WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

3808 DeepTechสอวช. จัดเวที Deep Tech Startup ต่อเนื่องครั้งที่ 3 เชิญผู้ก่อตั้งบริษัทนวัตกรรมการผลิตกระดูกเทียมฝีมือคนไทย แลกเปลี่ยนมุมมองการต่อยอดงานวิจัยสู่การสร้างธุรกิจ Deep Tech Startup พร้อมเจาะลึกเวทีด้านแหล่งเงินทุน ไขปัญหาขอทุนอย่างไรให้ได้รับการสนับสนุน

          สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดกิจกรรม Deep Tech Startup & Recovery Forum Special Talk by NXPO เชิญผู้ก่อตั้งเมติคูลี (Meticuly) บริษัทนวัตกรรมการผลิตกระดูกเทียม รศ.ดร.บุญรัตน์ โล่ห์วงศ์วัฒน มาเล่าถึงประสบการณ์ในการนำงานวิจัยมาก่อตั้ง Deep Tech Startup พร้อมเจาะลึกเวทีด้านแหล่งเงินทุน “Insight Tech Insight Fund เจาะลึกแนวทางการสนับสนุนทุน Deep Tech Startup” โดยได้รับเกียรติจาก นายณัฐพล วิมลเฉลา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน) นายอุกฤช กิจศิริเจริญชัย ผู้จัดการพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) นายราเมศวร์ ศิลปพรหม ผู้อำนวยการฝ่ายปฎิบัติการศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการให้ทุน Deep tech startup ที่ผ่านมา รวมถึงแนวโน้มการให้ทุนในอนาคต

          ดร. กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวเปิดกิจกรรมว่า เวที Deep Tech Startup จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 เริ่มจากที่กลุ่มนักวิจัย อาจารย์มหาวิทยาลัย และกลุ่มสตาร์ทอัพ ที่ต้องการให้มีเวทีพูดคุยร่วมกัน เพื่อแบ่งปันและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการเข้าสู่ธุรกิจ รวมถึงยังได้เป็นการสะท้อนปัญหาที่พบในการดำเนินงานให้กับ สอวช. ที่เป็นหน่วยงานด้านนโยบาย เพื่อให้เกิดการนำไปขับเคลื่อนต่อ และผลจากการจัดกิจกรรมในลักษณะนี้จะช่วยให้มองเห็นบทบาทของการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ที่สามารถนำมาปรับใช้ช่วยในการพัฒนา และสร้างแนวทางในการพัฒนาเชิงนโยบายได้

          “สอวช. พยายามสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม ทั้งการปลดล็อกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค ปลดล็อกการให้ทุน คิดแพลตฟอร์ม มาตรการส่งเสริมใหม่ๆ เช่น Innovation Sandbox, มาตรการสนับสนุนทุนสำหรับผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมตามโจทย์ความต้องการของภาครัฐ หรือ ความต้องการจากภาคเอกชนที่มีตลาดใหญ่ (Thailand Business Innovation Research: TBIR), University Holding Company, (ร่าง) พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม และกลไกเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงาน เปรียบเสมือนเรากำลังจะส่งบอลไทยไปบอลโลก ที่เราต้องสร้างสนามและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม ต้องมีผู้เล่นที่มีศักยภาพ ให้ผู้เล่นได้ลงแข่งขันจริง ได้เจอคู่แข่งที่เหนือกว่าเพื่อพัฒนาศักยภาพให้สามารถไปสู่เวทีโลกได้อย่างแท้จริงดร. กาญจนา กล่าว

          รศ.ดร.บุญรัตน์ โล่ห์วงศ์วัฒน ผู้ก่อตั้งเมติคูลี (Meticuly) บริษัทนวัตกรรมการผลิตกระดูกเทียม และอุปกรณ์ช่วยผ่าตัด ด้วยเทคโนโลยีแห่งโลกอนาคต ที่เริ่มจากวิศวกรกลุ่มเล็กๆ ที่ได้มีโอกาสใช้ทักษะความรู้ เพื่อช่วยเหลือแพทย์ในการสร้างกระดูกนิ้วมือเทียมชิ้นแรกของโลกจากกระบวนการขึ้นรูป 3 มิติด้วยโลหะไทเทเนียม เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยเนื้องอก ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองการต่อยอดงานวิจัยสู่การสร้างธุรกิจ Deep Tech Startup ว่า ตนเองมีความสนใจธุรกิจสตาร์ทอัพตั้งแต่สมัยเรียน ซึ่งการจะเริ่มธุรกิจสตาร์ทอัพนั้น ไม่ควรเอาสิ่งที่เราถนัดอย่างเดียวไปขาย แต่ต้องมองโจทย์ และพัฒนาสิ่งที่เข้าไปช่วยแก้ปัญหาโจทย์ที่ได้รับ โดยตนเองก็เริ่มจากโจทย์ของอาจารย์หมอ ที่อยากให้ช่วยสร้างกระดูกเทียม จึงนำเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ ที่ผลิตด้วยโลหะเข้ามาใช้ การทำงานจะเข้าไปเรียนรู้ในโรงพยาบาลเลย รู้ข้อจำกัดของการผ่าตัด เราสามารถใช้มุมมองของนักวิจัย มุมมองวิศวกร เข้าไปช่วยแก้โจทย์ได้ โดยการทำงานไม่ใช่แค่เพียงสร้างกระดูกเทียมและจบ แต่ต้องผ่านคณะกรรมการจริยธรรมว่าสามารถใช้แล้วปลอดภัยกับคนไข้ ใช้แล้วหมอสบายใจด้วย

          นอกจากนี้ ยังได้แลกเปลี่ยนแรงบันดาลใจที่ตัดสินใจเดินเข้าสู่สตาร์ทอัพเครื่องมือแพทย์ เนื่องจากเห็นศักยภาพของแพทย์ไทยและคิดว่า ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมทางการแพทย์ที่ดีได้ ทำไมเราจะสร้างอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไม่ได้ ซึ่งขณะนี้แพทย์ พยาบาลมีความเชื่อมั่นในเครื่องมือการแพทย์ที่ผลิตโดยคนไทยในเรื่องของมาตรฐาน ก้าวต่อไปคือ การทำให้อุตสาหกรรมเครื่องมือการแพทย์ไทยได้ส่งออกและไปปักธงในเวทีนานาชาติ

          “ระบบนิเวศนวัตกรรม เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยสร้างความสำเร็จให้กับสตาร์ทอัพ ซึ่งผมมองว่า สอวช. ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายที่เอื้อต่อการเกิดสตาร์ทอัพมาก ระบบนิเวศไทยกำลังพร้อม เช่น การปลดล็อกเรื่องการนำผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ การให้ทุนที่ตรงจุดมากขึ้นจากการผลักดันให้เกิดหน่วยบริหารและจัดการทุน รวมถึงการผลักดันให้เกิด University Holding Company เป็นต้น และสิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือการสร้างเครือข่าย อย่างไรก็ตามสิ่งที่ยังเป็นอุปสรรคสำคัญ คือ การขึ้นบัญชีนวัตกรรม ซึ่งยังใช้เวลาในการดำเนินการค่อนข้างนาน อาจจะไม่ทันต่อการเติบโตของสตาร์ทอัพ ที่ต้องมีการอัพเดทเทคโนโลยีตลอดเวลา และสำหรับคนที่อยากออกมาทำสตาร์ทอัพ ตอบยากว่าต้องมีความพร้อมแค่ไหนถึงควรออกมาทำมันไม่มีสูตรสำเร็จ ตนมองว่าแค่ลงมือทำ ลุย ลองทำดู เราต้องลองกระโดดก่อน ระหว่างทางเราจะค่อยๆ มองเห็นพาร์ทเนอร์ว่าเราจะต้องมีใครบ้าง และเราต้องเสริมเรื่องอะไรบ้าง แต่ที่สำคัญคือต้องมีทีมซึ่งผมมองว่าทีมที่ดีสำคัญกว่าเงินทุนรศ.ดร.บุญรัตน์ กล่าว

          รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ กล่าวว่า บพข. สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี ต่อยอดงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ผ่าน 7 กรอบอุตสาหกรรม เกษตรและอาหารมูลค่าสูง ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พลังงานเคมีและวัสดุชีวภาพ ดิจิทัลแพลตฟอร์ม เศรษฐกิจหมุนเวียน ระบบคมนาคมแห่งอนาคต อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และสุขภาพและการแพทย์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ โดยเข้ามาทำงานในช่องว่างสำคัญที่ทำให้งานวิจัยไทยไปไม่ถึงการผลิตจริงในระดับอุตสาหกรรม ผ่านการเข้ามาสนับสนุนทุนในการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการให้ทุนวิจัยกับงานวิจัยที่อยู่ในกระบวนการ ‘Translational Research’ หรือที่ภาคอุตสาหกรรมจะเรียกว่าการ ‘Development’ ซึ่งเป็นการทำงานวิจัยร่วมกับเอกชน โดยจับคู่นักวิจัยและเอกชนให้เข้ามาทำงานร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกันเพื่อนำเทคโนโลยีที่ได้ไปใช้ประโยชน์จริงในอุตสาหกรรม

          “สำหรับการขอรับการสนับสนุนทุนจาก บพข. นอกจากต้องสอดคล้องกับแผนงาน บพข. แล้ว สิ่งสำคัญ คือ ควรแสดงให้เห็นถึงตัวเลขผลผลิตที่ตอบ OKRs และมีผลกระทบสูง มีระดับความพร้อมเทคโนโลยี (Technology Readiness Level-TRL) เริ่มต้น ตั้งแต่ระดับ 4 ขึ้นไป มีหน่วยงานร่วมดำเนินการและลงทุน โดยมี in-cash และ in-kind รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 รวมถึงมีกลไกนำผลงานไปใช้ประโยชน์-ขยายผลที่ชัดเจน ตลอดจนบุคลากรในโครงการต้องมีความเชี่ยวชาญครบสาขา มีเวลา และมีโอกาสสู่ความสำเร็จของโครงการ นอกจากนี้ บพข. ยังพยายามสร้างแพลตฟอร์มที่เสมือน Sandbox สำหรับ Startup ขึ้นมา เพื่อสนับสนุนเรื่อง Deep Tech เพื่อให้ไปสู่การลงทุนและผู้ต้องการใช้งานจริงๆ ซึ่งทุกอย่างเริ่มต้นจากนักวิจัย นักศึกษา อาจารย์ เราจึงพยายามเข้าไปสร้าง Accelerator Platform ในมหาวิทยาลัย โดยอยากเห็นกระบวนการจัดการที่นำไปสู่ตลาด นำไปสู่การลงทุนในธุรกิจ Deep Tech Startup รวมทั้ง บพข. ยังสนับสนุนและอยากเห็น การทำงานของผู้ขอทุนกับหน่วยงานต่างชาติที่จะสามารถช่วยเพิ่มโอกาสในการขับเคลื่อนธุรกิจ เทคโนโลยีของธุรกิจไปสู่ตลาดโลกได้ อย่างไรก็ตาม ทุน บพข. มีหลายรูปแบบที่ช่วยให้ Deep Tech Startup มีความเป็นไปได้รศ.ดร.ธงชัย กล่าว

          ด้านนายราเมศวร์ ศิลปพรหม กล่าวถึงพันธกิจสำคัญของหน่วยงานคือ การนำงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ โดยทุนส่วนใหญ่ที่นำมาสนับสนุนให้กับกลุ่มสตาร์ทอัพหรือผู้ประกอบการมาจากการระดมทุนจากนิสิตและศิษย์เก่าของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการพิจารณาการให้ทุนเริ่มจากการพูดคุยแนวทางการทำธุรกิจที่ชัดเจน และโอกาสในการเติบโตไปสู่ตลาดที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งในปัจจุบันยังได้เริ่มขยายการสนับสนุนไปยังพื้นที่ต่างจังหวัด สร้างเครือข่ายร่วมกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น มีเมนเทอร์ที่มีความรู้เฉพาะด้านเข้าไปเป็นวิทยากรให้ความรู้กับมหาวิทยาลัย พยายามสร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้เกิดการสนับสนุนการให้ทุน การเริ่มต้นธุรกิจ และเมื่อธุรกิจใดที่ประสบผลสำเร็จก็จะสามารถนำเงินที่ได้ไปสมทบเพื่อสร้างระบบนิเวศที่ดียิ่งขึ้นให้กับธุรกิจอื่นหรือกลุ่มสตาร์ทอัพที่ต้องการการสนับสนุนต่อไปได้

          นายอุกฤช กิจศิริเจริญชัย กล่าวถึงบทบาทของเอ็นไอเอ ที่สนับสนุนทั้งการให้ทุน ให้องค์ความรู้ ไปจนถึงการสร้างการเติบโตในตลาดสำหรับการประกอบธุรกิจในกลุ่มสตาร์ทอัพ สำหรับธุรกิจเกี่ยวกับ Deep Tech หน่วยงานได้ให้ทุนไปแล้วคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10-20% เมื่อเทียบกับการให้ทุน Startup ทั่วไป ซึ่งข้อได้เปรียบของธุรกิจ Deep Tech คือส่วนใหญ่มีการเริ่มต้นมาจากงานวิจัยที่มาจากมหาวิทยาลัย หรือภาคเอกชนเป็นหลัก มีต้นทุนในการทำการวิจัยและพัฒนา ทำให้การลอกเลียนแบบทำได้ยากและต้องใช้เวลา จึงถือเป็นเทคโนโลยีที่มีโอกาสเติบโตในตลาดไปสู่ระดับนานาชาติได้ ปัจจุบัน NIA มีทุนที่ให้การสนับสนุนอยู่ 3 โครงการ หนึ่งในนั้นคือโครงการ Thematic Innovation หรือนวัตกรรมมุ่งเป้า ที่ในปี 2565 จะนำเรื่อง Deep Tech เข้ามาเป็นโจทย์การรับข้อเสนอโครงการเพื่อนำไปสู่การให้ทุนของหน่วยงาน นอกจากนี้ NIA ยังได้เปิด Growth Program รับสมัครกลุ่มสตาร์ทอัพที่มีการเติบโตและมีรายได้มาแล้วมากกว่า 1 ล้านบาทภายใน 3 ปีที่เริ่มประกอบกิจการ เพื่อมาเพิ่มความรู้และทักษะเตรียมความพร้อมในการหาทุนสนับสนุนเพิ่มเติมทั้งในไทยและต่างประเทศ

          นายณัฐพล วิมลเฉลา ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการเริ่มทำธุรกิจสตาร์ทอัพว่า ในการเริ่มต้นทำสตาร์ทอัพ กลุ่มผู้ก่อตั้งมีความสำคัญมาก ต้องมองการณ์ไกลให้สามารถไปถึงตลาดต่างประเทศได้ รวมถึงต้องเป็นผู้ที่เปิดใจรับฟังข้อเสนอแนะ คำแนะนำจากผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคธุรกิจ และในขณะเดียวกันสินค้าที่ผลิตออกมาก็จะต้องเหมาะกับตลาดเป้าหมาย เทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นต้องเหมาะสมกับผู้ที่จะมาใช้งานจริง ส่วนในด้านการสนับสนุนของภาครัฐ อยากให้มีการสนับสนุนการผลิตสตาร์ทอัพที่เน้นในเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ นอกจากนี้ ยังได้มองเทรนด์เทคโนโลยีในอนาคตโดยเชื่อว่า เทคโนโลยีจะเน้นและมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มากขึ้น

 

A3808

COREHOON

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

FBS728

EXNESS

SAM720x100px bgGC 790x90

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!