- Details
- Category: เศรษฐกิจทั่วไป
- Published: Tuesday, 30 August 2022 13:11
- Hits: 1058
ยกย่อง 10 โครงการวิจัยดีเด่นแก้จน-เสริมภูมิสู้วิกฤตเศรษฐกิจฐานราก
บพท.ประกาศ 10 งานวิจัยดีเด่น เป็นข้อยืนยันสรรพคุณวิชาความรู้จากงานวิจัยแก้ปัญหายากจนได้กว่า 9 หมื่นคน และพลิกฟื้นผู้ประกอบการเศรษฐกิจฐานราก จากพิษโควิด-19 ได้กว่า 583 ราย อีกทั้งยังสร้างนวัตกรรม ขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรได้ถึง 25 รายการ
นายกิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า บพท. ได้ดำเนินงานร่วมกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อทำการวิจัยแนวทางแก้ปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำ ร่วมกับชุมชน เอกชนและราชการส่วนท้องถิ่น โดยดำเนินการในพื้นที่ 20 จังหวัด จนสามารถช่วยเหลือผู้ยากจนที่ตกสำรวจแล้วกว่าแปดแสนคน
“ขอบเขตการดำเนินงานของ บพท.ครอบคลุมการส่งเสริมงานวิจัยเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง และวิจัยเพื่อพัฒนาชุดความรู้ใหม่ ช่วยเหลือทั้งระดับบุคคล ครัวเรือน ชุมชน ซึ่งแปลงเป็นโครงการและกิจกรรม เช่น การส่งต่อผู้ยากจนเข้าสู่ระบบสวัสดิการของรัฐ การวิจัยเพื่อยกระดับการประกอบอาชีพ การวิจัยเพื่อส่งเสริมทักษะทางการเงิน และการวิจัยเพื่อยกระดับความสุขและความรู้ของชุมชน เป็นต้น”
ผู้อำนวยการ บพท. ชี้แจงด้วยว่า ทุกงานวิจัยที่ บพท. เข้าไปมีบทบาทให้การสนับสนุน ล้วนบรรลุเป้าหมายทั้งในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนเสริมสร้างฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก ให้เกิดความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน โดยที่มีงานวิจัยซึ่งได้รับการพิจารณาคัดเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิ ให้ได้รับการยกย่องเป็นงานวิจัยดีเด่น จำนวน 10 โครงการ ซึ่งสร้างผลลัพธ์ ผลสัมฤทธิ์ และผลกระทบที่ชัดเจน ในการแก้ไขปัญหาคนจนได้อย่างยั่งยืน โดยช่วยให้คนจนกว่า 90,000 คน มีที่ยืนในห่วงโซ่คุณค่า ทำให้เกิดอาชีพและสร้างรายได้ด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันก็ช่วยยกระดับขีดความสามารถแก่ผู้ประกอบการระดับเศรษฐกิจฐานราก ที่ต้องเผชิญวิกฤตอันเนื่องมาจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายด้านไปแล้วกว่า 583 ราย อีกทั้งยังก่อเกิดนวัตกรรม ที่สามารถขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรถึง 25 รายการ
ทั้งนี้โครงการวิจัยดีเด่นทั้ง 10 โครงการ ครอบคลุมงานวิจัยรวม 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการพัฒนาเชิงระบบหรือนโยบายระดับชาติ จังหวัดหรือท้องถิ่น และด้านการแก้ปัญหาและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและอาชีพ รวมทั้งด้านการอนุรักษ์ พัฒนาและจัดการภูมิปัญญา ทรัพยากรและทุนของชุมชน
สำหรับโครงการวิจัยดีเด่นด้านการพัฒนาเชิงระบบหรือนโยบายระดับชาติ จังหวัด หรือท้องถิ่น ประกอบไปด้วยโครงการสร้างเมืองปูทะเล กลางวิกฤตที่ปัตตานี ของคณะวิจัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นำโดย รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม โครงการธุรกิจปันกัน เสริมสภาพคล่องด้วยวัคซีนทางการเงิน ของคณะวิจัย มหาวิทยาศิลปากร นำโดย ผศ.ดร.บัณฑิต อินณวงศ์ และโครงการระบบบริหารครัวเรือนยากจน แบบร่วมมือระดับพื้นที่ ของมหาวิทยาลัยกาฬสินธ์ุ นำโดย รศ.ดร.จิระพันธ์ ห้วยแสน
โครงการวิจัยดีเด่น ด้านการแก้ปัญหาและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและอาชีพ ประกอบด้วย โครงการการพัฒนาศักยภาพกลุ่มผลิตผ้าไหมจังหวัดสุรินทร์ด้วยนวัตกรรมสำหรับชุมชน ของคณะวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นำโดย ดร.ภรณี หลาวทอง โครงการปฏิบัติการกระจูดแก้จนจากข้อมูลสู่การสร้างโมเดลแก้จนแบบมีส่วนร่วมและกระบวนการเสริมพลังจังหวัดพัทลุง ของคณะวิจัยมหาวิทยาทักษิณ นำโดย รศ.ดร.สมัคร แก้วสุกแสง โครงการผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากพื้นพื้นถิ่นมะม่วงเบา ยางพาราและพริก ของคณะวิจัยมหาวิทยาลัยฟาฏอนี นำโดย ผศ.ดร.อนุวัติ วอลี และโครงการการพัฒนาโคเนื้อจังหวัดน่าน ด้วยกลไกความร่วมมือเชิงพื้นที่ ของคณะวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ผศ.น.สพ.ดร.วินัย แก้วละมุล
โครงการวิจัยดีเด่นด้านการอนุรักษ์ พัฒนาและจัดการภูมิปัญญา ทรัพยากรและทุนของชุมชน ประกอบด้วยโครงการจัดการทรัพยากรป่าประ นบพิตำ สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์และการอนุรักษ์ยั่งยืน ของคณะวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช นำโดย ผศ.ดร.สมรักษ์ รอดเจริญ โครงการ Learning City Lampang Model ของคณะวิจัย ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งลำปาง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต นำโดย ดร.ขวัญนภา สุขคร โครงการ Phayao Learning City; City of Local Wisdom ของคณะวิจัยมหาวิทยาลัยพะเยา นำโดย รศ.ดร.ผณินทรา ธีรานนท์
A81121