- Details
- Category: เศรษฐกิจทั่วไป
- Published: Monday, 03 August 2020 22:36
- Hits: 9011
‘วิจัย-นวัตกรรม’ โมเดลลดความรุนแรงพื้นที่ชายแดนใต้
สกสว.ชู “วิจัยนวัตกรรม” โอโซนยืดอายุลองกอง พัฒนาพันธุ์ทุเรียนพื้นบ้าน และท่องเที่ยวชุมชน เสริมศักยภาพ จ.ยะลา ก่อนชูเป็นโมเดลลดความรุนแรง
เมื่อเร็วๆ นี้ ผศ.ดร.สุกานดา เหลืองอ่อน (ลูวิส) ผู้อำนวยการภารกิจการวิเคราะห์สถานการณ์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สกสว. พร้อมด้วย รศ.ดร.ประภาภรณ์ ขอไพบูรณ์ ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ประสานงานโครงการงานวิจัยประเด็นวิจัยเชิงยุทธศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ (SRI 13) ของฝ่านโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ (ฝ่าย 1) สกว. (เดิม)
สำหรับโครงการ SRI เป็นชุดโครงการที่ สกว. ให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ของชาติ ซึ่งจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นประเด็นหนึ่งที่ระบุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ชุดโครงการ SRI 13 จึงเริ่มดำเนินการในปี 2560 โดยในปีแรกมีการสนับสนุนงบประมาณวิจัยไปในประเด็นความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ สกว.เล็งเห็นว่า จ.ยะลามีความน่าสนใจที่จะเป็นพื้นที่นำร่องในการทำโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น จึงเกิดการทำบันทึกตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างจังหวัดยะลากับ สกว. ในวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2561
ภายหลังจากการลงนามความร่วมมือดังกล่าว สกว.จึงให้งบประมาณสนับสนุนการวิจัยจาก 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ สนับสนุนงบประมาณ 7 โครงการ แบ่งเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับฐานข้อมูลด้านต่างๆ ของจังหวัด เพื่อศึกษาวิเคราะห์ สร้างข้อเสนอแนะนโยบายพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 5 โครงการ การวิจัยเกี่ยวกับเรื่องศักยภาพองค์กรปกครองท้องถิ่น 1 โครงการ และการวิจัยการรักษาคุณภาพและยืดอายุการเก็บรักษาลองกอง 1 โครงการ สำหรับงานวิจัยฝ่ายเกษตร ได้ให้งบประมาณสนับสนุนโครงการพัฒนาคุณภาพผลผลิตและยกระดับทุเรียนพื้นบ้าน จ.ยะลา และฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นให้งบประมาณวิจัยโครงการพัฒนาการท่องเที่ยว
ด้าน ผศ.ดร.แพร กล่าวเพิ่มเติมถึงผลจากการทำงานวิจัยเพื่อการพัฒนา จ.ยะลาว่า จากการดำเนินการวิจัยภายใต้ความร่วมมือ ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา งานวิจัยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ใน 4 มิติ คือ
1. งานวิจัยไม่ขึ้นหิ้ง แต่เป็นงานวิจัยของชุมชน เพื่อชุมชน โดยมุ่งเป้าหมายการนำองค์ความรู้ไปใช้ในการพัฒนาในมิติต่างๆ ได้จริง ในปีนี้ (63) งานวิจัยมุ่งเป้าไปที่การทำข้อมูลพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการทำงานขององค์กรปกครองท้องถิ่น การทำวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตผลทางการเกษตร คือ ทุเรียน และลองกอง ซึ่งเป็นพืชที่ช่วยเข้ามาสร้างรายได้ทดแทนยางพาราที่ราคาตกต่ำในพื้นที่ ตลอดจนการทำวิจัยการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่จะช่วยสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่อย่างยั่งยืน
2. งานวิจัยที่สร้างการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่น ตั้งแต่เริ่มคิดโจทย์วิจัย สกว. เล็งเห็นว่าการทำงานวิจัยที่จะตอบสนองความต้องการของชุมชนคือเริ่มจากการที่ให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการบอกความต้องการของตัวเองว่าองค์ความรู้แบบไหนเพื่อใช้ในการหนุนเสริมศักยภาพของชุมชน ท้องถิ่น
3. การบูรณาการงานหลายศาสตร์ เพื่อการยกระดับการทำงานพัฒนาจังหวัดอย่างรอบด้าน ข้อมูลพื้นฐานที่แข็งแรง เชื่อถือได้ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำงานวิจัยครั้งนี้ สำหรับงานวิจัยเกี่ยวกับองค์กรปกครองท้องถิ่นนั้นเป็นหน้าที่ของนักรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และงานวิจัยลองกองกับทุเรียน เป็นงานของนักวิชาการจากคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตร ส่วนสุดท้ายเป็นงานด้านการท่องเที่ยว โดยนักวิชาการจากคณะบริหาธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ โดยงานทั้งหมดนี้จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาท้องถิ่น โดยองค์กรปกครองท้องถิ่น ด้วยการใช้เศรษฐกิจฐานรากและการท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อน
4. พื้นที่วิจัย คือพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการพัฒนาศักยภาพไปด้วยกัน กระบวนการทำงานวิจัยที่เกิดขึ้น เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามีส่วนร่วมนับตั้งแต่การคิดโจทย์วิจัย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูล ตลอดจนการรายงานความก้าวหน้าในระยะต่างๆ การให้ความเห็นเพิ่มเติมแก่นักวิจัยในตัวงานวิจัย กระบวนการทั้งหมดนี้ ไม่ได้เพียงสร้างการเรียนรู้และพัฒนศักยภาพของท้องถิ่น หากแต่นักวิจัยมีโอกาสในการพัฒนาตัวเองจากข้อมูลฐานรากในชุมชน สามารถนำความรู้และเครือข่ายการทำงานไปแลกเปลี่ยนกับนักศึกษาในห้องเรียนได้ต่อไป ที่สำคัญองค์กรสนับสนุนทุนหรือองค์กรที่กำหนดทิศทางการวิจัยของชาติ ได้เรียนรู้และพัฒนาศักยภาพในการกำหนดทิศทางวิจัยของประเทศต่อไป
อย่างไรก็ตาม หากการทำวิจัยในชุดโครงการนี้สามารถดำเนินเนื่องไปอีกอย่างน้อย 5 ปี เพื่อพัฒนาศักยภาพองค์กรปกครองท้องถิ่น และขยายการทำวิจัยเพื่อรักษา พัฒนาคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนขับเคลื่อนการท่องเที่ยวชุมชนโดยคนในชุมชนในพื้นที่อื่นๆ เพื่อสร้างเส้นทางการท่องเที่ยวที่รอบด้านและยั่งยืนต่อ อาจนำพาให้ จ.ยะลาก้าวพ้นจากปัญหาความยากจนและความรุนแรงเรื้อรังไปได้ในที่สุด
AO8056
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ