- Details
- Category: เศรษฐกิจทั่วไป
- Published: Thursday, 10 October 2019 01:57
- Hits: 4340
GLOBAL COMPETITIVENESS INDEX 2019
BY CHULALONGKORN BUSINESS SCHOOL
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศดัชนีขีดความสามารถทางการแข่งขันระดับโลกของ World Economic Forum (WEF) ชี้ระดับความสามารถไทยดีขึ้นแม้อันดับจะลดลง ทำให้ต้องเร่งพัฒนาหลายด้านเพื่อให้ทันกับประเทศอื่นๆ
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พันธมิตรอย่างเป็นทางการหนึ่งเดียวจากประเทศไทยขององค์กรระดับโลก World Economic Forum (WEF) ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญในการวัดความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness) ได้จัดเผยแพร่รายงานดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Index : GCI) และการเปรียบเทียบความสามารถทางการแข่งขันของประเทศต่างๆ ทั่วโลกประจำปีล่าสุด 2019
ผศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า “ทางคณะฯ ได้เป็นสถาบันที่เป็นพันธมิตรหนึ่งเดียวอย่างเป็นทางการของ WEF ในประเทศไทยมาหลายปี โดยรับสิทธิ์จัดเผยแพร่รายงานดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Index : GCI) มีส่วนร่วมและบทบาทในการทำวิจัยระดับความสามารถของประเทศร่วมกับ WEF ซึ่งสุดท้ายก็จะนำไปคำนวณเป็นดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก โดยมีดัชนีชี้วัดทั้งสิ้น 4 มิติใหญ่และแบ่งย่อยออกมาเป็น 12 เสาหลัก ได้แก่
1. สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย (Enabling Environment) ประกอบไปด้วย สภาพแวดล้อมหน่วยงาน (Institutes) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT Adoption) และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic Stability)
2. ทรัพยากรมนุษย์ (Human Captial) ประกอบด้วย สาธารณสุข (Health) และทักษะ (Skills)
3. ตลาด (Markets) ประกอบไปด้วยการแข่งขันภายในประเทศ (Product Market) ตลาดแรงงาน (Labor Market) ระบบการเงิน (Financial System) และขนาดของตลาด (Market Size)
4. ระบบนิเวศของนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) ประกอบไปด้วย การเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ (Business Dynamism) และ ความสามารถทางนวัตกรรม (Innovation Capacity)
โดยดัชนีทั้ง 4 มิติ 12 เสาหลัก ทำให้เกิดดัชนีตัวชี้วัดทั้งหมด 103 ตัว ภายในคะแนนเต็ม 100 คะแนน
ในปี 2019 นี้ ประเทศไทยมีดัชนีความสามารถทางการแข่งขันที่ดีขึ้นจากปี 2018 เดิม 67.5 คะแนนเป็น 68.1 คะแนนและอยู่ในอันดับที่ 40 ของโลก จากทั้งหมด 141 ประเทศที่ได้รับการจัดอันดับ สำหรับอันดับหนึ่งปีนี้มีการล้มแชมป์เกิดขึ้น ประเทศสิงคโปร์ได้ขึ้นเป็นอันดับหนึ่งโดยล้มแชมป์เก่า คือ สหรัฐอเมริกา ที่ตกลงไปเป็นอันดับสอง โดยอันดับสามถึงสิบมีดังนี้ ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เยอรมนี สวีเดน สหราชอาณาจักร และเดนมาร์ก ตามลำดับ
ข้อสังเกตสำคัญในปีนี้ คือ ประเทศเวียดนามเป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดสูงที่สุดในโลก โดยมีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นถึง 3.5 คะแนน ทำให้อันดับขยับเพิ่มขึ้นได้ถึง 10 อันดับ จากอันดับที่ 77 เมื่อปีที่ผ่านมา ขึ้นเป็นอันดับที่ 67 ของโลกในปีนี้ เมื่อเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศ ASEAN+3 พบว่า ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 6 จาก 12 ประเทศ โดยเป็นรองสิงคโปร์ (อันดับ 1) ญี่ปุ่น (อันดับ 6) เกาหลีใต้ (อันดับ 13) มาเลเซีย (อันดับ 27) และจีน (อันดับ 28) และมีอันดับสูงกว่าประเทศอื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย (อันดับ 50) บรูไน (อันดับ 56) ฟิลิปปินส์ (อันดับ 64) เวียดนาม (อันดับ 67) กัมพูชา (อันดับ 106) ลาว (อันดับ 113) โดยที่ประเทศพม่าไม่ได้รับการจัดอันดับ
การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของประเทศไทยในปีที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับปีก่อนพบว่า
มิติที่หนึ่ง สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย (Enabling Environment) ประเทศไทยได้คะแนน 273 คะแนน จากคะแนนเต็ม 400 คะแนน โดยคะแนนด้านสภาพแวดล้อมหน่อยงาน (Institutions) ของไทยลดลง จาก 55.1 เป็น 54.8 โดยอันดับด้านนี้ลดลงจาก 60 เป็น 67 แต่ก็ยังอยู่ในระดับกลางเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) คะแนนของประเทศไทยลดลงจาก 69.7 เป็น 67.8 โดยอันดับตกจาก 60 เป็น 71 ซึ่งประเทศไทยทำได้ดีในเรื่องการเข้าถึงไฟฟ้าและการเชื่อมต่อของสนามบิน ส่วนสาเหตุหลักที่ทำให้อันดับของประเทศไทยทางด้านโครงสร้างพื้นฐานแย่ลงเกิดจากความหนาแน่นของระบบทางรถไฟ และความมีประสิทธิภาพของการให้บริการรถไฟ ทั้งที่ประเทศไทยได้คะแนนดีขึ้นในส่วนของอัตราการเกิดอาชญากรรมและข้อกำหนดเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน ในส่วนของด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT Adoption) คะแนนดีขึ้นจาก 56.6 เป็น 60.1 อันดับขึ้นจาก 64 เป็น 62 โดยประเทศไทยได้คะแนนในระดับดีมากในด้านการใช้โทรศัพท์มือถือ ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic Stability) คะแนนดีขึ้นเล็กน้อยจาก 89.9 เป็น 90 โดยอันดับขึ้นจาก 48 เป็น 43 เนื่องจากเราควบคุมระดับเงินเฟ้อได้ดี
มิติที่สอง ทรัพยากรมนุษย์ (Human Capital) ไทยได้คะแนน 151 คะแนน จากคะแนนเต็ม 200 คะแนน มาจากตัวขี้วัดด้านสาธารณสุข (Health) ซึ่งได้คะแนนดีขึ้นจาก 87.3 เป็น 88.9 โดยอันดับขึ้นจาก 42 เป็น 38 และตัวชี้วัดด้านทักษะ (Skills) คะแนนลดลงจาก 63 เป็น 62.3 โดยอันดับลดลงจาก 66 เป็น 73 แต่ก็ยังอยู่ในระดับกลางเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน สาเหตุหลักที่ทำให้อันดับของประเทศไทยทางด้านทักษะลดลงเกิดจากทักษะของผู้สำเร็จการศึกษาแย่ลง และการสอนให้คิดเชิงวิพากษ์ที่ยังทำได้ไม่ดีนัก
มิติที่สาม ตลาด (Markets) ไทยได้คะแนน 277 คะแนนจาก 400 คะแนน โดยด้านการแข่งขันภายในประเทศ (Product Market) ซึ่งใช้เป็นตัวชี้วัดว่า ในแต่ละประเทศมีการดำเนินนโยบายที่ทำให้การแข่งขันในตลาดมีความผิดเพี้ยนไปเพียงใดและเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนใดหรือไม่นั้น ประเทศไทยมีคะแนนใกล้เคียงเดิม คือ จาก 53.4 เป็น 53.5 แต่อันดับดีขึ้นมากจาก 92 เป็น 84 ด้านตลาดแรงงาน (Labor Market) มีคะแนนใกล้เคียงเดิมเช่นกัน คือ จาก 63.3 เป็น 63.4 และอันดับลดลงจาก 44 เป็น 46 แต่ในทางกลับกันกับประเทศเพื่อนบ้านที่กลายเป็นจุดเด่นของเวียดนาม ลาวและบรูไนที่มีการเติบโตสูงมากเมื่อเทียบกับปี 2018 ด้านระบบการเงิน (Financial System) มีคะแนนสูงขึ้น คือ จาก 84.2 เป็น 85.1 โดยอันดับตกลงเล็กน้อยจาก 14 เป็น 16 แต่อย่างไรก็ต้องถือว่า ระบบตลาดเงินตลาดทุนของเรามีความพร้อมค่อนข้างมาก มีการพัฒนาที่ดีมาโดยตลอด และเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ด้านขนาดของตลาด (Market Size) มีคะแนนสูงขึ้น คือ จาก 74.9 เป็น 75.5 โดยเป็นอันดับที่ 18 คงที่จากปีที่แล้ว
มิติที่สี่ ระบบนิเวศของนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) ไทยได้คะแนน 116 คะแนน จาก 200 คะแนน โดยด้านการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ (Business Dynamism) มีคะแนนสูงขึ้น คือ จาก 71 เป็น 72 อันดับสูงขึ้น จาก 23 เป็น 21 เนื่องจากความคล่องตัวของธุรกิจในประเทศไทยดีขึ้นจากทั้งเงื่อนไขต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจที่ดีขึ้น และแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการที่มากขึ้น ส่วนด้านความสามารถทางนวัตกรรม (Innovation Capability) มีคะแนนสูงขึ้น คือ จาก 42.1 เป็น 43.9 อันดับสูงขึ้นจาก 51 เป็น 50 โดยความสามารถด้านนวัตกรรมดีขึ้นจากปัจจัยทุกด้าน ทั้งการสร้างความร่วมมือในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ การวิจัยและพัฒนา รวมถึงการนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์
ตัวเลขดัชนีชี้วัดดังกล่าวในปีนี้ คงเป็นผลสะท้อนจากการพัฒนาประเทศไทยในปีที่ผ่านมา แต่บทสรุปของดัชนีต่างๆ คงไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขว่า เพิ่มขึ้นหรือน้อยลงเพียงเท่านั้น เนื่องจากความสามารถทางการแข่งขันในเวทีโลกที่เพิ่มขึ้นไม่ได้เกิดจากการพัฒนาประเทศตามลำพัง แต่เกิดจากความสามารถในเชิงเปรียบเทียบกับการพัฒนาของประเทศอื่นๆ อีกด้วย แม้ว่า ระดับความสามารถของประเทศเพิ่มขึ้น แต่บริบทของเศรษฐกิจโลกก้าวพัฒนาไปมากกว่า จึงต้องอาศัยกลยุทธ์การพัฒนาที่เหนือกว่าประเทศคู่แข่งขันเป็นสำคัญ
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการวิเคราะห์ตัวชี้วัดทั้งหมดจากผลข้อมูลจากองค์กร WEF พบว่า หากมีการเร่งพัฒนาในเรื่องของการลดการทุจริต ปรับปรุงคุณภาพของโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาทักษะของคนในประเทศ และมีนโยบายที่ช่วยลดช่องว่างในการแข่งขันของตลาดภายในประเทศ ซึ่งเป็นดัชนีที่มีค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักมาก แต่ประเทศไทยเรายังทำได้ไม่ดีนัก ก็จะสามารถทำให้ประเทศไทยมีอันดับการแข่งขันที่ดีขึ้นมากได้ ในขณะที่การพัฒนาในเรื่องการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และการมีสุขภาพดีอายุที่ยืนยาวของคนในประเทศ ซึ่งเป็นดัชนีที่มีค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักมาก และประเทศไทยทำได้ดีอยู่แล้ว รวมทั้งสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไปได้ง่าย ก็จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศไทยได้อย่างก้าวกระโดด และส่งผลต่อการพัฒนาประเทศให้อยู่ในอันดับที่สูงขึ้นต่อไปได้
AO10228
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web