- Details
- Category: เศรษฐกิจทั่วไป
- Published: Friday, 20 June 2014 22:22
- Hits: 5649
คสช.ช่วยสกัดบุหรี่เถื่อนเตรียมทำคลอด'กองทิพย์ พรีเมี่ยม'บุกตลาดเออีซี
บ้านเมือง : โรงงานยาสูบยิ้ม คสช. สกัดบุหรี่ผิดกฎหมาย-หนีภาษี ไม่ให้เข้าไทย ดันยอดขายบุหรี่เดือน พ.ค.กระฉูดกว่า 20% จากยอดขายปกติ ระบุหากสถานการณ์เป็นอย่างนี้ มั่นใจยอดขายหลุดเป้าแค่ 5% จากเดิมคาด 10% พร้อมเตรียมดัน ‘กองทิพย์ พรีเมี่ยม’ ออกสู้ตลาดบุหรี่เออีซี คาดเริ่มได้ต้นปีหน้า ขณะที่ย้าย รง.ใหม่ ต้นปี 60 แน่นอน
นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ผู้อำนวยการ โรงงานยาสูบ เปิดเผยว่า สถานการณ์ตลาดบุหรี่ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านนั้น ถือว่ายอดขายตกประมาณ 10% สาเหตุจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศในช่วงที่ผ่านมา กระทบต่อภาวะเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์ในปัจจุบันคลี่คลายลงไปแล้ว ประเทศกลับมาสงบ และเดินหน้าต่อไปได้ ภายหลังการเข้ามาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ได้มีการสกัดกั้นบุหรี่เถื่อน บุหรี่หนีภาษี จากต่างประเทศที่จะลักลอบเข้ามาในไทยเอาไว้ ส่งผลทำให้ยอดขายบุหรี่ของโรงงานยาสูบกลับมากระเตื้องขึ้น
"พอทาง คสช.เข้ามาบริหารประเทศ และมีการสกัดกั้นบุหรี่หนีภาษี ไม่ให้เข้ามาในไทยได้ ส่งผลทำให้ยอดขายบุหรี่ของโรงงานยาสูบกลับสูงขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่แปลกอย่างมาก เพราะปกติในเดือน พ.ค.จะเป็นเดือนที่ยอดขายต่ำสุด โดยยอดขายในช่วงเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้นมาประมาณ 20% จากยอดขายปกติของเดือน โดยในแต่ละปีโรงงานยาสูบขายบุหรี่ได้ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท โดยตอนแรกคาดว่ายอดขายทั้งปี จะตกลงประมาณ 10% แต่เมื่อสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างนี้ ดีขึ้นอย่างนี้ ก็คาดว่ายอดขายทั้งปีจะตกลงแค่ 5% เท่านั้น"นายต่อศักดิ์ กล่าว
สำหรับ แผนการนำบุหรี่ไทยออกไปขายในตลาดต่างประเทศ โดยนำร่องตลาดในกลุ่มประเทศเออีซีนั้น เนื่องจาก โรงงานยาสูบเล็งเห็นว่าตลาดบุหรี่ต่อจากนี้ไปจะไม่ออกมาเป็นแบรนด์ใหญ่ๆ ที่ออกมาแล้วสูบกันเยอะๆ อีกต่อไป แต่จะออกในเชิงที่เป็นการตลาดเล็กๆ ย่อยๆ
ทั้งนี้ ยกตัวอย่างเช่น เกาหลี ญี่ปุ่น หากไปดูในร้านสะดวกซื้อจะเห็นว่าบนแผงบุหรี่นั้น จะมีบุหรี่ยี่ห้อต่างๆ กว่า 200 แบบ และบุหรี่ที่ขายดีสุด ก็มีสัดส่วนเพียงแค่ 3-4% เท่านั้น แบรนด์จะเยอะและซอยละเอียดมาก ดังนั้น ของไทยเราก็จะนำบุหรี่ตัวเก่งที่เรามีที่เป็นแชมป์เอเชียอยู่ออกไปแข่งขันด้วย คือ กองทิพย์ แต่จะเป็นกองทิพย์ พรีเมี่ยม ส่วนชื่อเป็นทางการจะใช้อะไรนั้น ก็จะต้องดูอีกที ซึ่งขณะนี้ก็ดำเนินการตามแผนดังกล่าวอยู่ มีการติดตั้งเครื่องจักรในการผลิตเรียบร้อยแล้ว คาดว่าภายในต้นปีหน้าจะสามารถนำออกไปแข่งขันในเออีซีได้อย่างแน่นอน
นายต่อศักดิ์ กล่าวต่อถึงแผนการย้ายโรงงานยาสูบแห่งใหม่ ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดอยุธยา มูลค่าโครงการประมาณ 16,200 ล้านบาทนั้น ขณะนี้ก่อสร้างไปแล้วประมาณ 85% โดยล่าสุดอยู่ในกระบวนการของการจัดซื้อเครื่องจักรใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาดำเนินการได้ยากมาก เพราะมีคู่แข่งขันเข้ามาน้อยราย ที่ผ่านมามีประมูลจัดซื้อเครื่องจักรไปแล้วมีคนเข้ามาแข่งขันเพียงน้อยราย และเมื่อ 3-4 เดือนก่อน ก็เพิ่งจะล้มประมูลครั้งที่ 5 เนื่องจากมีคนประมูลเพียงรายเดียวเท่านั้น แต่ขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการดำเนินงานตามขั้นตอนตามเกณฑ์ที่กำหนด
ทั้งนี้ กำหนดเดิมจะต้องเสร็จปี58 ต้นปี 59 ก็จะล่าช้าออกไปคือเสร็จประมาณ ปี 59 ต้นปี 60 โดยขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการเร่งประมูลจัดซื้อเครื่องจักร ซึ่งก็จะทันต่อการเปิดเสรีเศรษฐกิจอาเซียนในปี 60
"เราจะทยอยย้ายส่วนของโรงงานไปอยู่ที่โรจนะ ส่วนออฟฟิศอาคารสำนักงานใหญ่ ก็จะยังอยู่ที่ตั้งเดิม ขณะที่พื้นที่ที่เป็นโรงงานยาสูบปัจจุบันก็จะปรับปรุงให้เป็นสวนสาธารณะ พื้นที่กว่า 400 ไร่ ซึ่งจะเป็นสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ"นายต่อศักดิ์ กล่าว
นายต่อศักดิ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทางโรงงานยาสูบได้ร่วมมือกับบริษัท โกลด์ ดาร์กอน อินเวสเมนท์ จำกัด จากประเทศสิงคโปร์ จัดทำโครงการทดลองร่วม "การสร้างภูมิต้านทานยาสูบเพื่อต้นทานโรคไวรัส เพื่อศึกษากลไกทางสรีระวิทยาในการเสริมสร้างภูมิต้านทานของยาสูบเวอร์ยิเนีย เบอร์เลย์ และเตอร์กิช ที่มีต่อการต้านทานโรคไวรัสยาสูบ
ทั้งนี้ นับเป็นการทดลองกับพืชใบยาสูบเป็นครั้งแรกของโลก เพื่อนำผลทดลองไปพัฒนาและช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบ ด้านการเพาะปลูกใบยา และเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยตั้งเป้านวัตกรรมใหม่ของการสร้างภูมิต้านทานไวรัสในวงการพืชและเกษตรของไทย
ด้านนายชัชวาล เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ บริษัท โกลด์ ดาร์กอน อินเวสเมนท์ จำกัด กล่าวด้วยว่า การทดลองร่วมกันครั้งนี้ แบ่งการวิจัยออกเป็น 2 ส่วนคือ การทำวิจัยจากห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาที่ประเทศอินโดนีเซีย และจากแปลงทดลองของโรงงานยาสูบ สถานีทดลองแม่โจ้ สำนักงานยาสูบสุโขทัย และสำนักงานยาสูบนครพนมในไทย จะมีการเก็บตัวอย่างไวรัสแล้วนำไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ จากนั้นทดลองปลูกใบยาสูบในเรือนกระจก และติดตามประเมินผลจนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว อบใบยา เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพผลผลิตจนถึงปลายทาง โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการทดลองประมาณ 2 ปี