- Details
- Category: เศรษฐกิจทั่วไป
- Published: Thursday, 26 May 2022 21:23
- Hits: 5236
สอวช. ชูเศรษฐกิจหมุนเวียน กุญแจหลักขับเคลื่อนประเทศไทยบรรลุเป้าหมายเศรษฐกิจบีซีจี
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดย ศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค (APEC Center for Technology Foresight) จัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการคาดการณ์เทคโนโลยีรองรับเศรษฐกิจหมุนเวียน ครั้งที่ 1 (Circular Economy Technology Foresight Workshop) ในรูปแบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำแผนที่นำทางเทคโนโลยีรองรับเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และจัดทำข้อเสนอกลไกความร่วมมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน สำหรับงานนี้ ได้รับเกียรติจาก ศ. (พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวเปิดงานประชุม พร้อมเน้นย้ำว่า รัฐบาลไทยกำลังทำงานตามแผนขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตามที่ได้กำหนดให้ บีซีจี โมเดลเป็นวาระแห่งชาติ
กระทรวง อว. ในฐานะเลขานุการฯ ของคณะกรรมการบริหารฯ ดำเนินงานจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ บีซีจี พ.ศ.2564-2570 เพื่อใช้เป็นกรอบการทำงาน ซึ่งจากการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา พบว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนคือหนึ่งในกุญแจหลักของการขับเคลื่อนวาระแห่งชาตินี้ให้ประสบผลสำเร็จ และเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจชีวภาพและเศรษฐกิจสีเขียวเดินหน้าขับเคลื่อนไปพร้อมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“เศรษฐกิจหมุนเวียนไม่ใช่แค่การรีไซเคิลขยะ แต่เกี่ยวกับการให้ความสำคัญในทุกขั้นตอนกระบวนการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ ในขั้นตอนการออกแบบ การผลิต การบริโภค ที่คำนึงถึงการใช้งานผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบแต่ละอย่างให้คงประโยชน์นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงจำเป็นต้องอาศัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) และโมเดลธุรกิจที่สามารถปฏิบัติได้จริง รวมถึงขั้นตอนปลายน้ำ ในการสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นในสังคม และความร่วมมือกับภาคเอกชน ที่มีความสำคัญยิ่งในการทำงานให้ประสบผลสำเร็จ” ดร. เอนกกล่าว
ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า ประเทศไทยตั้งเป้าหมายในการก้าวเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2608 ซึ่งการจะดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้นั้น โมเดลเศรษฐกิจ บีซีจี ถือเป็นแนวทางหลักที่ทำให้ก้าวไปสู่จุดหมายได้อย่างประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนทั้ง 3 องค์ประกอบ ทั้งเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวให้เดินไปข้างหน้าจำเป็นต้องอาศัย 4 ยุทธศาสตร์หลักในการขับเคลื่อนคือ 1) สร้างความยั่งยืนของความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ 2) สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจท้องถิ่น 3) สร้างศักยภาพทางการแข่งขันให้กับโมเดลธุรกิจในระดับอุตสาหกรรม และ 4) สร้างความสามารถในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง
ยุทธศาสตร์ทั้ง 4 จะช่วยขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ บีซีจี ให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างงานที่มีมูลค่าสูงที่จะช่วยส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจในระยะยาว สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยการลงทุนด้านเทคโนโลยีและองค์ความรู้ นับเป็นความท้าทายที่ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการเติบโตขององค์ความรู้ด้าน วทน. และความร่วมมือจากทุกคนในสังคม
สอวช. ยังได้นำเสนอวิสัยทัศน์ พ.ศ. 2573 ในการดำเนินการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้แก่ 1.ลดการใช้ทรัพยากรลง 1 ใน 3 2.ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30 เมตริกตันเทียบเท่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ 3.สร้างมูลค่าจากเศรษฐกิจหมุนเวียนร้อยละ 3 ของจีดีพี ซึ่งเป้าหมายนี้ ประเทศไทยได้เรียนรู้จากกรณีศึกษาของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนและพบว่าปัจจัยที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้คือการมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการจัดการขยะทุกรูปแบบ ทั้งขยะอาหารหมุนเวียน การขนส่ง การรีไซเคิล การก่อสร้างสีเขียวและเมืองอัจฉริยะ เป้าหมายเหล่านี้สร้างโอกาสในเรื่องนวัตกรรมการออกแบบหมุนเวียน การสร้างแพลตฟอร์มการทำงานรูปแบบใหม่ สร้างงานและผู้ประกอบการเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่จะเป็นแนวทางนำไปสู่การสร้างเมืองเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องมีฐานในการสนับสนุนการสร้างศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นระบบมาตรฐาน โครงการวิจัยและพัฒนา มาตรการและแรงจูงใจ เครื่องมือการลงทุน และการส่งเสริมการค้าและการส่งออกที่เข้มแข็งด้วย
ทั้งนี้ สอวช. เตรียมนำเสนอรายละเอียดแนวทางการปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทยทั้งหมดไว้ในสมุดปกขาว รายงานการวิจัยเชิงระบบ ระบบนิเวศนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน: วิสัยทัศน์ 2030 (Circular Economy Innovation Ecosystem: Vision 2030)
การประชุมในครั้งนี้ยังได้มีการนำเสนอกรณีศึกษาจากประเทศออสเตรเลียและไต้หวันที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ในระดับชุมชนและระดับอุตสาหกรรม อีกทั้งยังมีผู้ประกอบการและนักวิชาการจากภาคการศึกษา ภาคเอกชน และภาครัฐจำนวนกว่า 60 คน จาก 13 ประเทศ ทั้งในเอเชีย ยุโรปและออสเตรเลีย เข้าร่วมแสดงความเห็นและเสนอแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนทั้งในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาวให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการคาดการณ์เทคโนโลยีรองรับเศรษฐกิจหมุนเวียน ครั้งที่ 1 นี้ มุ่งเน้นการระดมความเห็นในสองประเด็น ประเด็นแรกคือ แนวโน้มระดับโลกและผลกระทบต่อเศรษฐกิจหมุนเวียน (Global Trends and Impacts) โดยแบ่งหัวข้อของแนวโน้มออกเป็น 1) สังคม 2) เทคโนโลยี 3) เศรษฐกิจ 4) สิ่งแวดล้อม 5) การเมือง และ 6) คุณค่า ส่วนประเด็นที่สองคือความท้าทายและข้อเสนอแนวทางการแก้ไข (Challenges and Solutions)
ในช่วงท้ายของการประชุม ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สอวช. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค (APEC Center for Technology Foresight) กล่าวว่า ผลของการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้จะมีการสรุปเพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการคาดการณ์เทคโนโลยีรองรับเศรษฐกิจหมุนเวียน ครั้งที่ 2 ที่มีกำหนดจัดในปลายเดือนมิถุนายนนี้ โดยผลที่ได้จากการประชุมทั้งสองครั้งจะนำไปเสนอในเวทีการประชุมรัฐมนตรีด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI Ministerial Meeting) ที่มีกำหนดจัดขึ้นในประเทศไทยในเดือนสิงหาคม รวมถึงการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค (APEC Summit) ที่มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้
A5897