาก CLMV ด้วย 7. โครงการเสริมแกร่งเอสเอ็มอีรอบรู้การเงิน เพื่อพัฒนาเสริมความรู้ด้านการเงินทั้งก่อนกู้และหลังกู้เพื่อให้มีบัญชีที่เป็นระบบ มุ่งเป้าสู่ระบบบัญชีเดียวในอนาคต 8.SME Standard Up ยกระดับเอสเอ็มอีสู่มาตรฐานที่เหมาะสมโดยพัฒนามาตรฐานเฉพาะ (มอก.S) ให้เหมาะสมกับระดับศักยภาพของเอสเอ็มอีและตรงความต้องการของตลาด เริ่มต้นที่กลุ่มสินค้าท่องเที่ยวเป็นลำดับแรก และ 9.การยกระดับเศรษฐกิจฐานชุมชน ผ่านโครงการยกระดับอุตสาหกรรมชุมชนเชื่อมโยงการท่องเที่ยว (CIV 4.0) โดยจะพัฒนาศักยภาพชุมชนค้นหาอัตลักษณ์ชุมชน ทำแผนการพัฒนาและบริหารจัดการอย่างยั่งยืน รวมทั้งผลักดันการแปรรูปผลิตผลการเกษตร ปั้นเอสเอ็มอีเกษตรโดยมีเป้าหมายยกระดับเศรษฐกิจฐานรากชุมชนมีรายได้เพิ่มไม่น้อยกว่า 25%
นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการ ธพว. เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2561 เห็นชอบให้ ธพว.ออกจากแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรหรือแผนฟื้นฟู เนื่องจากว่าตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาองค์กรดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ 1.ปรับกระบวนการอำนวยสินเชื่อ วงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท โดยมีการ Check & Balance และเพิ่มความคล่องตัวในการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลต่อการปล่อยสินเชื่อใหม่คุณภาพดีได้มากขึ้น
โดยนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2558-2560 มียอดปล่อยสินเชื่อรวม 98,757 ล้านบาท และยอดเบิกจ่ายสินเชื่อใหม่วงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท รวม 93,995 ล้านบาท ซึ่งในปี 2560 สามารถปล่อยสินเชื่อทั้งหมดได้จำนวนทั้งสิ้น 43,269 ล้านบาท 2.สร้างกระบวนการติดตามลูกหนี้ (Loan Monitoring)โดยจัดตั้งหน่วยงานควบคุมคุณภาพสินเชื่อ ส่งผลให้หนี้ปล่อยใหม่ในปี 2560 ตกชั้นเพียงร้อยละ 0.21 เท่านั้น 3.บริหารจัดการหนี้ NPL ตามแผนฟื้นฟูอย่างเคร่งครัด ส่งผลให้หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสินเชื่อใหม่ตั้งแต่ปี 2558 ถึง 2560 ลดลงต่อเนื่อง อยู่ที่ร้อยละ 3.32 , 1.32 และ0.21 ตามลำดับ
4.ดำเนินการตามพันธกิจในการสนับสนุนนโยบายรัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการด้านสินเชื่อ อาทิ สินเชื่อ Policy Loan สินเชื่อ SMEs บัญชีเดียว สินเชื่อ SMEs Transformation และกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เป็นต้น 5. ควบคุมค่าใช้จ่ายและต้นทุนเงิน ส่งผลให้ผลการดำเนินงานดีขึ้นและอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ โดยในปี 2560 มีกำไรก่อนตั้งสำรองหนี้เพื่อความมั่นคง กว่า 1,600 ล้านบาท และบริหารจัดการต้นทุนการเงินอยู่ที่ร้อยละ 1.68 ดีกว่าที่กำหนดไว้ ส่งผลให้การจัดอับดับ Credit Rating โดย Fitch Ratings อยู่ในอันดับที่ AAA (tha) และ 6.มุ่งเสริมสร้างจริยธรรม และธรรมาภิบาล ปลูกฝังค่านิยมองค์กรคุณธรรม พร้อมเสริมสร้างระบบการตรวจสอบให้มีความเข้มข้นมากขึ้น ส่งผลให้ได้รับการประเมินองค์กร ปี 2559 เท่ากับ 5 คะแนนเต็ม
SME Bank ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ปีนี้ 7 หมื่นลบ.-สินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 1.5 แสนลบ.กด NPL เหลือ 1.51 หมื่นลบ.
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Bank) กล่าวว่า SME Bank ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ปีนี้ 7 หมื่นลบ. ยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 1.5 แสนลบ. และตั้งเป้าลด NPL เหลือ 1.51 หมื่นลบ. จากปีก่อน 1.69 หมื่นลบ. กางแผน M SME Development Bank เพื่อสนับสนุนกลุ่ม จุลเอสเอ็มอี เตรียมวงเงินสินเชื่อ 7 หมื่นลบ.
ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ปีนี้ 70,000 ล้านบาท และคาดยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 150,000 ล้านบาท จากสิ้นปี 60 อยู่ที่ 100,000 ล้านบาท
หลังออกจากแผนฟื้นฟูฯ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 61 จึงมีข้อกำหนดการปล่อยสินเชื่อ วงเงินสูงสุดไม่เกิน 15 ล้านบาท ที่มีคุณภาพดี และแผนการดำเนินงานของ ธพว. คือการประกาศตัวเป็น “M SME Development Bank” โดยตัว “M” มาจากคำว่า “Micro” บ่งบอกถึงภารกิจหลักของตัวเองอย่างชัดเจนในการเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อสนับสนุนกลุ่ม “จุลเอสเอ็มอี”หรือผู้ประกอบการรายย่อยคนตัวเล็กในชุมชนต่างๆ ซึ่งจะสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทย เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ กระจายรายได้ไปทั่วประเทศ
โดยเตรียมแพคเกจสินเชื่อเพื่อรายย่อยวงเงินรวม 70,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) วงเงิน 50,000 ล้านบาท เน้นช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยว ท่องเที่ยวชุมชน และเกษตรแปรรูป วงเงินกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท 3 ปีแรก คิดอัตราดอกเบี้ย 3%ต่อปี ฟรีค่าธรรมเนียม บสย. 4 ปีแรก 2. โครงการฟื้นฟูและเสริมศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำหรับ SMEs คนตัวเล็ก วงเงิน 8,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเพียง 1% และ 3. สินเชื่อ Factoring วงเงิน 12,000 ล้านบาท กู้ต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาท โดยมีโปรโมชั่น 7:1:0 โดย 7 ตัวแรกคือ พร้อมอนุมัติสินเชื่อภายใน 7 วัน , 1 คือ เบิกจ่ายภายใน 1 วัน และ 0 คือ ฟรีค่าธรรมเนียมเรียกเก็บหนี้ ซึ่งคาดหวังจะช่วย จุลเอสเอ็มอี ได้ 70,000-80,000 ราย
ตั้งเป้าลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)ลงอยู่ที่ 15,100 ล้านบาท จากสิ้นปี 60 อยู่ที่ 16,960 ล้านบาท ในระยะหลังช่วยคนที่เข้าระบบโดยการไม่เติมทุน แต่เน้นให้ความรู้กับผู้ประกอบการมากขึ้น
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย