- Details
- Category: เศรษฐกิจทั่วไป
- Published: Tuesday, 12 January 2016 08:47
- Hits: 6005
ประเมิน 'ช็อปเพื่อชาติ' เงินสะพัด 1.75 หมื่น ล. หนุนจีดีพี โต 0.01%
ม.หอการค้า คาดมาตรการช็อปช่วยชาติมีเงินสะพัด 1.75 หมื่นล้าน หนุน GDP เพิ่ม 0.1% ส่งผลให้รัฐสูญรายได้การลดหย่อน ราว 3,100 ล้าน ขณะที่ ผลสำรวจการใช้จ่ายของ ปชช. ระบุ คนส่วนใหญ่ไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว ...
นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจการจับจ่ายใช้สอยช่วงเทศกาลปีใหม่จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ "ช็อปช่วยชาติ" ลดหย่อนภาษี 15,000 บาท พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ถึง 79.13% ระบุว่า ไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว เนื่องจากเหตุผลต่างๆ เช่น รายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี, ซื้อประกันและกองทุนไปแล้ว, รัฐบาลบอกช้าไป ทำให้ซื้อสินค้าไปแล้ว และไม่มีเงินในการจับจ่ายใช้สอย ขณะที่ ประชาชนอีก 20.78% ระบุว่า ได้รับประโยชน์จากมาตรการช็อปช่วยชาติ เพราะมีรายได้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี และทำให้ได้รับส่วนลดภาษีเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ได้หักลดหย่อนอยู่แล้ว
ทั้งนี้ หากถามเฉพาะลงไปในกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการช็อปช่วยชาติ ว่าจะซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มเติมจากเดิมที่วางแผนไว้หรือไม่ จากที่รัฐบาลได้ออกมาตรการดังกล่าว พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 57.13% ตอบว่าไม่ซื้อเพิ่ม เพราะได้ซื้อสินค้าไปก่อนหน้านี้แล้ว และมีการวางแผนซื้อสินค้าไว้เกิน 15,000 บาทอยู่แล้ว จึงไม่ซื้อเพิ่ม ส่วนอีก 42.87% ตอบว่าจะซื้อเพิ่มขึ้น เพราะต้องการนำไปลดหย่อนภาษี, การจัดโปรโมชั่นในช่วงเวลาดังกล่าวถือว่ามีความน่าสนใจ และต้องการออกใบกำกับภาษีให้กับญาติที่ต้องการนำไปใช้หักภาษี เป็นต้น
อย่างไรก็ดี จากมาตรการนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ประเมินว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิลดหย่อนจากมาตรการนี้ 1.86 ล้านคน คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดจากการใช้จ่ายรวมทั้งสิ้นราว 17,500 ล้านบาท แต่จะทำให้รัฐสูญรายได้จากการลดหย่อนภาษีราว 3,100 ล้านบาท โดยมาตรการนี้ประเมินว่ามีผลช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2558 เพิ่มขึ้น 0.1%
ทั้งนี้ ประเมินจากจำนวนผู้เสียภาษีทั้งหมด 3.25 ล้านคน ซึ่งหากทุกคนมาใช้สิทธิลดหย่อนเต็มจำนวนทั้ง 15,000 บาท จะทำให้มีเม็ดเงินสะพัด 48,000 ล้านบาท และรัฐเสียรายได้ราว 4,700 ล้านบาท
ที่มา : www.thairath.co.th
ปีใหม่ช็อป-เที่ยว เงินสะพัดกว่า 2 หมื่นล. อานิสงส์รัฐให้ของขวัญลดหย่อนภาษีได้
บ้านเมือง : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดมาตรการหักลดหย่อนภาษีสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไม่เกิน 15,000 บาท ช่วยหนุนเม็ดเงินใช้จ่ายของตลาดไทยเที่ยวไทยช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ รวมทั้ง นโยบายภาครัฐกระตุ้นให้ภาคเอกชนหันมา พัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยวหลากหลาย รูปแบบทั้งในเมืองท่องเที่ยวหลักและรองของไทย ถือ เป็นการเพิ่มทางเลือกและช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อย่างมาก คาด 7 วัน เม็ดเงินสะพัดในพื้นที่ต่างๆ มูลค่า 22,000 ล้านบาท ขณะที่ตลาดของขวัญช่วงปีใหม่อยู่ที่กว่า 9,000 ล้านบาท
ช็อปได้คืนภาษีกระตุ้น ศก.
ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เป็นอีกช่วงหนึ่งที่มีวันหยุดยาวติดต่อกันและผู้คนนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ทั้งจากกลุ่มคนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาและแวะเที่ยวระหว่างทาง รวมถึงกลุ่มที่ตั้งใจจะเดินทางไปพักผ่อนในแหล่งท่องเที่ยวในต่างจังหวัด และได้สร้างเม็ดเงินสะพัดสู่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั้งในสถานที่ท่องเที่ยว และเส้นทางต่างๆ ที่นักท่องเที่ยวเดินทางผ่านจะมีความคึกคักอย่างมาก จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว
สำหรับ ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ปี 2559 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดไทยเที่ยวไทยในช่วงนี้ น่าจะยังมีความคึกคักเช่นเดียวกับที่ปีที่ผ่านมา เห็นได้ว่าในปีนี้ หน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนกลางและหน่วยงานท้องถิ่น รวมถึงภาคเอกชนต่างให้ความสำคัญในการจัดแคมเปญการท่องเที่ยวดึงดูดให้นักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ของตนในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับ
ปีใหม่ที่จะถึงนี้ ประกอบกับในช่วงที่เหลือของปี 2558 นี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการภาษีเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2558 ได้แก่ มาตรการหักลดหย่อนภาษี สำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายด้านบริการสำหรับการท่องเที่ยวในประเทศ ในระหว่างวันที่ 25-31 ธันวาคม 2558 สามารถนำใบกำกับภาษีมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
ซึ่งเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่เพิ่มเติมจากมาตรการหักลดหย่อนภาษีสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศไม่เกิน 15,000 บาท ที่ออกมาก่อนหน้านี้และจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 นี้เช่นกัน ทั้งนี้ มาตรการทั้งสองส่วนนี้ไม่เพียงแต่จะส่งผลดีต่อธุรกิจโรงแรมและธุรกิจนำเที่ยวเท่านั้น แต่ยังน่าจะมีผลทางจิตวิทยาให้เกิดการใช้จ่ายในสถานที่ท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี การซื้อสินค้าและบริการที่จะนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้นั้นจะต้องถูกต้องตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนด โดยธุรกิจที่จะได้รับอานิสงส์จากมาตรการนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายที่สามารถออกใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบให้กับลูกค้าได้
ชูแหล่งท่องเที่ยวดูดเงินเข้าท้องถิ่น
สถานที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ปี 2559 นี้ ความคึกคักไม่เพียงแต่จังหวัดที่เป็นหัวเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และนครราชสีมาเท่านั้น โดยในแหล่งท่องเที่ยวหลักบางแห่งในระยะนี้ก็เป็นปลายทางของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ส่งผลให้สินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องมีราคาสูงกว่าปกติ มีผลให้นักท่องเที่ยวชาวไทยบางกลุ่มปรับเปลี่ยนแผนการเดินทางไปยังเมืองท่องเที่ยวรองเพิ่มขึ้น ซึ่งในปัจจุบันผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในหัวเมืองรองก็มีความพร้อมค่อนข้างมาก ซึ่งก็สอดรับกับนโยบายภาครัฐที่ต้องการกระจายความหนาแน่นของจังหวัดท่องเที่ยวหลักๆ ไปสู่จังหวัดท่องเที่ยวรอง
ทั้งนี้ การเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่นั้น ผู้คนมีการทยอยเดินทางไปท่องเที่ยวในช่วงก่อนหรือหลังวันหยุดยาวเพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัดและความแออัดในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้ใช้กรอบการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยที่ 7 วัน เนื่องจากมีความเป็นไปได้มากที่ผู้คนจะเลือกเดินทางก่อนหรือหลังช่วงเทศกาล โดยประเมินว่าในช่วง 7 วัน จำนวนคนไทยเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งน่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดในพื้นที่ต่างๆ มูลค่า 22,000 ล้านบาท เติบโตที่ร้อยละ 12.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557
ธุรกิจเกี่ยวเนื่องโตยกพวง
โดยมูลค่าดังกล่าวสะพัดไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อันดับ 1 คือ ธุรกิจบริการด้านที่พักมูลค่า 5,200 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ ธุรกิจบริการอาหารและเครื่องดื่มมูลค่า 4,600 ล้านบาท ธุรกิจจำหน่ายสินค้าและของฝากของที่ระลึกมูลค่า 4,300 ล้านบาท ธุรกิจบริการด้านความบันเทิง (เช่น กิจกรรมผจญภัย
สวนน้ำและสวนสนุก) มูลค่า 2,800 ล้านบาท ธุรกิจบริการท่องเที่ยวในพื้นที่ (เช่น แพ็กเกจเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยว/ดำน้ำ) มูลค่า 1,900 ล้านบาท ธุรกิจบริการการเดินทางภายในพื้นที่ (เช่น รถเช่า เรือให้บริการไปยังเกาะต่างๆ) มูลค่า 1,800 ล้านบาท และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ มูลค่า 1,400 ล้านบาท
ทั้งนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยในช่วงหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ ปี 2559 ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น ด้วยผู้คนมีการใช้จ่ายในด้านต่างๆ ทำให้มีเม็ดเงินสะพัดในพื้นที่ท่องเที่ยว ซึ่งเป็นโอกาสของภาคธุรกิจท้องถิ่นและเกี่ยวเนื่องที่จะสร้างรายได้ในช่วงนี้ ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องคงจะต้องเตรียมพร้อมทั้งในส่วนการให้บริการที่ครอบคลุมและมีคุณภาพ รวมถึงความเพียงพอของบุคลากร
ผู้ให้บริการ เนื่องจากปัจจุบันภาคธุรกิจการท่องเที่ยวมีการแข่งขันที่รุนแรง ไม่เพียงแต่เป็นการแข่งขันของธุรกิจในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังเป็นการแข่งขันในตัวของสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งในหลายจังหวัดมีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ทำให้มีแนวโน้มการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวไปยังพื้นที่ใหม่เพิ่มขึ้น
การท่องเที่ยวนับเป็นกิจกรรมเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่นโดยตรง ทำให้ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ขึ้นในแต่ละพื้นที่ ทั้งสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ได้ถูกนำมาพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว อย่างแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และสถานที่ท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Products) อย่างสวนน้ำสวนสนุกที่ช่วยเพิ่มทางเลือกใหม่ๆ ให้กับนักท่องเที่ยว จึงทำให้แหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มาก ขณะที่ภาครัฐก็มีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ มีการแข่งขันในทางอ้อม
คนไทยเที่ยวไทยในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ปี 2559 คาดเติบโตร้อยละ 12.4 สร้างรายได้สู่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่องในช่วง 7 วันของเทศกาลปีใหม่ ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2558 ถึง 3 มกราคม 2559 มูลค่าประมาณ 22,000 ล้านบาท
ตลาดของขวัญพุ่ง 9 พันล้าน
นอกจากเรื่องการท่องเที่ยวแล้ว ในเทศกาลฉลองความสุข ก็ต้องมีการ การจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อของขวัญ/ของฝาก การสำรวจเฉพาะในส่วนของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 น่าจะมีมูลค่า 9,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ในช่วงเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองปีใหม่ที่ใกล้จะมาถึง สิ่งหนึ่งที่สร้างสีสันและความคึกคักให้กับตลาดก็คือ "ของขวัญ" เนื่องจากสามารถใช้เป็นสื่อแทนใจแสดงออกถึงความขอบคุณหรือมิตรภาพที่ดี สำหรับบุคคลอันเป็นที่รักและเคารพนับถือ
โดยในปีนี้พบว่า คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังเห็นความสำคัญของการให้ของขวัญปีใหม่แก่กันและกัน และจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้ไว้ หากมองในมุมทางธุรกิจ ของขวัญเสมือนสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่สามารถบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจหรือกำลังซื้อได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังสะท้อนไปถึงรสนิยม ไลฟ์สไตล์และลักษณะการดำเนินชีวิตของผู้บริโภค ดังนั้น เมื่อพิจารณาเจาะลึกลงไปถึงผู้เล่นในตลาดของขวัญ จะพบว่า มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของผู้เล่นหรือผู้ประกอบการในตลาดอยู่ 2 กลุ่มหลักๆ คือ
ห้างฯ แหล่งช็อปปิ้งโดนใจ
กลุ่มผู้ประกอบการในธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ถือเป็นผู้เล่นหลักในตลาด ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เกต ไฮเปอร์มาร์เกต ซึ่งแต่ละแห่งก็จะชูจุดขายที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ เมื่อสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคในปีนี้ พบว่า "ห้างสรรพสินค้า" ยังถือเป็นแหล่งช็อปปิ้งโดนใจของคนกรุงเทพฯ ในการเลือกซื้อสินค้าในช่วงเทศกาลปีใหม่มากที่สุดเช่นเดียวกันกับทุกๆ ปี เพราะมีสินค้าหลากหลายครอบคลุมเกือบทุกประเภท และเข้าถึงลูกค้าได้หลากหลายกลุ่ม ตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น/วัยทำงานไปจนถึงผู้สูงอายุ อีกทั้งยังมีการทำโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อจูงใจผู้บริโภคให้ตัดสินใจซื้อ เช่น ลดราคาผ่อนชำระ 0% ผ่านบัตรเครดิต หรือของสมนาคุณต่างๆ เป็นต้น
กลุ่มผู้ผลิตสินค้าในลักษณะ Made to Order กลุ่มนี้ผลิตสินค้าสนับสนุนกลุ่มองค์กรเป็นหลัก เช่น ธนาคาร กลุ่มธุรกิจ บริษัทหรือห้างร้านต่างๆ ซึ่งจะมีการสั่งซื้อเป็นประจำทุกปี ส่วนหนึ่งทำเพื่อการประชาสัมพันธ์ หรือ PR บริษัทไปในตัว และยังถือเป็นการรักษาความสัมพันธ์ของลูกค้าไปพร้อมกัน โดยสินค้าที่สั่งทำส่วนใหญ่จะแตกต่างกันไปในแต่ละบริษัท อาทิ บางบริษัทอาจประยุกต์ผลิตภัณฑ์ที่บริษัทผลิตมาเป็นของขวัญที่มอบให้กับลูกค้า หรือบางบริษัทสั่งทำสินค้าขึ้นมาใหม่เพื่อสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า ซึ่งในระยะหลังจะเน้นไปที่สินค้าในลักษณะพรีเมียมที่มีคุณภาพสูง หรือเน้นการออกแบบดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ อาทิ สินค้าที่อยู่ในกระแสนิยม (กระเป๋าหนัง สินค้า ไอที เช่น Power Bank หรือ Flash Drive) หรือการออกแบบที่สื่อถึง องค์กรนั้นๆ รวมถึงสินค้าทั่วไปที่สื่อถึงบรรยากาศของเทศกาลปีใหม่ เช่น ปฏิทิน ปากกา สมุดโน้ต เป็นต้น
ในขณะที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายสำคัญของตลาดของขวัญ/ของฝาก โดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ซึ่งมีความแตกต่างของลักษณะการเลือกซื้อ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจพฤติกรรมและการวางแผนเลือกซื้อของขวัญ/ของฝากของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
ลูกค้าบุคคล : กลุ่มนี้คือกลุ่มลูกค้าทั่วไป (คิดเป็นสัดส่วนประมาณ ร้อยละ 40 ของมูลค่าตลาดของขวัญ/ของฝากทั้งหมด) ซึ่งรายได้มีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน จะส่งผลต่องบประมาณและจำนวนบุคคลที่จัดสรรไว้ซื้อของขวัญ แต่บุคคลที่ยังคงเป็นผู้รับคนสำคัญของลูกค้ากลุ่มนี้ ได้แก่ พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ต้องมอบให้ทุกปีเพื่อแสดงถึงความเคารพรัก
โดยสินค้าที่อยู่ในกระแสและยังได้รับความสนใจในการเลือกซื้อเป็นของขวัญ ได้แก่ กลุ่มอาหาร/ขนม/เบเกอรี่ รองลงมาคือ สินค้า Gift shop กระจุกกระจิกประเภทต่างๆ ซึ่งได้รับความนิยมสูงจากกลุ่มวัยรุ่น/วัยทำงาน เพราะเหมาะแก่การมอบเป็นของขวัญเล็กๆ น้อยๆ แทนใจ สามารถมอบให้ได้หลากหลายกลุ่มผู้รับ
ตามมาด้วยกระเช้าของขวัญ (ที่เน้นความคุ้มค่าคุ้มราคาและสินค้าสุขภาพ) ที่ยังครองใจผู้บริโภควัยกลางคน ตามลำดับ ในขณะที่สินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเงิน อาทิ เช็คเงินสด บัตรของขวัญ เป็นกลุ่มที่ได้รับนิยมน้อยสำหรับที่จะเลือกมาเป็นของขวัญในช่วงเทศกาลปีใหม่ รวมถึงพวกเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน ที่ได้รับการตอบรับลดลง เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านขนาดและราคาต่อชิ้นค่อนข้างสูง
การเลือกซื้อของขวัญของลูกค้าบุคคลเป็นไปด้วยความระมัดระวังมากขึ้น โดยการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้ามุ่งเน้นไปที่ประโยชน์ใช้สอยและราคาเป็นสำคัญ จะเห็นได้จากสินค้าที่ได้รับความนิยมจะเป็นสินค้าที่มีราคาไม่สูงมากและมีความสะดวกในการจัดหา ด้วยเหตุนี้ หากผู้ประกอบการจะเจาะตลาดลูกค้าบุคคล กลยุทธ์ที่น่าจะช่วยกระตุ้นยอดขายได้ดีก็คือ การทำการตลาดผ่านกลยุทธ์ด้าน ราคาที่ชูความคุ้มค่า ควบคู่ไปกับการชูจุดขายด้านการออกแบบสินค้าและ แพ็กเกจจิ้ง หรือนำเสนอความแปลกใหม่ของสินค้า พร้อมทั้งอำนวยความสะดวก ในการให้บริการ ซึ่งก็น่าจะดึงความสนใจของลูกค้าให้เข้ามาเลือกซื้อได้
ลูกค้าองค์กร : เป็นคีย์แมนสำคัญในการขับเคลื่อนเม็ดเงินในตลาดของขวัญ (มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 ของมูลค่าตลาดของขวัญ/ ของฝากทั้งหมด) ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้มีเป้าหมายเลือกซื้อของขวัญที่มีนัยสำคัญทางสังคมและธุรกิจเหนือกว่าสินค้าของขวัญโดยทั่วไป โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้รับเป็นลูกค้า/หน่วยงานที่ติดต่อประสานงานด้วย
ลูกค้ากลุ่มนี้มองว่าการให้ของขวัญในนามขององค์กรค่อนข้างมีอิทธิพลอย่างมากต่อการสานต่อและเชื่อมความสัมพันธ์ให้มีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นและต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์องค์กรด้วย แต่ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้การจัดสรรงบประมาณจะให้ความสำคัญกับการคัดกรองลูกค้าเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น รวมถึงชนิดและมูลค่าของขวัญที่จะมอบให้ด้วย
โดยในปีนี้นอกจากการสั่งซื้อสินค้าแบบ Made to Order แล้ว สินค้าที่กลุ่มองค์กรนิยมซื้อเพื่อมอบเป็นของขวัญมากที่สุด ได้แก่ กระเช้าของขวัญ ซึ่งเทรนด์ ในการเลือกซื้อที่ได้รับความนิยม ยังเป็นกระเช้าที่เน้นสินค้าที่มีความคุ้มค่าคุ้มราคา รองลงมาคือ กระเช้าที่บรรจุสินค้าเพื่อสุขภาพ/ สินค้าที่มาจากธรรมชาติ โดยเน้นไปที่กลุ่มสินค้าพรีเมียมมากขึ้น ที่ยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องจากกระแสรักสุขภาพที่มาแรงและสื่อความหมายในเชิงความห่วงใยได้เป็นอย่างดี
แม้ว่า ความกดดันด้านค่าครองชีพและสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ จะส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อของขวัญอยู่บ้างในช่วงเทศกาลปีใหม่ปีนี้ แต่คนกรุงฯ ส่วนใหญ่ยังมีการเตรียมจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้เอาไว้ และให้ความสำคัญกับตัวบุคคลและของขวัญที่จะมอบให้มากขึ้น อีกทั้งบางส่วนยังได้รับค่าตอบแทน (โบนัส) จากที่ทำงานบางแห่งในช่วงสิ้นปี ทำให้คาดว่า ภาพของตลาดของขวัญในช่วงเทศกาลปีใหม่ปีนี้จะยังขยายตัวได้ และไม่ได้เลวร้ายมากนักเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อของขวัญ/ ของฝากของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 อาจมีมูลค่าอยู่ที่กว่า 9,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ที่มีมูลค่า 8,600 ล้านบาท
เทรนด์ตลาดสื่อออนไลน์ปี 59 จับตา Youtube-IG รุ่งยุค 4G
ไทยโพสต์ : นายกัมพล ธนาปัญญาวรคุณ ประธานเจ้าหน้าที่ บริษัท ไอท้อปพลัส จำกัด กล่าวว่า ปี 2558 ที่ผ่านมา ด้วยกระแสการเติบโตของธุรกิจโฆษณาออนไลน์ มีมูลค่าอยู่ที่ 9,869 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้นไม่ต่ำกว่า 50% ในทุกปี โดยมีสัดส่วนผู้ซื้อโฆษณาเป็นผู้ประกอบการ SMEs หรือเจ้าของกิจการขนาดย่อม ประมาณ 60% และมีการซื้อสื่อโฆษณาเพิ่มขึ้นประมาณ 30% ถือเป็นตัวเลขที่บ่งชี้ว่า SMEs คนไทยหันมาตอบรับเทรนด์การตลาดบนโลกออนไลน์มากขึ้น เป็นการลบความเชื่อเดิมๆ ที่คนมักคิดว่าการซื้อสื่อโฆษณาออนไลน์เป็นสิ่งที่บริษัทหรือห้างร้านขนาดใหญ่ทำได้เท่านั้น
ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีธุรกิจ SMEs อยู่ประมาณ 3,000,000 ราย หากประเมินโดยภาพรวม ควรจะมีเว็บไซต์ของ SMEs ประมาณ 1,000,000 ราย แต่ในความเป็นจริง กลับมีเว็บไซต์ SMEs ทั้งประเทศเพียง 300,000-400,000 รายเท่านั้น หรือคิดเป็นสัดส่วนธุรกิจ SMEs เข้าสู่ออนไลน์เพียง 30-40% เท่านั้น ทำให้เห็นว่ายังมีโอกาสการขยายตัวด้านการตลาดออนไลน์ในประเทศไทยอีกมาก โดย 3 อันดับธุรกิจที่มีการใช้จ่ายเงินค่าโฆษณาต่อลูกค้า 1 รายสูงสุด ได้แก่ การเงิน, การศึกษา และสุขภาพ
อย่างไรก็ตาม สำหรับ SMEs นั้น การโฆษณาบนสื่อออนไลน์ถือเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมและเป็นเครื่องมือหลัก เพราะช่วยเพิ่มยอดขายและขยายฐานลูกค้า ขายได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ซื้อในปัจจุบันที่ดูข้อมูลและซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ และเตรียมพร้อมสำหรับธุรกิจที่จะมีการซื้อขายผ่าน E-Commerce และการเข้าสู่การทำธุรกิจกับสมาชิกสมาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC รวมถึงมีความแม่นยำ และเป็นสื่อที่ให้ทุกธุรกิจสามารถใช้ได้
นอกจากงบประมาณจะไม่สูงแล้ว ยังสามารถวัดผลได้ อาทิ รู้ว่ามีคนโฆษณากี่คน, มีคนเห็นเว็บไซต์กี่คน, ค่าโฆษณาต่อวันเท่าไร, มีลูกค้าติดต่อกี่คน, ขายสินค้าได้กี่บาท, กำไรต่อการทำโฆษณากี่บาท ฯลฯ อีกทั้งช่วยลดค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าร้าน ค่าพิมพ์โบรชัวร์ เพราะพฤติกรรมผู้ซื้อในปัจจุบันไม่ได้มีการซื้อขายผ่านหน้าร้านอีกแล้ว โดยสื่อออนไลน์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากผู้ประกอบการ SMEs ได้แก่ Google เติบโต 30%, เว็บไซต์ เติบโต 40% และ Facebook เติบโตถึง 100%
ส่วนทิศทางของโฆษณาออนไลน์ในปี 2559 ว่า ประเทศไทยจะก้าวสู่ยุค AEC พร้อมๆ กับการเริ่มเทคโนโลยี 4G เต็มรูปแบบ เชื่อว่าจะช่วยให้การทำตลาดออนไลน์คึกคักมากขึ้น iTopPlus ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการ Google Adwords Premier Partner อย่างเป็นทางการ ทำให้เห็นว่า ใน Google ยังมีเครื่องมือ ลูกเล่น และเทคนิคอีกมากมายที่ธุรกิจ SMEs สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการทำธุรกิจ
โดยเครื่องมือแต่ละชนิดก็เหมาะกับธุรกิจแต่ละประเภท ไม่ว่าจะเป็น เทคนิคคำค้นหา (Keywords) โดยต้องมีการวิเคราะห์ให้เหมาะสมกับประเภทธุรกิจ ตรงกลุ่มเป้าหมาย, เทคนิคการประมูล (bid) คำหลัก (Keywords) เพื่อให้งบประมาณของคุณคุ้มค่าที่สุด, เทคนิคการกรองคำหลัก (Negative keywords) โดยไม่ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย, เทคนิคการปรับแต่งตำแหน่งโฆษณา (Advertise Average Position) เพื่อผลลัพธ์สูงสุด เป็นต้น นอกจากนี้ยังช่วยให้สามารถแสดงการสืบค้นไปปรากฏในต่างประเทศได้อีกด้วย ซึ่งช่วยขยายฐานลูกค้าไปยังภูมิภาคอื่นๆ ได้อย่างดี
สำหรับ โฆษณาบน Facebook นั้น มองว่าจะแข่งขันกันที่การจัดการกับ FacebookContent Admin คือ การสร้างจุดต่างของ Fanpage ด้วยเนื้อหาและรูปภาพใหม่ๆ สไตล์เฉพาะของธุรกิจ เพื่อให้เกิด Engagement กับผู้ติดตาม และที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากในปีนี้ และเชื่อว่าจะเติบโตอย่างชัดเจน คือ สื่อโฆษณาที่เป็นวิดีโอบน YouTube และ Instragram ที่สอดคล้องกับเทรนด์ของเทคโนโลยี 4G ที่ผู้ให้บริการโครงข่ายกำลังทยอยเปิดตัวอย่างเต็มรูปแบบ ส่วนเว็บไซต์นั้น เป็นช่องทางหลักของ SMEs ต้องรองรับ 2 ภาษา รวมถึงเตรียมขยายเพิ่มเติมสำหรับภาษาจีนและญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน
"ซึ่งเทรนด์ความต้องการที่กล่าวมาข้างต้น iTopPlus พร้อมเป็นผู้ช่วยสนับสนุน SMEs ไทยในการพัฒนาสื่อโฆษณาออนไลน์ เพื่อเสริมความแข็งแกร่ง แข่งขันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ พร้อมเป็นรากฐานสำคัญให้แก่เศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป"นายกัมพลกล่าว.