- Details
- Category: เศรษฐกิจทั่วไป
- Published: Thursday, 03 March 2016 12:56
- Hits: 4553
ผวาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว-กกร.เตรียมหั่นเป้าจีดีพีอีกรอบเอกชนมึนส่งออกไร้แววฟื้น
แนวหน้า : สภาผู้ส่งออกฯ เป็นห่วงเศรษฐกิจโลกไม่ฟื้น ลาก ส่งออกไทยดิ่งเหวอีกปี คาดไตรมาสแรกยังคงติดลบ ทั้งปีไม่มีโอกาสเห็นตัวเลขเป็นบวก ยอมรับคิด ไม่ออกจะผลักดันสินค้าตัวไหน สินค้าโภคภัณฑ์ผันผวนหนัก ซ้ำเจอประเด็นมาตรการห้ามนำเข้าของสหรัฐอีก ด้าน 3 สถาบันร่วมภาคเอกชน เตรียมหั่นเป้าหมาย จีดีพีอีกรอบ
นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งออกฯ ยอมรับว่า เป็นห่วงภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้ การส่งออกของไทยเดือนมกราคม 2559 มียอดส่งออกเพียง 15,711.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 8.91% ติดลบ ต่อเนื่อง 13 เดือน เป็นตัวเลขต่ำสุดในรอบ 50 เดือน ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจโลกเป็นเรื่องสงครามการค้า สืบเนื่องจากการเมืองค่ายอเมริกาและจีน ที่สหรัฐไม่ต้องการให้จีนเป็นตัวกำหนดการค้าโลก สหรัฐได้ทำเรื่องข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (ทีพีพี) การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและตามด้วยกฎหมายห้ามนำเข้าสินค้าแรงงานทาส แรงงานเด็ก นับเป็นการกีดกันทางการค้า ภาพรวม จะทำให้ตนเองได้เปรียบมากสุด และที่น่าแปลกราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงก็ไม่ได้ส่งผลทำให้เศรษฐกิจโลกดีขึ้น และ ยังมีปัญหาสงครามคู่ค้าหลายประเทศ
"เศรษฐกิจโลกส่อแวววิกฤติ มีการเตือนรับภาวะเศรษฐกิจถดถอย บอกยากว่าส่งออกไทยจะเป็นบวก หากเศรษฐกิจโลกถดถอยมากก็อาจจะติดลบมาก ยิ่งหากเศรษฐกิจโลก set zero ตูมเดียว ทุกอย่างลดลง 50% ซึ่งไม่รู้จะถึงเวลานั้นเมื่อใดก็ยิ่งน่าเป็นห่วง หากจีน สหรัฐ มุสลิม รัสเซีย ไม่หาทางจับมือกันก็จะกระทบเศรษฐกิจโลกอย่างนี้ต่อไป และผู้ประกอบการด้วยว่าต้องระวังความผันผวนทุกด้าน เพราะเศรษฐีโลกเล่นเรื่องค่าเงิน เล่นตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ทำให้ราคาน้ำมัน ทองคำ ค่าเงินและ อื่นๆ ผันผวน เป็นที่คาดว่าตลาดจะผันผวนตลอดเวลา" นายนพพร กล่าว
ด้านนายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภา ผู้ส่งออกฯ กล่าวว่า น่าเป็นห่วงเดือนกุมภาพันธ์ เพราะหากดูปีที่แล้วการส่งออกใกล้เคียงกับเดือนมกราคม ประกอบกับจีนมีวันหยุดตรุษจีน การนำเข้าก็น้อยลง จึงน่าเป็นห่วงคาดว่า เดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม อาจจะ ลดลง 5% ยิ่งราคาน้ำมันปีนี้ลดลงต่ำสุดในรอบ 11 ปี ก็จะกระทบต่อยอดนำเข้าของผู้ผลิตน้ำมันและสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งตลาดส่งออกใหญ่ของไทยทั้งสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน ก็ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการขยายตัว ดังนั้น สภา ผู้ส่งออกฯ จึงคาดว่าไตรมาส 1 การส่งออกจะติดลบ 4.5-5% หากนับจากเดือนกุมภาพันธ์-ธันวาคม การส่งออก จะต้องมียอดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน จะทำให้การส่งออกทั้งปีขยายตัวระดับ 0-1%
"ตอนนี้มึนไปหมด ไม่รู้จะผลักดันอุตสาหกรรมตัวไหน เพราะหลายภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากตลาดส่งออกหลักที่ประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจ" นายวัลลภ กล่าว
สำหรับ ปัจจัยน่าเป็นห่วง คือ ภาพรวมเศรษฐกิจโลก เป็นห่วงภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่ไม่ขยายตัวตามคาด จีนก็ยังมีปัญหา มีการลดค่าเงินหยวน ไอเอ็มเอฟปรับประมาณการเศรษฐกิจลดลง 0.2% เป็นขยายตัว 3.4% นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ ปัญหาสงคราม ปัญหาราคาน้ำมันตกต่ำ รวมถึงไวรัสซิกา ขณะที่ประเทศไทยมีปัญหาภัยแล้ง ปัญหาเรื่องประมง ผิดกฎหมาย (ไอยูยู) หากไทยประเมินไม่ผ่านก็จะกระทบต่อการส่งออกมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม สภาผู้ส่งออกยังเป็นห่วงกรณีที่สหรัฐประกาศแก้ไขกฎหมายศุลกากรห้ามนำเข้าสินค้าที่ผลิตโดยแรงงานทาสหรือแรงงานเด็กอาจจะกระทบต่อสินค้าของไทยด้านประมง สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม กุ้ง น้ำตาล และสื่อลามก ซึ่งไทยต้องปฏิรูปแรงงาน พร้อมทั้งเสนอว่าทางรอดเดียวที่สนับสนุนให้ภาคส่งออกของไทยเติบโตอย่างสุดความสามารถ คือ ปฏิรูปภายในประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันตาม 9 ข้อเสนอ ที่เคยเสนอต่อรัฐบาลไปก่อนหน้านี้ โดยเรื่องที่ต้องผลักดัน ทันที การปฏิรูประบบราชการ คือ การอำนวยความสะดวก ทางการค้าตามข้อตกลงตามกรอบองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) โดยต้องเร่งจัดตั้งคณะกรรมการ อำนวยความสะดวกทางการค้า จัดทำแนวทางการอำนวยความสะดวกทางการค้าระดับชาติ การผลักดันการสร้างและปฏิบัติตามมาตรฐานข้อมูล เชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ระดับสากล และต้องเร่งพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐานทางดิจิทัล เพื่อรองรับการอำนวยความสะดวกทางการค้ารูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่มีบทบาทมากขึ้น
"อยากเห็นแผนยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ ที่ชัดเจนกรณีที่รัฐบาลไปพูดคุย เช่น กรณีรัสเซียก็ต้องไม่ใช่ว่าจะซื้ออาวุธเท่านั้น ต้องดูระยะยาวว่า 2 ประเทศจะได้อะไร" นายนพพร กล่าว
ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า กกร.จะทบทวนปรับลดตัวเลขจีดีพี ที่ประเมินไว้ 3-3.5% ลงอีกครั้งในเดือนเมษายนนี้ คาดว่าจะอยู่ในช่วง 3-3.5% แต่ยังไม่สามารถระบุตัวเลขได้ในขณะนี้
ทั้งนี้ เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยเดือนมกราคม ขณะนี้ยังไม่สดใส สะท้อนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทุกภาคส่วนยังแผ่วลงจากเดือนก่อนหน้า การใช้จ่ายภาครัฐแม้จะดำเนินการได้ต่อเนื่อง แต่พบว่า อัตราเบิกจ่ายโดยเฉพาะงบลงทุนแผ่วลง หลังเร่งเบิกจ่ายไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2559 ด้านการลงทุน ภาคเอกชนกลับมาชะลอตัวลงอีกครั้งหลังจากอานิสงส์ชั่วคราวที่เริ่มหมดลง เช่น ผลจากการเร่งซื้อรถยนต์ ก่อนปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ และการกระตุ้น การจับจ่ายผ่านมาตรการภาษี เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่ยังทรงตัวระดับต่ำจากกำลังการผลิตที่ยังคงมี เพียงพอและการปรับขึ้นภาษีรถยนต์
นอกจากนี้ ยังเป็นห่วงสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงมากขึ้น ดั้งนั้น กกร.จะร่วมรณรงค์ลดการใช้น้ำในผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยจะเริ่มดำเนินการเดือนมีนาคมนี้ โดยจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องการใช้น้ำให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด ประเมินว่า จะช่วยลดการใช้น้ำในภาคธุรกิจได้ 20-30% ภายในเดือนมิถุนายนนี้ ส่วนผลกระทบ อุตสาหกรรมยังไม่ชัดเจน เบื้องต้นยังไม่มีปัญหาน้ำที่ กักเก็บยังมีเพียงพอใช้ในภาคอุตสาหกรรมจนถึงปลายปีนี้ ด้านการลงทุนโดยตรงภาคเอกชนไทยไปต่างประเทศ 9 เดือนแรกปี 2558 เพิ่มขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น ประเทศปลายทางที่ให้สิทธิประโยชน์การลงทุน และเอกชนที่ไปลงทุนสามารถลดต้นทุนได้มากกว่าการผลิตภายประเทศ อย่างไรก็ตาม การลงทุนต่างประเทศยืนยันได้ว่าเป็นการลงทุนเพิ่มขึ้น ไม่ใช่การย้ายฐานการผลิต