- Details
- Category: เศรษฐกิจทั่วไป
- Published: Tuesday, 15 September 2015 22:30
- Hits: 11387
ลงทะเบียนผู้ค้าหวยวันแรกคึกคัก สั่งผ่านกรุงไทยกว่า 4.2 หมื่นราย
แนวหน้า : ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการเปิดรับลงทะเบียนในโครงการสั่งซื้อ-สั่งจองล่วงหน้าสลากวันแรก มียอดขอลงทะเบียนเป็นผู้ค้าสลากรายย่อยจากทั่วประเทศแล้วกว่า 4.2 หมื่นราย แยกเป็นการลงทะเบียนผ่านสาขาธนาคารกรุงไทยกว่า 1,200 สาขาทั่วประเทศ จำนวนกว่า 3.3 หมื่นราย และใช้วิธีการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์สำนักงานสลาก www.glo.or.thมีจำนวนกว่า 9,000 ราย
นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า มีประชาชนสนใจเข้ามาลงทะเบียนเป็นผู้ค้าสลากผ่านสาขาธนาคารกรุงไทย 1,200 แห่งทั่วประเทศ เกิดความคาดหมายมาก โดยเฉพาะที่สาขาตรงสำนักงานสลากมีคนเข้ามาลงทะเบียนมากกว่า 1 หมื่นราย แต่ระบบสามารถรองรับได้ไม่มีปัญหาเพราะเป็นเพียงการลงทะเบียน
ทั้งนี้ ในช่วงระหว่าง 1 - 2 เดือนนี้ จะทำการศึกษาดูตลาด เพื่อพิจารณาปล่อยกู้ให้ประชาชน ผู้ค้าสลากรายย่อย ได้กู้เงิน 3 หมื่นบาท แต่ไม่เกิน 3 แสนบาท ไว้ใช้สำหรับซื้อสลาก โดยจะใช้เกณฑ์เดียวกับการปล่อยสินเชื้อบุคคล หรือ บัตรเครดิต ซึ่งจะมีการตรวจเครดิตบูโร และสอบถามแหล่งที่มาของรายได้ แต่ไม่จำเป็นต้องมีหลักประกัน
สำหรับ คนที่มาเปิดบัญชีเตรียมไว้ซื้อสลาก เงินส่วนที่เหลือยังได้รับดอกเบี้ยออมทรัพย์ แต่หากต้องการผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นขอให้โอนเงินเข้าไปซื้อกองทุนของธนาคารที่มีให้เหลือหลายกองทุนซึ่งจะได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 2%
พ.ท.หนุน ศันสนาคม กรรมการสลาก ในฐานะประธานคณะกรรมการบริการจัดการสลาก กล่าวว่าเตือนประชาชน และผู้ค้าสลากหน้าใหม่ อย่าเพิ่งรีบเข้ามาแย่งซื้อสลากมากเกินความสามารถจำหน่าย เพราะสลากไม่ใช้สินค้าที่มีความจำเป็นต่อชีวิต หากขายไม่ออกจะขาดทุน และสำนักงานสลากไม่มีนโยบายรับซื้อสลากคืน โดยผู้ที่สนใจสามารถทยอยเข้ามาลงทะเบียนได้เรื่อยๆ และเมื่อลงทะเบียนแล้วก็ยังไม่จำเป็นต้องซื้อสลากในงวดถัดไปทันที
เบื้องต้นเชื่อว่าจะใช้เวลาราว 3 - 6 เดือน ในการทดสอบตลาดเพราะหากความต้องการซื้อและขายที่แท้จริง เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายระยะที่ 3 เพื่อแก้ปัญหาสลากเกินราคาต่อไป โดยสลากทั้งหมด 74 ล้านฉบับ หรือ 37 ล้านใบคู่ จะหมดโควต้าในช่วง 3 เดือน หรือภายในปลายปี 58 นี้ทั้งหมด เบื้องต้นเห็นว่ายังคงจำเป็นต้องมีการจัดสรรโควต้าบางส่วนให้สมาคม มูลนิธิ ที่มีความจำเป็นต้องหารายได้ให้สมาชิก เช่น สมาคมคนพิการ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกไว้ ส่วนหนึ่งก่อน แต่อาจใช้วิธีการต่อสัญญาแบบสั้น 2 - 3 เดือน เพื่อสอดรับกับช่วงเวลาที่มีการทดสอบตลาดว่าใครคือผู้ค้าสลากตัวจริง และความต้องการซื้อสลากที่แท้จริงอยู่ที่เท่าไร เพื่อพิจารณาเรื่องการจัดสรรโควตาใหม่ทั้งระบบ
ทั้งนี้ เชื่อว่าจากปริมาณสลากที่ออกมาในแต่ละงวดคือ 37 ล้านฉบับคู่ จะมีผู้ค้าสลากตัวจริงที่ได้โควต้าแล้วเอาไปขายจริงราว 40 % หรือ 14.8 ล้านฉบับคู่ ที่เหลือ 60 % หรือราว 22.2 % เป็นสลากที่ถูกรับไปแล้วไปขายให้ผู้ค้ารายย่อยพวกที่เดินเร่ขาย ซึ่งว่าหลังมาตรการขายสลากตรงให้รายย่อย 5 - 50 เล่ม ต่อราย จะทำให้ยี่ปั๊วตัวปลอมยอมทิ้งโควต้า คือจะไม่เข้ามารับโควต้าสลากไปขายเหมือนปกติ ซึ่งสลากที่เหลือส่วนนี้จะถูกทดแทนด้วยความต้องการของรายย่อยและ
ประชาชนที่มาลงทะเบียนตั้งแต่ 15 ก.ย. นี้เป็นต้นไป และจะเปิดให้จองซื้อครั้งแรกในวันที่ 3 - 7 ต.ค.58 สำหรับสลากที่จะออกรางวัลในงวดวันที่ 16 ต.ค.58 นี้ และเตรียมเดินหน้าประสานธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธ.ก.ส. ) เพื่อทำหน้าที่จองซื้อสลากต่อไป
อย่างไรก็ตาม หากความต้องการซื้อสลากของประชาชนมีมากกว่าที่คาดไว้คือไม่น่าเกิน 100 ล้านฉบับ หรือ 50 ล้านใบคู่ ทางสำนักงานสลากฯ ยืนยันว่าระบบการพิมพ์มีความพร้อม เพราะมีแท่นพิมพ์3-4 แท่น ที่มีความสามารถในการพิมพ์ได้มากกว่า 1 ล้านฉบับต่อแท่นต่อวัน
ช่วงแรกคนจะแห่มาซื้อสลากมากเกินความต้องการแน่ แต่คาดว่าสลากที่พิมพ์อยู่ปัจจุบัน 74 ล้านฉบับ หรือ 37 ล้านฉบับคู่ จริงก็ขายไม่หมด และสลากที่เหลือก็อยู่ในมือพ่อค้า แม่ค้าที่แบกผลขาดทุนไว้ในแต่ละงวด ดังนั้นจึงคาดว่าจะใช้เวลา 3 - 6 เดือน สุดท้ายก็จะเหลือแต่คนที่ค้าขายสลากเป็นอาชีพตัวจริง และยืนยันว่าจะไม่มีการรับซื้อสลากคืน เพราะจะเป็นการเปิดช่องทางการทุจริต และทำให้ไม่รู้สภาพตลาดที่แท้จริงได้ " พ.ท.หนุน กล่าว
พล.ต.ฉลองรัฐ นาคอาทิตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯ กล่าวว่า สลากที่พิมพ์เสร็จแล้ว จะมีการคละหลัก 0 - 9 เตรียมไว้ชุดละ 10 เล่ม ดังนั้นผู้ซื้อจะได้สลากที่คละเล่มไปด้วย ซึ่งก็แล้วแต่ใครจะได้เล่มไหน และยืนยันว่าไม่สามารถจัดเลขสวยให้พ่อค้าได้ เพราะจะจัดส่งสลากเรียงตามข้อมูลที่ได้จากธนาคารกรุงไทย และสำนักงาน ซึ่งขั้นตอนการส่งคาดว่าสลากจะถึงมือผู้รับภายใน 3 วันหลังสั่งซื้อและได้รับเอสเอ็มเอสยืนยันเข้ามา เนื่องจากปกติสำนักงานสลาก ใช้วิธีให้ไปรษณีย์มารับและจัดส่งสลากไปขายตามภูมิภาคอยู่แล้ว
นายนิกร ราชสีเมือง เป็นหนึ่งผู้ค้ารายย่อยที่มาลงทะเบียน กล่าวว่า เดินทางมาจากหนองบัวลำภู ดีใจที่สำนักงานสลาก เปิดโควต้าจำหน่ายให้รายย่อย ที่ผ่านมาต้องไปรับซื้อสลากจากยี่ปั๊วรายใหญ่ที่ขายเกินราคามานานกว่า 8 ปี ถือเป็นอาชีพเสริมจากการทำนา ซึ่งที่ผ่านมาได้ยื่นเอกสารเพื่อขอเป็นผู้ค้ารายย่อยกับสำนักงานสลากมาตลอดแต่ไม่ได้รับการจัดสรรโควต้า มาลงทะเบียนครั้งนี้ตั้งเป้าซื้อสลาก 5 เล่มเท่าเดิม เพราะมีทุนน้อย หากขายสลากหมดจะทำให้มีรายได้ต่องวดที่ 4,800 บาท
นางมาลี แซ่เล้ง อายุ 74 ปี ให้ลูกชายพามาจากบางไทร จังหวัดอยุธยา เพื่อมาลงทะเบียนเป็นผู้ค้าสลาก ที่สำนักงานสลาก สนามบินน้ำ โดยจะใช้เงินส่วนตัวเพื่อเตรียมซื้อสลาก อยากได้ 5 เล่ม เอาไว้ขายหน้าบ้านเพราะบ้านอยู่แถวป้านรถโดยสาร ใกล้ ๆ ตลาด จึงเห็นว่าน่าจะเป็นอาชีพที่พอหารายได้ และไม่กังวลเรื่องขาดทุนหากมีคนมาขายสลากเพิ่มมากๆ เพราะเข้าใจและตรียมใจไว้แล้ว เชื่อว่าเรื่องการขายสลาก ก็เป็นอาชีพที่เสี่ยงดวง ถ้าดวงดีได้เลขสวยๆ มาขายก็น่าจะขายหมด