- Details
- Category: เศรษฐกิจทั่วไป
- Published: Tuesday, 19 January 2016 22:35
- Hits: 6366
'อนุสรณ์' หวั่น มะกันอ้างค้ามนุษย์ เพิกถอนสิทธิพิเศษภาษีไทย ทำส่งออกจุก
'อนุสรณ์' เผย อเมริกาเพิกถอนสิทธิภาษีไทย อ้าง เหตุค้ามนุษย์ ย่อมกระทบโดยตรงต่อสินค้าส่งออกไทย เสียเปรียบคู่แข่ง ระบุ หากตัดท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจจีนชะลอตัว หวั่นภาคส่งออกไทยตกที่นั่งลำบาก...
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยกับ ไทยรัฐออนไลน์ กรณี สหรัฐอเมริกาได้เริ่มทบทวนการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรแก่สินค้าไทย เมื่อวันที่ 14 ม.ค. ที่ผ่านมานั้น ว่าก่อนหน้านี้ไม่นาน สหรัฐอเมริกาได้มีการผ่อนผันไม่ระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้าไทย ซึ่งทำให้สินค้าส่งออกไทยได้ประโยชน์ กรณีที่สินค้ามีส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯ มากกว่าหรือเท่ากับ 50% จำนวน 9 รายการ ได้แก่ ดอกกล้วยไม้สด, ทุเรียนสด, มะละกอตากแห้ง, มะขามตากแห้ง, ข้าวโพดปรุงแต่ง, ผลไม้แช่อิ่ม, มะละกอแปรรูป, อาหารปรุงแต่ง และรูปปั้นเซรามิก เป็นกลุ่มส่งออกไปสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่า 27 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และได้รับการผ่อนผันไม่ระงับสิทธิ์ GSP และกรณีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าเกินเพดานการนำเข้าสหรัฐฯ เกิน 50% จำนวน 2 รายการ ได้แก่ มะพร้าวปรุงแต่ง และลวดทองแดง โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป
สำหรับ การผ่อนผันของสหรัฐฯ ครั้งนี้ ได้ส่งผลทำให้ผู้ส่งออกไทยจะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ เป็นมูลค่ากว่า 70 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร เวลามีการทบทวนโครงการ GSP สหรัฐฯ จะใช้ข้อมูลสถิติของปีก่อนหน้า มาพิจารณา และจะมีการบังคับใช้ในปีถัดไป โดยใน ปี 2557 การผ่อนผันกรณี De Minimis Waivers เป็นกรณีที่สินค้า มีส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯ เท่ากับหรือมากกว่า 50% แต่มูลค่านำเข้าสหรัฐฯ ของสินค้านั้นจากทั่วโลกต่ำกว่ามูลค่าขั้นต่ำที่สหรัฐฯ กำหนด ก็สามารถขอผ่อนผันไม่ให้ระงับสิทธิ์ GSP ได้ ซึ่งในปี 2557 อยู่ที่ 22.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
"หากสหรัฐฯ จะทบทวนการให้ GSP ต่อไทย โดยอ้างเหตุเรื่อง การละเมิดสิทธิแรงงานย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อสินค้า ที่ไทยได้ GSP จะทำให้สินค้าไทยเสียเปรียบคู่แข่งในละตินอเมริกาหรือประเทศในเอเชียที่ยังไม่ถูกตัด GSP"
สำหรับ ทางการไทย ได้ขอยกเว้นเพดานการนำเข้าสหรัฐฯ หรือ CNL Waivers ซึ่งเป็นการขอผ่อนผันให้ยกเว้นเพดานการนำเข้าสหรัฐฯ หากสินค้านั้นได้รับการยกเว้นเพดานการนำเข้าก็จะสามารถส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้โดยไม่มีระดับเพดาน ซึ่งสหรัฐฯ กำหนดเพดาน 2 กรณี คือ กรณีเพดานมูลค่านำเข้าเกินที่กำหนดในแต่ละปี ซึ่งในปี 2557 อยู่ที่ 165 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และกรณีสัดส่วนการนำเข้าสหรัฐฯ เกิน 50%
ทั้งนี้ หากสหรัฐฯ ตัด GSP สินค้าไทย ก็จะทำให้ภาคส่งออกไทยอยู่ในฐานะลำบาก เพราะตลาดสหรัฐฯ และตลาดจีนรวมกันคิดเป็นมากกว่า 1 ใน 5 ของมูลค่าส่งออกของไทย แต่ยังโชคดีที่กำลังซื้อของสหรัฐฯ ดีขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว และเงินดอลลาร์แข็ง ซึ่งไทยควรจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวดังกล่าว หากไม่มีการละเมิดสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชนอันเป็นเหตุให้สหรัฐฯ เคลื่อนไหวสร้างแรงกดดันการค้าต่อไทยได้.
ที่มา : www.thairath.co.th