- Details
- Category: เศรษฐกิจทั่วไป
- Published: Wednesday, 14 September 2022 23:33
- Hits: 1685
สอวช. ร่วมแสดงเจตนารมณ์พัฒนากำลังคนบนแพลตฟอร์มอัจฉริยะร่วมกับ 52 หน่วยงาน ‘ดร.กิติพงค์’ ตั้งเป้าผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงให้ได้ 200,000 คน ภายใน 5 ปี
เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดย ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เข้าร่วมงาน “คุณวุฒิวิชาชีพ คุณวุฒิของคนทำมาหากิน” จัดโดย สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และร่วมแสดงเจตนารมณ์ร่วมกับ 52 หน่วยงาน เพื่อพัฒนาและเชื่อมโยงข้อมูลด้านกำลังคนบนแพลตฟอร์มอัจฉริยะในการบริหารจัดการข้อมูลด้านกำลังคน และการพัฒนาสมรรถนะเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (E-Workforce Ecosystem Platform) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์ม โดยสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการกำหนดนโยบาย ทิศทางการพัฒนาแรงงานของประเทศ และบริหารจัดการห่วงโซ่อุปสงค์ และอุปทาน ให้ไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งใช้ในการพัฒนาสมรรถนะกำลังของประเทศด้วย
ดร. กิติพงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันการศึกษา การจ้างงาน และการประกอบอาชีพ เปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก ดังนั้นจึงต้องมีแพลตฟอร์มใหม่ๆ เพื่อช่วยให้นักศึกษาหรือคนทำงาน มีโอกาสและความเท่าเทียมกันในการพัฒนาทางอาชีพ ในส่วนของ สอวช. เรามีแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ ทำหน้าที่ช่วยส่งเสริมการปรับทักษะ ยกระดับทักษะ (Reskill Upskill) และจับคู่กำลังคนไปสู่การทำงานและการประกอบอาชีพ คือ แพลตฟอร์ม STEMPlus (https://stemplus.or.th/) ที่มีบริการสำคัญให้ผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการใน อุตสาหกรรมเป้าหมาย และมีการจ้างงานในตำแหน่งที่สอดคล้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้ทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ (สะเต็ม) ที่ได้จ้างพนักงานใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นมา สามารถนำค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินเดือนพนักงานไปขอยกเว้นภาษีเงินได้จากกรมสรรพากร ได้ 150% นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ส่งลูกจ้างเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรที่ได้รับการรับรอง ตามมาตรการ Thailand Plus Package ยังได้รับสิทธิประโยชน์ในการนำค่าใช้จ่ายในการอบรมไปหักภาษีได้ 250%
ดร. กิติพงค์ กล่าวว่า มีหลักสูตรที่ผ่านการอนุมัติตามมาตรการ Thailand Plus Package ไปแล้วกว่า 400 หลักสูตร มีผู้ผ่านการอบรมมากกว่า 15,000 คน และในจำนวนนั้น มีคนที่สามารถจับคู่ให้เข้าทำงานได้กว่า 700 คน ทำให้ทุกคนที่เข้ามาพัฒนาศักยภาพ มีโอกาสเข้าไปสู่อาชีพได้อย่างทั่วถึง ซึ่งอาชีพที่สำคัญติดอันดับ 1 ใน 10 เป็นอาชีพที่ต้องใช้ทักษะการทำงานและความรู้ค่อนข้างสูง เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูล ฯลฯ ที่จะสามารถเข้าไปทำงานในองค์กรใหญ่ หรือบางคนมีความสามารถพัฒนาเป็นแพลตฟอร์ม และผันตัวเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพด้านต่างๆ ทั้งด้านเกษตรอัจฉริยะ ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การทำเนื้อหาเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งมีการอบรมเพื่อให้นำไปประกอบอาชีพอิสระได้ด้วย โดยมีเป้าหมายจะผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงให้ได้ 200,000 คน ภายใน 5 ปี
A9566