- Details
- Category: เศรษฐกิจทั่วไป
- Published: Sunday, 20 November 2022 01:07
- Hits: 1584
สอวช.จับมือเครือข่ายสมัชชาสุขภาพ ใช้ BCG ขจัดความยากจน ยก ‘สกลนคร’ เป็นเมืองเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular City จังหวัดต้นแบบใช้ขยะสร้างรายได้ ขับเคลื่อนจากภาคประชาชน
เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า การขจัดความยากจนและยกระดับเศรษฐกิจของครัวเรือนกลุ่มฐานราก โดยใช้แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ที่เน้นการเติบโตเชิงคุณภาพ สร้างความเข้มแข็งจากภายใน เชื่อมไทยสู่ประชาคมโลก และยังเป็นวาระสำคัญในการขับเคลื่อนเอเปค 2565 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ เพื่อตอบโจทย์การฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ในส่วนของ สอวช. ได้รับเลือกจากคณะกรรมการสมัชชาสุขภาพ ให้เป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อนประเด็น การขจัดความยากจนตามโมเดล BCG การยกระดับเศรษฐกิจของครัวเรือน ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ประเด็นหลักของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 15 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 21-22 ธันวาคม 2565 และจะเสนอรัฐบาลเป็นวาระแห่งชาติต่อไป
ดร.กาญจนา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ตนพร้อมด้วยทีมงาน สอวช. ก็เข้าร่วมประชุมสมัชชาสุขภาพจังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นจังหวัดที่ สอวช.เลือกมาเป็นต้นแบบในการขับเคลื่อน BCG เนื่องจากมีความเข้มแข็งในหลายมิติ และมีความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ วิสาหกิจชุมชน และประชาชนในท้องถิ่น โดยเฉพาะในประเด็นการใช้ขยะสร้างรายได้ผ่านโครงการ “ธนาคารขยะ” ที่ชุมชนนาเวง อ.เมือง ซึ่งเป็นชุมชนถนนปลอดถัง มีนายทองปาน และนางอัจฉราวรรณ รักษาพล เป็นผู้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2558 มีสมาชิกกว่า 200 ราย และมีเทศบาลนครสกลนคร เป็นที่ปรึกษา ซึ่งสมาชิกทุกคนจะมาเปิดบัญชีกับธนาคารขยะ และนำขยะมาฝากไว้ที่ธนาคารขยะ โดยทางธนาคารจะคณะกรรมการขยะซึ่งเป็นจิตอาสามาช่วยคัดแยก และทางเทศบาลก็จะนัดรถมารับไปจำหน่ายนะจุดรับซื้อ และนำเงินมาเก็บไว้ในบัญชีรายบุคคลของธนาคารขยะ ซึ่งสมาชิกสามารถมาเบิกได้เมื่อจำเป็น นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มซาเล้ง ที่ซื้อขยะตามบ้าน สำหรับผู้ที่ต้องการใช้เงินด่วน หรือในบ้านที่เป็นผู้สูงอายุ ไม่สะดวกในการนำขยะมาที่ธนาคาร ก็จะขายให้กับซาเล้งที่รับซื้อตามบ้าน และได้รับเงินทันที แต่หากใช้บริการธนาคารขยะ จะเป็นเงินฝาก ราคารับซื้อก็จะพอๆ กัน แล้วแต่ว่าใครจะเลือกแบบไหน แต่ทุกบ้านจะไม่มีถังขยะอยู่หน้าบ้าน
นายทองปาน ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการ กล่าวว่า ที่ตนทำโครงการธนาคารขยะขึ้นมา เนื่องจากอยากให้เมืองสกลนครสะอาด และมองว่า ถังขยะไม่ใช่แจกันหรือของประดับที่สวยงามที่จะตั้งอยู่หน้าบ้าน และขยะก็สามารถนำหมุนเวียนมาใช้ประโยชน์ได้ สำหรับบ้านตน ซึ่งเป็นที่ตั้งของธนาคารขยะชุมชนนาเวง นั้น ก็เป็นหอพัก มีขยะมาก และแจ้งกับผู้พักอาศัยว่า ให้แยกขยะ ในถังขยะทั่วไป และขยะที่สามารถขายได้ โดยขยะทั่วไปที่เป็นเศษอาหารก็จะนำมาทำเป็นขยะอินทรีย์ซึ่งมีสมาชิกมาร่วมประมาณ 20 ครัวเรือน สามารถนำไปเป็นปุ๋ยใส่ต้นไม้ได้ และพยายามจะขยายผลเพิ่มขึ้น โดยทางเทศบาลเองก็ช่วยได้มาก และก็มาให้ความรู้ว่าขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายขยายผลเรื่องการจัดการขยะอินทรีย์ ที่จะเอาไปขายเป็นคาร์บอน เครดิต ลดก๊าซเรือนกระจก มีการซื้อขายกัน กิโลกรัมละ 3 บาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการทำกันมากและกำลังรณรงค์กันอยู่ เป็นเพิ่งช่วงเริ่มต้นที่ทางเทศบาลจะแจ้งให้ชาวบ้านที่สนใจเข้าร่วมโครงการก็จะนำถังหมักมาให้ชาวบ้านทำกันเองและจะมารับซื้อต่อไป ส่วนการกำจัดขยะทางเทศบาลจะใช้วิธีฝังกลบที่บ่อคำผักแพว และมีการจัดระบบบำบัดน้ำเสียควบคู่ไปด้วย ส่วนพลาสติก็จะแยกไปนำไปใส่เตาเผาเพื่อหลอมและกลั่นเป็นน้ำมัน
ดร.กาญจนา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากความเข้มแข็งของ จ.สกลนคร กับการจัดการขยะ ซึ่งถูกขับเคลื่อนมาจากชาวบ้านและกลุ่มซาเล้ง โดยมีเทศบาลนคร เป็นพี่เลี้ยงที่ดีมาก ทาง สอวช. จึงได้หารือกับสมัชชาจังหวัดสกลนคร และมีมติร่วมกันว่า จะยก จ.สกลนคร เป็นเมืองเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular City เพื่อเป็นโมเดลต้นแบบของประเทศ ซึ่งนอกจากจะส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อมแล้ว ประชาชนยังมีรายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นด้วย
A11916