- Details
- Category: เศรษฐกิจทั่วไป
- Published: Tuesday, 22 February 2022 17:22
- Hits: 10139
สอวช. ร่วมเวทีประชุมกรอบความร่วมมือด้านนโยบายด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมของเอเปค
APEC Policy Partnership on Science, Technology and Innovation (PPSTI) ครั้งที่ 19
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมการประชุมกรอบความร่วมมือด้านนโยบายด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมของเอเปค APEC Policy Partnership on Science, Technology and Innovation (PPSTI) ครั้งที่ 19 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 ผ่านการประชุมรูปแบบออนไลน์ ภายใต้การประชุม PPSTI ศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค (APEC Center for Technology Foresight) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มี สอวช. เป็นเจ้าภาพในประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดงานเสวนานานาชาติ ในหัวข้อ Realizing Bio-Circular-Green Economy: Promoting Circular Economy through Technology, Innovation, and Business Models เพื่อนำเสนอแนวคิดของโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี โดยเชิญวิทยากรจากทั้งภาครัฐ องค์การระหว่างรัฐบาล ภาคเอกชน รวมถึงภาคการศึกษา มาร่วมเวทีบรรยายแบ่งบันประสบการณ์และสนับสนุนบทบาทของเทคโนโลยี นวัตกรรม และบทบาทของภาคธุรกิจ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. เป็นประธานกล่าวเปิดงาน
ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช. ได้เริ่มบรรยายในหัวข้อ “เศรษฐกิจบีซีจี : บทบาทของเศรษฐกิจหมุนเวียนในการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยได้กล่าวถึงเป้าหมายด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ของไทย ซึ่งหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว คือ โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี ที่ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy Economy) เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิตและบริการบนฐานทรัพยากรชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นการทำให้สามารถที่จะหมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้นานที่สุดและลดการใช้ทรัพยากรใหม่ลง และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เป็นเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี จะเน้นการพัฒนาใน 4 สาขา ได้แก่ เกษตรและอาหาร, พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ, สุขภาพและการแพทย์, ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมองภาพรวมเป็นพีระมิด ซึ่งด้านบนของพีระมิดจะเกี่ยวกับการเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการให้สูงขึ้นด้วยการใช้วิทยาการขั้นสูงในการขับเคลื่อน แต่มีจำนวนผู้เกี่ยวข้องไม่มากนัก ส่วนที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกันคือฐานล่างของพีระมิด ที่ต้องใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ซึ่งจะมีคนได้ประโยชน์เป็นกลุ่มใหญ่ เช่น เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน รวมถึง SME
อย่างไรก็ตาม ในการขับเคลื่อนบีซีจี ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพ APEC 2022 ได้ตั้งเป้า Bangkok Goals on BCG 2022 ไว้ 5 เป้าหมาย คือ 1. เป้าหมายการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ความเป็นกลางทางคาร์บอน การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ 2. แนวทางลดขยะให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) การส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน 3. การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ และการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน 4. การให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และเทคโนโลยีดิจิทัล และ 5. ความครอบคลุมทางสังคม (Social Inclusion) รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
นอกจากนี้ ดร.กาญจนา ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่เป็นระบบเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าให้มากที่สุด โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นฐานการดำเนินการ ซึ่งกรอบการพัฒนายุทธศาสตร์เศรษฐกิจหมุนเวียน ในปี 2030 ได้ตั้งเป้าในการลดการใช้ทรัพยากรลง 1 ใน 4, ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อย 15 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ และสร้างมูลค่าจากเศรษฐกิจหมุนเวียน ร้อยละ 3 ของจีดีพี
สำหรับโอกาสในการสร้างความร่วมมือขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับนานาชาติ แบ่งออกได้เป็น 4 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย 1. Circular Economy Digital Platform ซึ่ง สอวช. อยู่ระหว่างการจัดทำ Circular Economy Innovation Policy Platform ในรูปแบบเว็บไซต์ เพื่อเป็นแพลตฟอร์มให้ผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจได้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รับข่าวสารด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน และเป็นพื้นที่ให้เกิดการทำงานร่วมกันของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยสามารถใช้แพลตฟอร์มนี้เป็นตัวกลางเชื่อมองค์ความรู้ เครือข่าย และขยายความร่วมมือจากเขตเศรษฐกิจเอเปคได้อีกด้วย 2. Best Practice Sharing เป็นการสร้างเครือข่ายตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางปฏิบัติที่ดีระหว่างผู้เล่นในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เชื่อมความร่วมมือจากผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภค และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน 3. สอวช. ได้เล็งเห็นโอกาสที่จะใช้กระบวนการจัดทำแผนที่นำทางเทคโนโลยี เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในต่างประเทศ และสร้างช่องทางการได้มาซึ่งข้อมูลความต้องการ สถานภาพ และศักยภาพทางเทคโนโลยีของประเทศสมาชิก อันจะนำไปสู่การริเริ่มโครงการความร่วมมือทางเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของผู้เล่นในประเทศไทยและเขตเศรษฐกิจเอเปค ตลอดจนเป็นการยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในเวทีระดับโลก 4. สอวช. ในฐานะ National Designated Entity ทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีของ UNFCCC มีหน้าที่ประเมินและจัดทำแผนปฏิบัติการเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งนี้จำเป็นต้องมีนโยบายสนับสนุนที่เหมาะสมด้วย ซึ่งเวทีกลุ่ม PPSTI และเวทีเอเปค สามารถเป็นแพลตฟอร์มกลางที่สนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกันของสมาชิกเอเปคในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างครอบคลุมและยั่งยืน สามารถตอบโจทย์เป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้
ด้าน ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สอวช. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค และผู้ดำเนินการประชุม ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในช่วงปิดการประชุม ถึงบทบาทของศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค ที่เป็นกลไกระยะยาว (Long-Term Mechanism) ที่ตั้งในประเทศไทยของเอเปค ว่ามีหน้าที่พัฒนาศักยภาพในการมองอนาคต (Foresight) และเผยแพร่ความรู้ให้กับทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และมีแผนการจัดแผนที่นำทางเทคโนโลยีด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยจะจัดขึ้นครั้งแรกในปลายเดือนมีนาคม 2565 นี้
ภายในงานเสวนาครั้งนี้ ยังได้รับเกียรติจาก Dr. Mushtaq Memon ผู้ประสานงานระดับภูมิภาคด้านประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) สำนักงานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มาบรรยายในหัวข้อ “เศรษฐกิจหมุนเวียนและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”, Professor Jinhui Li อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยชิงหวา บรรยายในหัวข้อ “ความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศจีน”และ Mr. Rick Passenier ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและผู้อำนวยการจาก Re:Venture and PACE Business Partners ทูตพิเศษ Holland Circular Hotspot ประเทศเนเธอร์แลนด์ บรรยายในหัวข้อ “ระบบนิเวศนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน” อีกด้วย
A2558