WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

10192 NXPO

สอวช. เร่งเครื่องใช้ อววน. แก้โจทย์ยากประเทศ ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก แก้ยากจน ลดเหลื่อมล้ำ พ้นกับดักรายได้ปานกลาง สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

          ในระหว่างวันที่ 3 - 4 ตุลาคม 2566 ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) พร้อมด้วยผู้บริหาร และบุคลากร สอวช. ได้เข้าร่วมนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยของหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และ Policy Forum เพื่อสนับสนุนการทำงานในกระบวนการนิติบัญญัติ ที่อาคารรัฐสภา โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานในพิธีเปิด ในงานยังได้มีการจัดประชุมห้องย่อย นำเสนอภาพรวมผลงาน ววน. โดยแบ่งออกเป็น 6 theme ได้แก่ 1) “ปาก ท้อง ดี” ขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างเศรษฐกิจฐานราก 2) เกษตรและอาหาร พลังเพื่ออนาคตไทย 3) สิ่งแวดล้อมดี “ดังและร้อน: ลด และ รับ กับภาวะโลกรวน” 4) สุขภาพดี “ก้าวที่มั่นคงของสุขภาพคนไทยด้วย ววน.” 5) สูงวัยดี มีพฤฒิพลัง และ 6) สร้างกำลังคนดี ประเทศมีอนาคต “การพัฒนากำลังคนด้าน ววน. และการสร้างกำลังคนทักษะสูง”

          ดร.กิติพงค์ ได้กล่าวถึงโจทย์การพัฒนาที่สำคัญและโอกาสของการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อววน.) ที่จะเข้าไปช่วยตอบโจทย์ประเทศได้มี 5 โจทย์หลัก ได้แก่ 1. โจทย์ด้านเศรษฐกิจ คือ อววน. จะช่วยนำประเทศออกจากกับดักรายได้ปานกลางสู่ประเทศรายได้สูง ซึ่งการที่ประเทศจะเข้าสู่ประเทศรายได้สูงได้นั้น ประชากร ต้องมีรายได้ 400,000 บาท ต่อคนต่อปี หรือเดือนละ 30,000 บาท ขณะที่คนที่อยู่ตรงกลางของประชากร 76 ล้านคน มีเงินเดือนประมาณ 7,000 บาท มองว่า อววน. จะเข้าไปมีส่วนช่วยให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้ประมาณ 10% 2. โจทย์ความต่างกันของภาครายได้ ประเทศไทยมีประเด็นแตกต่างจากประเทศอื่นคือ คนที่มีรายได้สูงสุดกับคนที่มีรายได้ต่ำสุด ตัวเลขแตกต่างกันมาก ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตต่างกันและเกิดเป็นความเหลื่อมล้ำที่เป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศ

          3. โจทย์เชิงสังคม ในการสร้างสังคมที่อยู่ได้อย่างมีคุณภาพ เชื่อมโยงกับสถาบันครอบครัว การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสามัคคีปรองดอง 4. โจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน ที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เปลี่ยนจากภาวะโลกร้อนเข้าสู่ภาวะโลกเดือด ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคการเกษตร สุขภาพและภัยพิบัติ 5. โจทย์อนาคตของประเทศ ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับ 2 เรื่องหลักคือ เรื่องของความรู้ ที่เราต้องรักษาความรู้บางอย่างไว้ เพื่อไล่กวดให้ทันกับวิทยาการที่เกิดขึ้นในโลก เช่น ฟิสิกส์พลังงานสูง (High energy physics), จีโนมิกส์ (genomics), การส่งดาวเทียมไปนอกโลก หรือ เรื่องของดาราศาสตร์ อีกเรื่องหนึ่งคือ การพัฒนาคน ในมุม อววน. เราให้ความสำคัญกับคนไทยทุกกลุ่มตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงหลังเกษียณ ดูว่าต้องทำอย่างไรให้เรามีกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง เพิ่มผลิตภาพแรงงาน ทำให้คนมีอาชีพ โดยโจทย์สำคัญที่มุ่งเน้นคือการยกระดับประชากรกลุ่มฐานราก

          ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า เรามีสภานโยบาย อววน. ขึ้นมา โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรัฐมนตรีจาก 10 กระทรวงฯ และมีผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ ร่วมกันเสนอนโยบาย ยุทธศาสตร์ ปลดล็อกในด้านต่างๆ โดยแบ่งเป็น 2 ด้าน คือด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ และด้าน ววน. ของประเทศ จนเกิดโครงการที่เป็นประโยชน์มากมายที่ตอบโจทย์ความท้าทายของประเทศ อาทิ สังคมสูงวัย หนี้ภาคครัวเรือน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโรคอุบัติใหม่ การเปลี่ยนทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ความมั่นคงทางพลังงาน อาหาร และน้ำ

          ดร.กิติพงค์ ยังได้ร่วมการเสวนา “อนาคตประเทศไทย: ก้าวย่างของการมุ่งสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วด้วย ววน.” โดยกล่าวว่า เมื่อเทียบกับ 30 ปีก่อน ถือว่าประเทศไทยก้าวไปไกลมาก เราสร้างโครงสร้างพื้นฐานเฉพาะทางไว้มากมาย มีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาจาก 0.22% เพิ่มเป็น 1.21% คิดว่าช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่เราสามารถเก็บเกี่ยวผลจากงานที่ลงทุนไปได้แล้ว ยกตัวอย่างโครงการ IDEs (Innovation Driven Enterprise) ตั้งเป้า 5 ปี สามารถผลิตผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมได้ 1,000 ราย มีค่าเฉลี่ยผลประกอบการรายได้รายละ 1,000 ล้านบาท หลายปีก่อน คนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ตอนนี้เรามีเครื่องมือ กลไกต่างๆที่เข้ามาสนับสนุนเรื่องนี้ เช่น การออกกฎหมายส่งเสริมมหาวิทยาลัยทำ Holding company รวมถึงยังมีอุทยานวิทยาศาสตร์ที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค มีมหาวิทยาลัยเป็นเครือข่ายกว่า 55 แห่ง สามารถรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนได้เป็นอย่างดี 

          ด้าน ดร.สิริพร พิทยโสภณ รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวช่วงหนึ่งของการสัมมนา ในหัวข้อ “นโยบาย ปากท้องดี โดย ววน.” ตัวชี้วัดความยากจนจากผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 2,800 บาทต่อเดือน ประเทศไทยมีคนยากจนอยู่ถึง 4.4 ล้านคน นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เพื่อแก้ปัญหาความยากจน มีความชัดเจนในทุกแผนงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ที่ให้ความสำคัญ ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่จะนำระบบ ววน. ลงไปดำเนินการแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาสการเรียนรู้ สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจระดับชุมชน โดยใช้งบประมาณจากกองทุน ววน. ผ่านหน่วยบริหารจัดการทุนทั้ง 9 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีพลังของมหาวิทยาลัย ที่มีระบบนิเวศเข้ามาสนับสนุน ทั้งโรงงานต้นแบบ สามารถสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่นให้เข้าไปใช้ประโยชน์ได้ รวมทั้งมีระบบมัลติมีเดีย ที่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่ได้อีกด้วย

          ด้าน ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวในหัวข้อ “สิ่งแวดล้อมดี ลดและรับ กับภาวะโลกร้อน” จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแก้ปัญหาจะทำโดยประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ได้ ทั่วโลกต้องร่วมด้วยช่วยกันแก้ปัญหา ดังนั้นจึงมีการจัดการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ หรือ COP ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่างกฎระเบียบวางระบบของโลก โดยประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ว่าไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) โดย สอวช. เป็นผู้ประสานงานหลักของหน่วยประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีการจัดทำนโยบายที่ให้ความสำคัญต่อการใช้พลังงานหมุนเวียน ประหยัดพลังงาน มุ่งสู่เศรษฐกิจไฮโดรเจน โดยเริ่มมีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีสำหรับการเกษตร สุขภาพ ฯลฯ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน 

          ดร.สุรชัย กล่าวอีกว่า แม้งานวิจัยจะมีส่วนช่วยในเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ไม่มาก แต่มีความสำคัญที่ต้องทำเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ สร้างความเชื่อมั่นเพื่อนำไปใช้ต่อในระดับโลก นอกจากนี้ สอวช. ยังได้ดำเนินโครงการ สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เพื่อมุ่งสู่การเป็นต้นแบบ Net Zero City ซึ่งต้องดึงประชาชน และภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมาออกแบบโครงการร่วมกัน

 

 

A10192

Click Donate Support Web 

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

MTL 720x100

kasat 720x100TOA 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100

iconmotor

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!