- Details
- Category: เศรษฐกิจทั่วไป
- Published: Friday, 06 August 2021 12:30
- Hits: 13668
นักออกแบบนโยบายเสนอจัดตั้ง ‘เฮิร์บฮับ’ หลังทั่วโลกยอมรับสมุนไพรไทยคุณภาพสูง
เชื่อเพิ่มมูลค่า 5 แสนล้านใน 5 ปี
นักออกแบบนโยบาย เสนอไทยจัดตั้ง “เฮิร์บฮับ” หรือเขตเศรษฐกิจนวัตกรรมสมุนไพร เพื่อให้โลกยอมรับสมุนไพรไทยเป็นส่วนประกอบสำคัญมูลค่าสูงในอุตสาหกรรม Health and Wellness พร้อมยกสมุนไพรที่มีศักยภาพสูงอย่างกระชายดำ ที่ปลูกได้แค่ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่ฟ้าทะลายโจรรองรับความต้องการของตลาดจากสถานการณ์ COVID-19 แนะปลดล็อคกฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาธุรกิจบนฐานนวัตกรรม เชื่อสามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ได้ 5 แสนล้านบาทภายใน 5 ปี
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดอบรมหลักสูตรการออกแบบนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ต่อเนื่องเป็นรุ่นที่ 3 โดยใช้การเรียนในรูปแบบ Hybrid Learning System และ Learning Platform เนื้อหาหลักสูตรที่เน้นถึงการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้มีความรู้และความสามารถในการออกแบบและจัดทำนโยบายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) รวมถึงการสร้างเครือข่ายของนักพัฒนานโยบาย อววน. โดยระยะเวลาในการอบรมตลอด 20 สัปดาห์ของหลักสูตร มีการเชิญวิทยากรทั้งจากภาครัฐและเอกชนระดับแนวหน้าของประเทศมาให้ความรู้อย่างเข้มข้น และมีการแบ่งกลุ่มเพื่อทำข้อเสนอนโยบายที่แต่ละกลุ่มสนใจและสามารถต่อยอดไปสู่นโยบายได้จริง โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาซึ่งล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิคอยให้คำแนะนำ
และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เข้าอบรมได้มีการนำเสนอข้อเสนอนโยบายทั้งสิ้น 10 กลุ่ม โดยหนี่งในกลุ่มที่นำเสนอได้น่าสนใจคือ การออกแบบนโยบายเขตเศรษฐกิจนวัตกรรมสมุนไพร “Economic Zone of Innovation for Medicinal Herbs: EZI” หรือ เฮิร์บ ฮับ ซึ่งกลุ่มผู้นำเสนอได้หยิบยกประเด็นความท้าทายในการนำประเทศไทยเป็นฮับสมุนไพรในอีก 10 ปี ข้างหน้า โดยมองว่าผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและสมุนไพรในตลาดโลกมีแนวโน้มการเติบโตสูงขึ้น 2 - 3 เท่าจากปัจจุบันที่ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์สมุนไพรประมาณ 100,000 ล้านบาทต่อปี โดยเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมถึง 80% ที่เหลือเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ 20%
อย่างไรก็ตาม ผู้นำเสนอมองว่า ด้วยศักยภาพและโอกาสที่มีของไทยสามารถพัฒนาเข้าสู่ตลาดโลกได้ แต่ทั้งนี้ต้องขจัดปัญหาและข้อจำกัดต่างๆ ที่มีอยู่แบ่งเป็นด้านวัตถุดิบที่การบริหารจัดการไม่เป็นระบบ ส่งผลให้ปริมาณวัตถุดิบไม่เพียงพอต่อความต้องการ อีกทั้งคุณภาพของวัตถุดิบไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มีการปนเปื้อนของสารเคมีและยาฆ่าแมลง ขาดสายพันธุ์ที่ดี และขาดองค์ความรู้และการถ่ายทอดแนวทางการปลูกอย่างมีคุณภาพ ส่งผลให้ได้ปริมาณสารออกฤทธิ์ไม่คงที่ ตลอดจนราคาซื้อขายยังไม่สม่ำเสมอ ในด้านมาตรฐาน ยังขาดมาตรฐานการตรวจสอบย้อนกลับและความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ในด้านกฎระเบียบ พบว่ากฎหมายมีข้อจำกัดในด้านปริมาณสมุนไพรที่ใช้ได้ ตลอดจนการกล่าวอ้างสรรพคุณ นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายต่างประเทศที่ใช้เป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้าในกรณีการส่งออก ในด้านงานวิจัย ยังขาดความเชื่อมโยงระหว่างนักวิจัยและผู้ประกอบการเพื่อนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ขาดการบริหารจัดการด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่มีประสิทธิภาพ ขาดการสนับสนุนกลไกการขยายขนาดการผลิตจากระดับห้องปฏิบัติการสู่เชิงพาณิชย์ ขาดข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์รองรับสรรพคุณของสมุนไพร และสุดท้ายในด้านการตลาด ไม่มีตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์สารสกัดหรือสมุนไพรมูลค่าสูงที่ชัดเจน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ผู้บริโภคในต่างประเทศยังไม่รู้จักสมุนไพรไทยและผู้ประกอบการไม่สามารถกล่าวอ้างสรรพคุณได้ นอกจากนี้ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการในต่างประเทศเป็นผู้ทำการตลาด โดยไทยเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบ หรือทำผลิตภัณฑ์ OEM ให้กับแบรนด์ต่างประเทศ
“ปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นปัญหาเรื้อรัง จำเป็นต้องออกแบบการทำงานอย่างเป็นระบบ ตอนนี้ประเทศของเรามีกลไกด้านนโยบายที่สำคัญ 2 กลไก คือ 1. คณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ และ 2. BCG In Action แต่ยังเป็นในลักษณะทำงานตามภารกิจของตนเอง ทำให้ไม่สามารถไปสู่ระดับเป้าหมายของประเทศได้ ดังนั้นทางกลุ่มจึงได้ออกแบบนโยบายส่งเสริมตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั้งภาครัฐและเอกชนในรูปแบบ EZI Herb Hubs เพื่อเชื่อมโยงการทำงานด้านนวัตกรรมระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนอำนวยการความสะดวกให้เกิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ และการไหลของข้อมูล อำนวยความสะดวกให้เกิดธุรกิจสมุนไพรบนฐานนวัตกรรม ปลดล็อคกฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาธุรกิจสมุนไพรมูลค่าสูง เร่งพัฒนาบุคลากรเพื่อส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ สร้างโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนสนับสนุนด้านการเงิน เช่น สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี” ผู้นำเสนอกล่าว
นอกจากนี้ทางกลุ่มผู้นำเสนอ ยังระบุด้วยว่า การจัดตั้งเฮิร์บฮับจะช่วยผลักดันให้สมุนไพรไทยเป็นที่ยอมรับในฐานะที่มีส่วนประกอบสำคัญที่มีมูลค่าสูงในอุตสาหกรรมสุขภาพทั่วโลก เป้าหมายที่จะต้องทำให้เป็นไปได้ คือ 1. เป็นศูนย์กลางด้านการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม (RDI) สำหรับอุตสาหกรรมสมุนไพรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำและเป็นแหล่งจ้างงานบุคลากรวิจัย 2. ดึงดูดบริษัทชั้นนำมาลงทุนนวัตกรรมสมุนไพรในประเทศไทย ก่อให้เกิดการลงทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมสมุนไพรของภาคเอกชนไทยและต่างประเทศอย่างน้อย 2,000 ล้านบาทภายใน 5 ปี 3. ยกระดับอุตสาหกรรมสมุนไพรจากการขายวัตถุดิบมูลค่าต่ำไปสู่มูลค่าสูงที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ โดยใช้การวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ สามารถเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั้งในและต่างประเทศอย่างน้อย 5 เท่าหรือประมาณ 500,000 ล้านบาทต่อปีภายใน 5 ปี และเกิดธุรกิจสมุนไพรบนฐานนวัตกรรมเพิ่มขึ้นและ 4. เพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ให้สามารถเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมสมุนไพรในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้สามารถเพิ่มรายได้อย่างน้อย ร้อยละ 15 ต่อปี
ผู้นำเสนอ กล่าวด้วยว่า ควรพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจนวัตกรรมสมุนไพรโดยอาศัยการต่อยอดความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรวิจัยของประเทศที่มีอุทยานวิทยาศาสตร์เป็นแม่ข่ายและมีมหาวิทยาลัยเป็นเครือข่าย ซึ่งมีศักยภาพในการพัฒนาสมุนไพรบนฐานนวัตกรรมได้ และในระยะแรกได้หยิบยกสมุนไพรที่มีศักยภาพ คือ กระชายดำที่ไทยและประเทศเพื่อนบ้านสามารถปลูกได้ที่เดียวในโลก กับฟ้าทะลายโจรที่สามารถพัฒนาต่อยอดเป็นสมุนไพรสู้ไวรัสอย่างที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีศักยภาพที่จะดึงมาอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ EZI คือ ผู้รวบรวมวัตถุดิบสมุนไพร โรงงานแปรรูปขั้นต้น และกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ
สำหรับข้อเสนอนโยบายเพื่อขับเคลื่อนเฮิร์บฮับอย่างเป็นรูปธรรมที่ทางกลุ่มได้นำเสนอในครั้งนี้ คือ 1.จัดตั้ง “Global Herb Corporation” โดยการร่วมทุนระหว่างภาคเอกชนและโฮลด์ดิ้ง คอมพานี ของมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นกลไกในการบริหารจัดการทรัพยากรในประเทศอย่างเป็นระบบและมีความคล่องตัว เชื่อมโยงเฮิร์บฮับที่กระจายตัวในประเทศให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลก รวมทั้งเชื่อมโยงกิจกรรมเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ ดึงดูดการลงทุนของเอกชนด้วยสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี ตลอดจนสนับสนุนงบประมาณเพื่อดึงดูดเอกชนชั้นนำและผู้เชี่ยวชาญเกษียณจากต่างประเทศ และสนับสนุนงบประมาณภาคเอกชนในพื้นที่เฮิร์บฮับ สำหรับการทำกิจกรรมวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรมูลค่าสูง อำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจด้วยกลไกการสนับสนุนจากภาครัฐ
“แนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย สามารถนำเสนอนโยบายด้านสมุนไพร ผ่านไปทางคณะอนุกรรมการวิจัยและนวัตกรรมสมุนไพร ที่ปลัดกระทรวง อว. เป็นประธาน ซึ่งมีหน้าที่ส่งเสริมให้งานวิจัยและพัฒนาด้านสมุนไพรของประเทศไทยมีความครบถ้วน ครอบคลุมประเด็นสำคัญทุกมิติตามแผนงานโครงสำคัญ เพื่อนำเสนอไปยัง คณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ให้กำหนดเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพรแห่งชาติต่อไป” กลุ่มผู้นำเสนอนโยบาย ระบุ
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากการอบรมโครงการ STIP03 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564
A8169
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ