- Details
- Category: เศรษฐกิจทั่วไป
- Published: Thursday, 29 December 2016 09:54
- Hits: 6941
PwC คาดมูลค่าตลาดโดรนทั่วโลกแตะ 4.5 ล้านล้านบาทภายใน 4 ปี
PwC คาดมูลค่าตลาดโดรนเชิงพาณิชย์ในปี 2563 แตะ 4.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 7.2 หมื่นล้านบาท หลังธุรกิจทั่วโลกหันมาใช้เทคโนโลยีโดรนแทนแรงงานมนุษย์มากขึ้น ระบุโดรนนิยมมากในอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน การเกษตร และคมนาคมขนส่ง เพราะช่วยให้เข้าถึงพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก ร่นระยะเวลาการทำงานในพื้นที่กว้าง และประหยัดค่าใช้จ่าย ชี้กฎระเบียบในการควบคุมดูแลการใช้งานจะเป็นกุญแจสำคัญที่ผลักดันให้ตลาดโดรนเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) เปิดเผยถึงรายงาน Clarity from above ที่ทำการศึกษาเทคโนโลยีโดรน (Drone) หรือ อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicles: UAVs) เพื่อนำมาประยุกต์ใช้งานในเชิงพาณิชย์ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีโดรนกำลังเข้ามามีอิทธิพลกับหลายๆ อุตสาหกรรม เนื่องจากสามารถทำงานแทนแรงงานมนุษย์ได้เป็นอย่างดี จึงทำให้โดรนถูกนำมาใช้งานในเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นไปแตะ 127,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 4.54 ล้านล้านบาท ภายในปี 2563 จากปัจจุบันมูลค่าตลาดอยู่ที่ 2,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 7.2 หมื่นล้านบาท
“ด้วยศักยภาพอันหลากหลายของโดรน ทำให้ผู้ประกอบการในหลายๆ อุตสาหกรรมพัฒนาและนำมาต่อยอดบริการเชิงพาณิชย์ เพื่อช่วยแก้ปัญหา หรืออุดช่องโหว่การให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะเห็นได้ว่าปัจจุบันโดรนถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายตั้งแต่การจัดส่งพัสดุ การตรวจสอบความเสียหายและประเมินความเสี่ยงพื้นที่ที่อาจเกิดภัยพิบัติในธุรกิจประกันภัย ไปจนถึงการใช้โดรนในการรดน้ำหรือหว่านเมล็ดพันธุ์พืชในฟาร์มเกษตรต่างๆ”
อนึ่ง โดรน เป็นอากาศยานแบบไร้คนขับ แต่ใช้เทคโนโลยีในการควบคุมจากระยะไกล และมีความคล่องตัวในการเคลื่อนที่สูง นอกจากนี้ ยังสามารถจัดเก็บภาพและวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึกได้อย่างแม่นยำ และรวดเร็ว โดยสามารถรายงานผลกลับมายังผู้ใช้ได้แบบทันท่วงที (Real time) อีกทั้งมีความปลอดภัยสูงและต้นทุนต่ำ
ทั้งนี้ ในปี 2558 PwC ได้จัดตั้งศูนย์กลางในการให้บริการเฉพาะทางเกี่ยวกับโดรนภายใต้ชื่อ “Drone Powered Solutions” ขึ้น ณ ประเทศโปแลนด์ เพื่อช่วยลูกค้าในการวางแผนและนำโดรนมาประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจ
3 อุตสาหกรรมหลักที่มีมูลค่าตลาดโดรนสูงสุด
นางสาว วิไลพร กล่าวต่อว่า เทคโนโลยีโดรนได้ถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่การใช้งานทางทหารเหมือนในอดีต โดยรายงานระบุว่า โดรนถูกนำมาใช้งานเชิงพาณิชย์ครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นเมื่อต้นยุค 1980s โดยเข้ามาทดแทนการทำงานของแรงงานมนุษย์ในการฉีดยาป้องกันแมลงในนาข้าว ซึ่งในเวลานั้น เทคโนโลยีอากาศยานทางไกลยังคงมีต้นทุนสูงและมีความยุ่งยาก จากนั้นเป็นต้นมา พัฒนาการของโดรนจึงเริ่มต้นและถูกขยายขีดความสามารถเพื่อนำมาใช้งานในด้านอื่นๆ ทั้งการสำรวจ ตรวจสอบ วิเคราะห์ ประมวลผล แม้กระทั่งงานที่เสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน โดย PwC คาดว่า 3 อุตสาหกรรมหลักที่จะมีมูลค่าตลาดโดรนเชิงพาณิชย์สูงสุด ได้แก่
1.) อุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ถือเป็นอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะมีมูลค่าตลาดโดรนสูงที่สุดถึง 45,200 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.62 ล้านล้านบาทภายในปี 2563 โดยอุตสาหกรรมดังกล่าว นำโดรนมาใช้ในการบินสำรวจพื้นที่และเก็บภาพจากมุมสูงเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกก่อนนำมาประกอบการตัดสินใจลงทุน (Investment monitoring) ในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ รวมถึงการซ่อมบำรุง (Maintenance) ในจุดหรือพื้นที่ที่ทำการสำรวจยาก เช่น รอยแตกของรันเวย์ สะพาน ฯลฯ รวมถึงใช้ในการสำรวจรายการสินค้าคงคลัง (Asset inventory) ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุน เข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย และทำให้การประมวลผลบนพื้นที่บริเวณกว้างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
2.) อุตสาหกรรมการเกษตร (Agriculture) คาดว่าจะมีมูลค่าตลาดโดรนสูงเป็นอันดับที่สองอยู่ที่ 32,400 ล้านดอลลาร์ หรือ 1.16 ล้านล้านบาท โดยโดรนถูกนำมาใช้ในการสำรวจพื้นที่การเกษตรในพื้นที่กว้างใหญ่ รวมทั้งวิเคราะห์ดิน และการปลูกเมล็ดพันธุ์ รวมถึงคาดการณ์เวลาในการเก็บเกี่ยวได้อย่างแม่นยำ ด้วยความสามารถในการสร้างแผนที่ในรูปแบบสามมิติ (3D mapping) ทำให้ผู้ประกอบการสามารถวิเคราะห์ข้อมูลพืชพันธุ์และวางแผนในการเพาะปลูกได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้โดรนยังช่วยประเมินสุขภาพของพืชพันธุ์ รวมทั้งตรวจหาแบคทีเรีย หรือการติดเชื้อราได้อีกด้วย
3.) อุตสาหกรรมคมนาคมขนส่ง (Transport) คาดว่าจะมีมูลค่าตลาดโดรนอยู่ที่ 13,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 465,ooo ล้านบาท ปัจจุบันโดรนเริ่มถูกนำมาใช้ในบริการขนส่งสินค้าและพัสดุ (Last-mile delivery) แทนการขนส่งประเภทอื่นเพราะโดรนคล่องตัวสูงกว่า จึงช่วยร่นระยะเวลาในการขนส่งให้สั้นลง และสามารถเข้าถึงพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก และมีค่าใช้จ่ายต่ำ โดรนยังถูกใช้ในการขนส่งชิ้นส่วนสำรอง รวมไปถึงยา และอาหาร
นอกจากนี้ โดรนยังถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงนำโดรนมาใช้บันทึกภาพมุมสูงแทนการใช้เครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์ อุตสาหกรรมประกันภัยนำโดรนมาใช้ในการตรวจสอบ การประเมิน และจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากภัยพิบัติ และความปลอดภัยของทรัพย์สิน ไปจนถึงอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ที่ใช้โดรนในการสำรวจพื้นที่เหมืองแทนแรงงานมนุษย์ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง
ความท้าทายที่รออยู่ของโดรน
อย่างไรก็ดี แม้ว่าทั่วโลกจะมีการนำเอาเทคโนโลยีโดรนมาใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ความท้าทายสำคัญในระยะข้างหน้า คือ การออกกฎหมายเกี่ยวกับการใช้โดรนที่โปร่งใสและเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐเกี่ยวกับการใช้รวมถึงพื้นที่ที่มีการอนุญาตให้ใช้โดรน และมีข้อควรปฏิบัติเพื่อเป็นการรับประกันความปลอดภัย และความมีประสิทธิภาพจากการใช้โดรนให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์สูงสุด
“ปัจจุบันเราเริ่มเห็นสัญญาณของบริษัทผู้ประกอบการหลายรายที่ต้องการจะทดสอบและนำโดรนไปใช้กับธุรกิจของตน แต่ยังมีความกังวลในเรื่องของตัวบทกฎหมาย ฉะนั้น กฎระเบียบข้อบังคับจะเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญในการควบคุมดูแลโดรนที่จะถูกนำมาใช้งานในเชิงพาณิชย์ และผลักดันให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในอนาคตได้รวดเร็วยิ่งขึ้น”นางสาว วิไลพร กล่าว
ทั้งนี้ จากผลการศึกษาของ PwC ระบุว่า โปแลนด์ ถือเป็นประเทศแรกของโลกที่มีการร่างกฎหมายเกี่ยวกับการใช้โดรนเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่เมื่อปี 2556 โดยนักบินโดรนในโปแลนด์ต้องผ่านการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติจากสำนักงานการบินพลเรือน ผ่านการตรวจร่างกายที่ถูกต้อง และทำประกันภัยสำหรับความเสียหายอันเกิดแก่ร่างกาย ชีวิต ตลอดจนทรัพย์สินของบุคคลที่สาม นอกจากนี้ ต้องมีใบอนุญาตและเข้าใจข้อบังคับการบินต่างๆ เพื่อเป็นการรับประกันว่า การใช้โดรนเพื่อธุรกิจจะเป็นไปอย่างถูกต้อง รัดกุม และปลอดภัยแก่ทุกฝ่าย
สำหรับ ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน นางสาว วิไลพร กล่าวว่า โดรนไม่เพียงถูกนำมาใช้เฉพาะหน่วยงานภาครัฐเพื่อการทหารและการป้องกันประเทศเท่านั้น แต่ถูกนำมาใช้งานเชิงพาณิชย์มากขึ้น โดยล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมจึงได้ออกประกาศหลักเกณฑ์การขออนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก พ.ศ. 2558
“การที่หน่วยงานภาครัฐออกกฎควบคุมการใช้งานโดรนถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะช่วยจัดระเบียบรูปแบบการใช้งานที่เหมาะสมของโดรนแต่ละประเภท รวมทั้งคุณสมบัติของนักบินและข้อบังคับการบิน ซึ่งน่าจะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุและทำให้ตลาดโดรนในเมืองไทยขยายตัวได้อย่างรวดเร็วในอนาคต ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจได้ทราบถึงแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนว่า ควรนำโดรนมาช่วยพัฒนาหรือปรับปรุงสินค้าและบริการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้อย่างไร รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับบริษัทและนักลงทุนในการนำโดรนมาใช้ต่อยอดและพัฒนาธุรกิจเพิ่มมากขึ้น” นางสาว วิไลพร กล่าวทิ้งท้าย
เกี่ยวกับ PwC
PwC (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) หนึ่งในเครือข่ายบริษัทผู้ให้บริการด้านตรวจสอบบัญชี บริการให้คำปรึกษาด้านภาษี และบริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจรายใหญ่ของโลก มีเครือข่ายไปใน 157 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานมากกว่า 223,000 คน สำหรับประเทศไทย บริษัทถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 โดยมีบทบาทในการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจไทยมานานกว่า 58 ปี PwC ผสมผสานประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในการทำงานกับลูกค้าข้ามชาติ ผนวกกับความเข้าใจตลาดภายในประเทศเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชื่อเสียงของ PwC เป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจต่างๆ โดยปัจจุบัน มีบุคลากรกว่า 1,600 คนในประเทศไทย
©2016 PwC. All rights reserved.
http://www.pwc.pl/pl/pdf/clarity-from-above-pwc.pdff
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
คุณ พลอย เทน เคท
มือถือ: +6689 891 6158
อีเมลล์: [email protected]
คุณ ปฐมาวดี ศรีวงษา
มือถือ: +6689 894 1668
อีเมลล์: [email protected]
คุณ ปิยะณัฐ สวนอภัย
มือถือ: +6681 551 1004
อีเมลล์: [email protected]
คุณ วรารัตน์ วีระคงสุวรรณ
มือถือ: +6695 916 6245
อีเมลล์: [email protected]
คุณ กุลธิดา เด่นวิทยานันท์
มือถือ: +6681 838 4410
อีเมลล์: [email protected]