- Details
- Category: เศรษฐกิจทั่วไป
- Published: Thursday, 24 September 2020 17:10
- Hits: 13846
รัฐ–เอกชนเปิดมุมมองเทศกาลงานประเพณี–บันเทิงไทย
มาตรฐานใหม่กับความท้าทายการขับเคลื่อนธุรกิจหลังวิกฤตโควิด-19
ภาครัฐและเอกชนประสานเสียง ร่วมขับเคลื่อนเปิดเมือง ปลอดภัย หนุนจัดเทศกาลงานประเพณีและบันเทิง ตามกรอบ Mass Gathering ของ WHO กระทรวงวัฒนธรรมพร้อมบูรณาการช่วยเหลือผู้ประกอบการเต็มพิกัด ด้านเมเจอร์ฯ พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ดึงอีเว้นท์ ประชุมสัมมนาในโรงหนัง พร้อมแนะยกระดับหนังไทยโกอินเตอร์ ฟากตัวแทนคนดนตรีกระทุ้งรัฐสร้างโมเดลต้นแบบงานคอนเสิร์ตทั้งแบบอินดอร์และเอาท์ดอร์
ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา หัวหน้าศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์โครงการเปิดเมือง ปลอดภัย ในประเด็น “ทางเลือก ทางรอดของมหกรรมมวลชนทางประเพณีและธุรกิจบันเทิง ท่ามกลางวิกฤตโควิด–19” ภายในงานสัมมนา มองอนาคต “กีฬาและมหกรรมมวลชนเพื่อสุขภาพทั้งกาย–ใจ กับการ Restart ครั้งใหญ่ฝ่าวิกฤตโควิด–19” จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วย ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคเอกชน ภาคสาธารณสุข ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดทำคู่มือเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับการจัดงานหรือกิจกรรมที่มีการรวมตัวของมวลชนหรืออยู่รวมกันของคนเป็นจำนวนมาก (Mass Gathering) ไม่ว่าจะเป็น กีฬา ดนตรี และกิจกรรมบันเทิงต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด–19 โดยในส่วนของประเทศไทย รัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ให้กิจการหรือกิจกรรมที่มีลักษณะ Mass Gathering สามารถจัดงานได้ ภายใต้เงื่อนไขความปลอดภัยด้านสาธารณสุข เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง และการลดความแออัด ซึ่งเป็นวิถีธุรกิจยุคใหม่ (Next Normal) ตามกรอบ Mass Gathering ของ WHO ที่จะช่วยส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย
• กระทรวงวัฒนธรรมพร้อมหนุนผู้ประกอบการ
นายวรวุฒิ ด่านสมพงศ์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า เสน่ห์ของเทศกาลงานประเพณีไทยที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า ยังคงเป็นแก่นสำคัญที่ต้องอนุรักษ์และสืบสาน ยกตัวอย่างเช่น ประเพณีสงกรานต์ ที่แก่นคือ การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และการสรงน้ำพระซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันงดงามที่คนไทยต้องร่วมกันสืบทอดให้ดำรงอยู่ต่อไป ส่วนการสาดน้ำซึ่งเป็นกระพี้หรือสีสันของประเพณีสงกรานต์นั้นต้องพิจารณาตามสถานการณ์และความเหมาะสม โดยมองว่าโควิด–19 เป็นทั้งวิกฤตและโอกาสในการพัฒนาต่อยอดในเรื่องของทุนวัฒนธรรมไปสู่ช่องทางออนไลน์มากขึ้น
“ปัจจุบันเทศกาลงานประเพณีต่างๆ รวมถึงโรงภาพยนตร์เริ่มกลับมาจัดและดำเนินการได้ ภายใต้มาตรการความปลอดภัยด้านสุขอนามัยที่ผู้เข้าร่วมงานทุกคนต้องรับผิดชอบตัวเอง ในขณะที่ผู้จัดงานยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่เหมือนเดิม เนื่องจากต้องปฏิบัติตามมาตรการรักษาระยะห่าง ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมพร้อมที่จะให้การสนับสนุนและบูรณาการช่วยเหลือผู้จัดงานหรือผู้ประกอบการอย่างเต็มที่ เพื่อให้ผู้จัดงาน ศิลปิน และผู้ที่อยู่เบื้องหลังการจัดงานมีรายได้ อันจะต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวชุมชน และสร้างรายได้หมุนเวียนให้กับระบบ เศรษฐกิจไทย” นายวรวุฒิ กล่าว
• เมเจอร์ฯ แนะยกระดับ–สนับสนุนหนังไทยโกอินเตอร์
นายนรุตม์ เจียรสนอง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันโรงภาพยนตร์ในเครือเมเจอร์ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้เต็ม 100% จากข้อจำกัดต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะมาตรการรักษาระยะห่าง ด้วยการเว้นที่นั่งในโรงภาพยนตร์ เพื่อให้ผู้เข้ามาใช้บริการมั่นใจเรื่องความปลอดภัยด้านสาธารณสุข ในขณะที่คอนเทนต์ภาพยนตร์จากต่างประเทศยังมีจำนวนไม่มาก เนื่องจากสถานการณ์โควิด–19 ที่ระบาดไปทั่วโลก ซึ่งเมเจอร์ฯ ได้ปรับตัวด้วยการนำพื้นที่ในโรงภาพยนตร์มาใช้จัดกิจกรรมอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้ เช่น คอนเสิร์ตออนไลน์ (Live) จากญี่ปุ่นและเกาหลี การจัดสัมมนา และจัดงานแถลงข่าว เป็นต้น พร้อมกันนี้ยังได้ลงทุนเพิ่มในการผลิตคอนเทนต์ภาพยนตร์ไทยโดยเน้นกลุ่มเป้าหมายในแต่ละภาคมากขึ้น และยังเห็นว่าในช่วงวิกฤตดังกล่าวยังเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาคอนเทนต์ภาพยนตร์ไทยไปสู่ต่างประเทศมากขึ้น
“วิกฤตโควิด–19 เป็นตัวเร่งให้เกิดการปรับตัวและการพัฒนาครั้งใหญ่ในเรื่องของนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ตอบรับ กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะทุกอย่างมีความไม่แน่นอน ต้องเรียนรู้ที่จะคิดนอกกรอบ มีการปรับตัวตลอดเวลาและรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปรับองค์กร การศึกษาพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อที่จะอยู่รอดได้ ออกอาวุธได้เร็วขึ้น ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น และที่สำคัญคือ อยากให้คนไทยหันมาสนับสนุนภาพยนตร์หรือหนังไทย ทั้งในเรื่องของการสร้างสรรค์ ถ่ายทำ และชมภาพยนตร์ไทยมากขึ้น มั่นใจว่าหากมีคอนเทนต์ภาพยนตร์ไทยที่มีคุณภาพและส่งออกได้ ทำให้ธุรกิจภาพยนตร์ไทยเติบโตและจะส่งผลให้ธุรกิจโรงภาพยนตร์แข็งแรงขึ้นด้วย” นายนรุตม์ กล่าว
• คนดนตรีจี้รัฐผุดโมเดลต้นแบบงานคอนเสิร์ต
ด้านนายธเนส สุขวัฒน์ มิวสิคกูรู โปรดิวเซอร์ ตัวแทนนักดนตรี ผู้จัดคอนเสิร์ต และสถานประกอบการ ในการประสานภาครัฐ ขอให้ผ่อนปรนการปลดล็อกธุรกิจบันเทิง กล่าวว่า ธุรกิจบันเทิงไทยซึ่งรวมถึงกลุ่มคนดนตรีและร้านอาหารต่างๆ สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่าหลักแสนล้านบาทต่อปี ซึ่งโควิด–19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจบันเทิงเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้รับการผ่อนปรนในลำดับท้ายๆ และเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ค่อนข้างยาก จึงต้องการให้ภาครัฐเข้ามาดูแลหรือหาแนวทางฟื้นฟูธุรกิจในกลุ่มบันเทิงและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
“อยากเห็นการปลดล็อกธุรกิจดนตรี ด้วยการผ่อนปรนเรื่องการเว้นระยะห่างในรูปแบบเดียวกับสายการบินที่อนุโลมให้นั่ง 1 เว้น 1 ที่นั่ง หรือโรงภาพยนตร์ที่อนุโลมให้นั่ง 2 เว้น 1 ที่นั่ง และอยากให้ภาครัฐจัดคอนเสิร์ตตัวอย่าง ทั้งแบบอินดอร์ และเอาท์ดอร์ให้ชัดเจนเลยว่าจะต้องจัดแบบใดจึงจะเป็นมาตรฐานที่ถูกต้องและเหมาะสมเพื่อเป็นโมเดลต้นแบบ ตอนนี้ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน ขอเชิญชวนคนไทยให้ออกมาจับจ่ายใช้สอยเพื่อให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปพร้อมกับความปลอดภัยด้านสาธารณสุขเพื่อฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน” นายธเนส กล่าวในตอนท้าย
A9591
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ