- Details
- Category: เศรษฐกิจทั่วไป
- Published: Tuesday, 28 January 2020 19:31
- Hits: 4348
เอ็นไอเอ ร่วม ช.การช่าง เปิดตัว 10 ‘นวัตกรชุมชน’ หนุนพลิกฟื้นวิกฤตท้องถิ่น
ด้วยไอเดียงานช่างสุดล้ำ พร้อมตั้งเป้าถ่ายทอดเทคนิควิศวกรรมสู่คนในระดับโลคอล
• เอ็นไอเอ – ช.การช่างเปิดตัว 10 สิ่งประดิษฐ์สุดล้ำ พร้อมจัดมอบรางวัล “สุดยอดนวัตกรรมช่างชุมชน” เตรียมต่อยอดจากท้องถิ่นสู่ระดับประเทศ
• สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เปิดตัว 10 ผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาชุมชน พร้อมจัดมอบรางวัล “สุดยอดนวัตกรรมช่างชุมชน” เตรียมต่อยอดจากท้องถิ่นสู่ระดับประเทศ
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และสถาบันเชนจ์ฟิวชั่นจัด มอบรางวัล “สุดยอดนวัตกรรมช่างชุมชน” พร้อมเปิดตัว 10 ผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาชุมชน เพื่อรับทุนพัฒนาสิ่งประดิษฐ์มูลค่ารวมกว่า 600,000 บาท พร้อมรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญและโอกาสขอรับทุนสนับสนุนจากภาครัฐ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเวิร์คช็อปการพัฒนาแนวคิดนวัตกรรมช่างชุมชน แบบ 4 มิติ เพื่อยกระดับศักยภาพสู่การเป็น “นวัตกรช่างชุมชน” และขยายผลสู่ระดับประเทศ นับเป็นโครงการความร่วมมือครั้งแรกของประเทศไทยระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมช่างชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมและครบวงจร บนแนวคิดของการแก้ไขปัญหาทางสังคมด้วยกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) โดยนำเอาต้นแบบสิ่งประดิษฐ์ของช่างชุมชนมาต่อยอด ผ่านการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญและโอกาสเข้าถึงทรัพยากรในด้านต่างๆ ทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์ เทคนิคทางวิศวกรรม การบริหารจัดการธุรกิจ และการเชื่อมโยงความร่วมมือเพื่อพัฒนานวัตกรรมกับหน่วยงานภาครัฐ
ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า “การจัด ‘โครงการส่งเสริมนวัตกรรมช่างชุมชน’ เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ให้เห็นว่าคนไทยในท้องถิ่นทั่วประเทศล้วนมีทักษะในด้านนวัตกรรมและกระบวนการคิดเชิงออกแบบที่มีศักยภาพ สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนได้ ด้วยจำนวนผลงานที่ส่งเข้าประกวดจำนวนมาก หลายผลงานมีพื้นฐานมาจากการพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ทางเกษตรกรรมซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่ในท้องถิ่นเช่นเครื่องจักรกลเกษตร ระบบชลประทานการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่หาได้อย่างแพร่หลายในประเทศไทย แต่สามารถนำมาพัฒนาเพื่อนำไปใช้งานในบริบทที่กว้างขึ้น กลายเป็นนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนไทยในวงกว้างหากมีโอกาสได้เข้าถึงการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐ และเอกชน ทั้งในด้านทรัพยากร องค์ความรู้ และแหล่งทุนอย่างเป็นรูปธรรม”
สำหรับผลงานนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกทั้ง 10 ทีม ประกอบด้วย เครื่องเจาะดินนิวบอร์น, เรือรดน้ำอัตโนมัติ, จักรยานปีนต้นมะพร้าว, เครื่องอูดยุง, รถไถนั่งขับอีลุย, ตะบันน้ำถังแก๊ส, กาลักน้ำประปาภูเขา, เครื่องตัดหญ้าโซลาร์เซลล์, เครื่องบดผสมปุ๋ยหมักและดินปลูก และของเล่นไม้กลไกเคลื่อนไหว โดยทั้ง 10 ทีมจะได้รับเงินทุนสนับสนุนสำหรับการพัฒนาผลงานในเบื้องต้น พร้อมเข้าร่วมกิจกรรมอบรมด้วยกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ก่อนที่จะมีการคัดเลือกผลงานที่ดีที่สุด3 ผลงานเพื่อเข้ารอบสุดท้ายซึ่งจะได้เงินรางวัลสำหรับเป็นทุนในการพัฒนาผลงาน รางวัลละ 100,000 บาท พร้อมโอกาสในการรับคำปรึกษาอย่างใกล้ชิดจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์ เทคนิคทางวิศวกรรม และการจัดการธุรกิจนวัตกรรมโดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงและพัฒนาผลงานดังกล่าวให้เป็นเลิศทั้งในด้านประโยชน์ ประสิทธิภาพประสิทธิผลในการใช้งาน โครงสร้าง คุณสมบัติรูปลักษณ์ ความสะดวกในการใช้งานการบำรุงรักษา ฯลฯ จนได้เป็นนวัตกรรมต้นแบบที่สามารถเผยแพร่ใช้งานในวงกว้างเพื่อตอบโจทย์ปัญหาชุมชนและสังคมในบริบทได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดร. สุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ช.การช่าง มีความภูมิใจที่ได้เห็นการดำเนิน ‘โครงการส่งเสริมนวัตกรรมช่างชุมชน’ ร่วมกับพันธมิตรอย่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น ได้เดินหน้าอย่างแข็งแกร่งมาจนถึงวันนี้ ซึ่งเราได้เห็นผลงานต่างๆ จากความคิดสร้างสรรค์และความสามารถคนไทยในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ที่มีทั้งศักยภาพ และมีโอกาสที่จะนำมาต่อยอด ขยายขีดสามารถจากการใช้แก้ปัญหาของพื้นที่ในแต่ละท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้งานในบริบทที่กว้างขึ้น เราพร้อมอย่างยิ่งที่จะมีส่วนร่วมในการสนับสนุนเงินทุนและการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคนิคต่างๆ โดยเฉพาะในด้านวิศวกรรมให้แก่ช่างชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อการพัฒนานวัตกรรมที่ก่อให้เกิดคุณค่าต่อสังคม ชุมชน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับพันธกิจของ ช. การช่าง ที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนและพัฒนาประเทศผ่านโครงสร้างพื้นฐานและการคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก และมีความมุ่งมั่นเดินหน้าสานต่อโครงการดีๆ แบบนี้ต่อไปอย่างต่อเนื่องในอนาคต”
สำหรับ 10 ทีมที่เข้ารอบจะได้เข้าร่วมกิจกรรมเวิร์คช็อปการพัฒนาแนวคิดนวัตกรรมช่างชุมชน แบบ 4 มิติ (การออกแบบ, กลไกและวิศวกรรม, ต้นทุนราคา, การทำการตลาด) ซึ่งแบ่งออกเป็น 1. การนำเสนอนวัตกรรมช่างชุมชน จากความตั้งใจสู่การปฏิบัติของแต่ละนวัตกร 2. กิจกรรมเรียนรู้จากแรงบันดาลใจนวัตกรรมช่างชุมชนระดับโลก 3. กิจกรรมร่วมกันวิเคราะห์จาก 4 มิติ (การออกแบบ, กลไกและวิศวกรรม, ต้นทุนราคา, การทำการตลาด) 4. สรุปปัญหา โอกาส และแผนเบื้องต้นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนานวัตกรรมของแต่ละชิ้นงาน รวมทั้งเรียนรู้โอกาสการต่อยอดนวัตกรรม และแนวทางการรับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น NIA และ ITAP สุดท้าย จะเป็นช่วงวันสำหรับการเข้าพบที่ปรึกษา โดยจะมีทีมวิศวกรอาสาจาก ช.การช่าง เป็นที่ปรึกษาด้านวิศวกรรม อาจารย์จากภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบ และนักวางแผนธุรกิจและการเงินจากสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น เป็นที่ปรึกษาด้านต้นทุนราคาและการจัดการและการตลาด
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการส่งเสริมนวัตกรรมช่างชุมชน สามารถติดต่อสอบถามได้ทางเฟซบุ๊ค แฟนเพจช่างชุมชน ช.การช่าง https://www.facebook.com/grassrootinnovator โทรศัพท์ 093-327-9184 หรือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-017-5555 และ facebook.com/NIAThailand
AO1461
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web