WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

4562 ช่วยกันEA ผนึก IBERD และพันธมิตรเปิดตัว ‘กลุ่มช่วยกัน’ ชูโมเดลสู้โควิด-19

ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมด้วยแอป ‘หมอชนะ’

เผยนวัตกรรมชุดตรวจประสิทธิภาพสูง PSU COVID-19 Rapid Test

          สมโภชน์ อาหุนัย CEO ของ EA ผนึกพันธมิตรเปิดตัว “กลุ่มช่วยกัน” รวมพลังสมอง เทคโนโลยี เงินทุน และ กำลังคนช่วยเหลือคนไทยสู้วิกฤตไวรัสโควิด-19 ใช้แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรองและรักษา แสดงพิกัดจุดเสี่ยง พร้อมให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ควบคู่ไปกับการเตรียมนำชุดตรวจประสิทธิภาพสูง PSU COVID-19 Rapid Test ผลงานวิจัยของ ม.สงขลานครินทร์ ที่มีคุณภาพระดับสากลมาใช้ เร่งตรวจให้มากที่สุด เพื่อขับเคลื่อนแผนแบบบูรณาการ ป้องกัน ควบคุม เยียวยา ช่วยฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน พร้อมเตรียมลุยติดตั้งเครื่องกำจัดไวรัส เพิ่มห้องปลอดเชื้อในโรงพยาบาล และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยมีจังหวัดฉะเชิงเทรานำร่อง “Chachoengsao Model” ก่อนขยายไปในเขตเศรษฐกิจพิเศษ สร้าง “Chachoengsao Model” ฟื้นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ ด้าน IBERD ขานรับและร่วมกับ ม.สงขลานครินทร์ เพื่อสนับสนุนในการขยายผลต่อไปยัง 14 จังหวัดภาคใต้ ตามแผนงาน

          นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ซึ่งประกอบธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียนทั้งโรงไฟฟ้าโซลาร์และลม น้ำมันไบโอดีเซล ยานยนต์ไฟฟ้า โรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง หนึ่งในนักธุรกิจแถวหน้าของประเทศไทยที่ได้รับจดหมายเปิดผนึกจากนายกรัฐมนตรี ที่ถามถึงโครงการช่วยเหลือประชาชนชาวไทยที่เป็นรูปธรรม ได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นในต่อสู้กับวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ว่า แม้ว่าปัจจุบันนี้ธุรกิจของ EA จะยังไม่ได้รับผลกระทบนัก แต่จากสถานการณ์โดยรวมที่ยืดเยื้อ และมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจนเกือบถึงวิกฤต มาตรการอยู่บ้านเพื่อหยุดเชื้อไม่สามารถทำได้นานนัก แม้ว่าจะเริ่มมีการติดเชื้อรายใหม่ลดลง แต่องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าโควิด-19 จะยังคงอยู่ไปอีกระยะใหญ่ เราจำเป็นต้องหาวิธีการเพื่อประคับประคองชีวิต และการยังชีพของคนไทยทุกคน เพื่อให้คนไทยสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ภายใต้ข้อจำกัดที่ยังไม่มีวัคซีนและยาที่ใช้ได้ผล จึงได้เข้าช่วยเหลือโดยได้ชักชวนพันธมิตรเพื่อมาร่วมมือกันในชื่อ “กลุ่มช่วยกัน” ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยมีเจตน์จำนงว่า สมาชิกและพันธมิตรของกลุ่มช่วยกันจะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาของประเทศ ในรูปของกลุ่มอิสระ โดยไม่หวังผลประโยชน์ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ไม่อิงการเมือง ไม่วิพากษ์วิจารณ์ใคร ทำงานให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ พร้อมเปิดรับแนวคิดที่เป็นประโยชน์ ไม่ทำงานซ้ำซ้อนกับโครงการอื่น ขณะเดียวกันก็จะสนับสนุนและส่งเสริมโครงการดีๆ ที่มีผู้อื่นทำอยู่แล้ว และพร้อมจะสลายตัวเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น การขับเคลื่อนโครงการต่างๆ เน้นการใช้พลังสมองในการวิเคราะห์และคาดการณ์ เพื่อเตรียมการอย่างเป็นระบบ ลงทุนเพื่อนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้จัดการกับปัญหาในลักษณะที่จะส่งผลในวงกว้างให้มากที่สุด และลงมือปฏิบัติด้วยตนเองพร้อมกับทีมงานทั้งภายในและต่างประเทศ โดยทีมงานของกลุ่มช่วยกันประกอบไปด้วยผู้ที่มีประสบการณ์และความรู้ความสามารถหลากหลาย ทั้งด้านวิศวกรรมการออกแบบและติดตั้งอุปกรณ์ ผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาซอฟแวร์ การวิเคราะห์และคาดการณ์ข้อมูล สถาบันการศึกษา ผู้ให้บริการข่าวสารและบันเทิง สื่อสารมวลชนทุกแขนง องค์กรอิสระและทีมงานสนับสนุนจำนวนมาก

          กลุ่มช่วยกันวางกลยุทธ์การดำเนินโครงการไว้ 3 ส่วนใหญ่ๆ ประกอบด้วย
          ด้านการเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติการทางการแพทย์ เพิ่มความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ ด้วยการออกแบบ จัดซื้อ และติดตั้งอุปกรณ์กำจัดเชื้อโรคและเครื่องกรองอากาศ ในพื้นที่ส่วนกลางของโรงพยาบาล ห้องพักผู้ป่วยและสถานที่รองรับผู้ป่วยนอกโรงพยาบาล ตลอดจนรถพยาบาล ซึ่งจะช่วยปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วย ให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อหรือการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส และบุคลากรทางการแพทย์สามารถปฏิบัติหน้าที่สำคัญได้อย่างมั่นใจ โดยตั้งเป้าหมายกระจายความช่วยเหลือเบื้องต้น (ระยะแรก) ไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศ ได้แก่ ติดตั้งเครื่องกำจัดไวรัสแก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ 100 แห่ง ปรับปรุงห้องผู้ป่วยติดเชื้อ 1,000 ห้อง ปรับปรุงอาคารที่พักนอกโรงพยาบาลสำหรับผู้ติดเชื้อที่อาการไม่รุนแรง 1,000 ห้อง ปรับปรุงรถพยาบาลเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ 500 คัน เป็นต้น

          ด้านการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ เพื่อให้คนไทยมีความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 อย่างถูกต้อง เพื่อให้รู้วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง ลดโอกาสการติดเชื้อและการแพร่เชื้อลงได้ โดยสื่อสารให้แพร่หลายเป็นระยะๆ ผ่านช่องทางต่างๆ ของสมาชิกและพันธมิตร

          ด้านเทคโนโลยีเพื่อการป้องกัน ติดตาม และประเมินความเสี่ยงของประชาชน โดยใช้ แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ที่จะทำให้คนไทยกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้น แอปพลิเคชันนี้พัฒนาโดยภาคประชาชน ประกอบด้วย กลุ่มช่วยกัน กลุ่ม Code for Public และกลุ่มผู้พัฒนาซอฟท์แวร์อิสระจำนวนมาก อีกทั้งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อนำแอปหมอชนะมาเป็นเครื่องมือที่จะอยู่ในโทรศัพท์มือถือของประชาชนทุกคน แบบไม่ระบุตัวตนเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวและเก็บข้อมูลไว้อย่างปลอดภัย ระบบจะมีข้อมูลการเดินทางและวิเคราะห์ข้อมูลจากการพบปะหรือเข้าใกล้กับคนอื่น โดยมีการรายงานผลเป็นค่าสีต่างๆ แบบ real time ทำให้ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือนั้นรู้ความเสี่ยงของตัวเอง มีระบบเตือนความเสี่ยงไปยังผู้ใช้ มีการให้ข้อมูลด้านสาธารณสุขที่เชื่อถือได้ จึงเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ใช้ ผู้ใกล้ชิด และปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ได้ ซึ่ง EA และบริษัทในกลุ่มได้นำมาใช้ในการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานทุกคน ผู้รับเหมา และคู่ค้า ได้ผลเป็นอย่างดี นอกจากนี้ บริษัทและหน่วยงานเป็นจำนวนมากที่เป็นสมาชิกและพันธมิตรของกลุ่มช่วยกัน ได้นำไปใช้ในการดูแลพนักงานและคู่ค้าของตนเองอย่างแพร่หลายแล้ว ทำให้สามารถเริ่มดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจได้ด้วยการดูแลอย่างเป็นระบบ จึงต้องการส่งเสริม เชิญชวน และขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนเพื่อที่จะสามารถผลักดันไปสู่การใช้แอปหมอชนะกันทั้งประเทศ โดยในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดตัวให้จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นจังหวัดนำร่อง สร้าง “Chachoengsao Model” ซึ่งถือเป็นต้นแบบ ก่อนขยายไปในเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของประเทศทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถคืนกลับมาสู่การดำเนินธุรกิจและชีวิตประจำวันได้โดยเร็วและปลอดภัย

          นอกจากนี้ EA ยังได้ร่วมสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและงานวิจัยเกี่ยวกับสาธารณสุขเป็นอย่างยิ่ง และสามารถผลิตชุดตรวจประสิทธิภาพสูง PSU COVID-19 ที่มีคุณภาพเทียบเท่าระดับสากล ในต้นทุนการตรวจที่ต่ำและรู้ผลทันที ทำให้สามารถนำชุดตรวจโควิด-19 มาใช้ตรวจสอบยืนยันโรคได้จำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงช่วยให้รู้สถานการณ์ที่แท้จริงของโรคได้และจัดการกับสถานการณ์ได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ซึ่งเป็นที่พึ่งหลักของประเทศมาตลอดกว่า 50 ปี ไม่ได้ความนิ่งนอนใจต่อความทุกข์และความไม่สงบสุขของประชาชนและสังคมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ บุคลากรทุกคนและภาคีเครือข่ายของ มอ. จึงได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อร่วมแก้ไขปัญหานี้ โดยเปิดเป็นศูนย์หลักของภาคใต้ในการดูแลผู้ป่วย พร้อมทั้งช่วยเหลือโรงพยาบาลในเครือข่ายภายใต้ทั้งหมด นอกจากนี้ได้มีการตั้งศูนย์บรรเทาช่วงและการช่วยเหลือสำหรับจัดเตรียมและส่งมอบเวชภัณฑ์ให้กับสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และในครั้งนี้ มอ.ได้ร่วมมือกับ กลุ่มช่วยกัน และเครือข่ายภาคี โดยอาสาเป็นกำลังหลักในการดูแลพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้อย่างเข้มแข็ง ทั้งในส่วนการสนับสนุนเวชภัณฑ์ การอำนวยความช่วยเหลือการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มห้องปลอดเชื้อในเขตภาคใต้ และพัฒนานวัตกรรมที่ใช้ได้จริงอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้ในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงการส่งเสริมและผลักดันการใช้แอปพลิเคชันหมอชนะในพื้นที่ภาคใต้อีกด้วย

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยถึงการร่วมมือร่วมใจอย่างเต็มที่ของนักวิจัยของ มอ.จากหลากหลายคณะ ซึ่งมีความสามารถในหลากหลายด้าน โดยเอาจุดเด่นของนักวิจัยแต่ละท่าน มาสร้างสรรค์ผลงานแก้ไขปัญหาภายใต้การสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายที่ดีทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึง “กลุ่มช่วยกัน” และเครือข่ายภาคี จนสามารถผลิต ชุดตรวจประสิทธิภาพสูง PSU COVID-19 ได้สำเร็จ ซึ่งเปรียบเสมือนอาวุธสำคัญทางการแพทย์สำหรับต้านการรุกรานของเชื้อโรคและช่วยให้สังคมกลับมาปกติสุขในเร็ววัน

          ดร.ประพล มิลินทจินดา รองประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจการพาณิชย์ (IBERD) แสดงความมั่นใจว่า แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” และ “ชุดตรวจประสิทธิภาพสูง PSU COVID-19” จะเป็นเครื่องมือที่ดี ที่จะใช้ต่อสู้ป้องกัน ควบคุม กำจัดเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมกับช่วยฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ตามกลยุทธ์ของกลุ่ม “ช่วยกัน” ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางของ “THAI-PLUS MODEL” ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ทั่วโลกต่อไป โดยคาดว่าจะเป็นประโยชน์มหาศาลอเนกอนันต์ที่จะทำให้เกิดความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง (GDP) และความสุขด้านสุขภาพและสังคม (GHP) ตลอดจนเสถียรภาพของรัฐบาลให้กลับมามั่นคงยั่งยืนจากความร่วมมือดังกล่าว

          นายสรายุทธ แก้วกุลปรีชา รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเป็นอย่างมากทั้งด้านสุขภาพ ความเป็นอยู่ และขาดรายได้เพื่อยังชีพ จึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือหรือวิธีการเพื่อทำให้สามารถเร่งรัดฟื้นฟูการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพให้กลับมาโดยเร็ว และสามารถปรับตัวให้อยู่กับโควิด-19 ที่จะยังคงอยู่กับเราไปอีกระยะใหญ่ อย่างน้อยคือถึงปีหน้า ดังนั้น จึงเล็งเห็นว่า แอปพลิเคชัน หมอชนะ เป็นเครื่องมือที่จะสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี จึงจะสร้าง “Chachoengsao Model” ขึ้นด้วยแผนการที่จะเป็นจังหวัดนำร่อง ในการรณรงค์ให้ข้าราชการ ประชาชน สถานศึกษา ภาคธุรกิจ สถานประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรมทุกแห่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่ของจังหวัด พร้อมใจกันโหลดแอปพลิเคชัน หมอชนะ มาใช้ควบคู่กับมาตรการทางสาธารณสุข ได้แก่ การรักษาระยะห่างทางสังคม การรักษาสุขอนามัย เช่น การล้างมือให้สะอาด การสวมใส่หน้ากาก หลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยง เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับการตอบรับอย่างเต็มที่ เมื่อเราควบคุมความเสี่ยงได้ มีแผนรับมือกับโรคอย่างเป็นระบบ ปกป้องบุคลากรการแพทย์ได้ ก็จะนำไปสู่ขั้นตอนของการเปิดเมืองตามเป้าหมายได้อย่างปลอดภัย

          แนวทางดังกล่าวทั้งหมดจะเป็นรูปแบบและเป็นขั้นตอนตามสถานการณ์ในการต่อสู้กับเชื้อไวรัส ที่ยึดหลักความจริงว่า ประชาชนต้องดำรงชีวิตอยู่ได้ มีการประกอบอาชีพ เศรษฐกิจของไทยดำเนินต่อได้ รวมไปถึงระดับภูมิภาค ที่มีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์มีเขตติดต่อตามแนวชายแดน ซึ่งเชื่อมโยงกันทั้งด้านประชากร เศรษฐกิจ สังคม รวมกว่า 300 ล้านคน คือ ไทย, กลุ่มประเทศ CLMV และมาเลเซีย โดยภาพรวมจะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า GDP ของประเทศหลายเท่าตัว หากไม่ป้องกันให้รัดกุมก่อนการเปิดเมือง เปิดประเทศ (Lock Out) อาจเกิดผลเสียหายอย่างรุนแรงที่ยากจะควบคุมได้ แต่หากร่วมมือกันจนเกิดผลสำเร็จ ประชาชนและเศรษฐกิจก็จะสามารถกลับมาสู่ภาวะปกติได้ตามสมควร โดยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด คือ การนำแอปหมอชนะมาใช้ พร้อมๆ กับใช้มาตรการการรักษาระยะห่าง ใส่หน้ากาก หมั่นล้างมือ เป็นต้น การดำเนินการตามกระบวนการทั้งหมดจะสามารถทำให้วิถีชีวิตของคนไทยและฟันเฟืองเศรษฐกิจและสังคมกลับมาดำเนินไปได้ ประชาชนอยู่ร่วมกันได้ โรงงาน อุตสาหกรรม ร้านค้า การบริการ เกษตรกร ตลอดจนการเดินทาง การท่องเที่ยว ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศเริ่มมีชีวิตอีกครั้ง รวมถึงการเคลื่อนย้ายคน แรงงาน และการขนส่งระหว่างจังหวัด อำเภอ ตำบล และพื้นที่อื่นๆ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เป็นต้น สามารถกลับมาเปิดได้เหมือนเดิมในที่สุด

          กลุ่ม “ช่วยกัน” โดยนายสมโภชน์ อาหุนัย สมาชิกกลุ่มและพันธมิตรเครือข่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน ทุกสถาบัน หน่วยงานและทุกองค์กรทั่วประเทศ พร้อมใจกันโหลดแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” มาใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นเครื่องมือในการติดตาม เฝ้าระวัง ประเมินผล ร่วมกันกับมาตรการทางสาธารณสุข พร้อมกับใช้ชุดตรวจประสิทธิภาพสูง PSU COVID-19 ให้ครอบคลุมมากที่สุด อีกทั้งการเสริมระบบปลอดเชื้อของโรงพยาบาลในจังหวัดต่างๆ เพื่อให้ความปลอดภัยต่อบุคลากรการแพทย์และผู้ที่เข้ารับบริการในโรงพยาบาลทั่วประเทศอย่างเพียงพอ ทั้งหมดนี้จะเป็นระบบนิเวศน์ที่เชื่อว่าจะทำให้เราสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ พร้อมๆ กับการกลับมาประกอบอาชีพ หารายได้ และใช้ชีวิตได้ตามปกติ หรือใกล้เคียงปกติ แม้ว่าจะยังไม่มีวัคซีนที่ได้ผล ซึ่งจะนำไปสู่การฟื้นฟูประเทศและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งประเทศได้อย่างรวดเร็วต่อไป

          ผู้ที่สนใจสามารถติดตามโครงการต่างๆ ของ “กลุ่มช่วยกัน” หรือเข้าร่วมโครงการได้ที่ www.chuaygun.com และ facebook กลุ่มช่วยกัน

 


AO4562

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

SAM720x100px bgGC 790x90

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!