- Details
- Category: เศรษฐกิจทั่วไป
- Published: Wednesday, 18 September 2019 17:13
- Hits: 3967
เอ็นไอเอผนึกพันธมิตร จัดประชุมระดมสมองหาแนวทางรับมืออนาคต
พร้อมดึง 20 ประเทศเอเชียแปซิฟิกร่วมฉายภาพอาเซียนปี 2573
• เอ็นไอเอชี้ 3 ประเด็นสำคัญที่อาเซียนต้องรับมือและผลักดันร่วมกันในอนาคต แนะต้องสร้างวัฒนธรรมร่วม พัฒนาสู่ฮับเทคฯ ยานยนต์ และโซลูชั่นด้านความปลอดภัยรับการขยายตัวของเมือง
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ The Change Initiative บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) จัดงานประชุมนานาชาติ “Asia-Pacific Futures Network Conference” (AFPN) ครั้งที่ 5 ภายใต้แนวคิด ASEAN 2030 ณ Ananda UrbanTech Campus อาคารเอฟวายไอ เซ็นเตอร์ การประชุมนี้เป็นการรวมตัวกันของนักอนาคตศาสตร์ นักคิด และตัวแทนนักนโยบายจากกว่า 20 ประเทศ เพื่อสำรวจแนวโน้มและประเด็นความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานชั้นนำด้านอนาคตศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียในการเข้าร่วมเพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางและเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ต่อการออกแบบภาพอนาคตที่นำไปสู่ยุทธศาสตร์และนโยบายที่ยั่งยืน ปีนี้มุ่งเน้นที่ภาพอนาคตของอาเซียนในปี 2573 ทั้งในประเด็นด้านวัฒนธรรม เทคโนโลยี และความปลอดภัยในอาเซียน และเอเชียแปซิฟิก
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า NIA ได้ร่วมจัดงาน Asia-Pacific Futures Network Conference (AFPN) เป็นปีที่ 2 แล้ว ซึ่งการมองอนาคตเป็นเครื่องสำคัญสำหรับการออกแบบแนวทางการแก้ปัญหาและเตรียมความพร้อมสำหรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต สำหรับประเทศชั้นนำอย่างสิงคโปร์ ฟินแลนด์ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เกาหลี รวมถึงมาเลเซีย ต่างให้ความสำคัญต่อการนำการมองอนาคตมาเป็นเครื่องมือในการกำหนดนโยบายการพัฒนาระยะยาว ประกอบกับปัจจุบันองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนหลายแห่งในประเทศไทยต่างให้ความสนใจกับการมองอนาคตและฝึกฝนทักษะให้กับนักยุทธศาสตร์และนักนโยบายในการนำการมองอนาคตมาปรับใช้ ด้วยเหตุนี้ NIA จึงได้จัดตั้งสถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม (Innovation Foresight Institute : IFI) โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบนิเวศด้านการมองอนาคตในประเทศไทยให้เข้มแข็ง รวมถึงนำการมองอนาคตมาใช้ระบุโอกาสและความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพื่อช่วยในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์และการจัดการระบบนิเวศนนวัตกรรมของประเทศ การร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมนานาชาติในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับนักอนาคตศาสตร์ไทยที่จะได้ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้เชี่ยวชาญด้านการมองอนาคตจากนานาประเทศ สำหรับการจัดประชุม Asia-Pacific Futures Network Conference” (AFPN) ในวันที่ 17-18 กันยายน 2562 มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 120 คน จากกว่า 20 ประเทศ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านการมองอนาคตกว่า 25 คน จากอาเชียนและเอเซียแปซิฟิก นอกจากนี้ ยังมีผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐ อาทิ Chor Pharn Lee และ Wee Shann Lam จากสิงคโปร์ รวมถึงผู้นำทางความคิดระดับโลก อาทิ Dr. Sohail Inayatullah จากออสเตรเลีย มาพูดคุยและแบ่งปันประสบการณ์ตลอดสองวัน
ดร.พันธุ์อาจ สำหรับการจัดประชุมดังกล่าว จัดขึ้น ภายใต้แนวคิด ASEAN 2030 มีวัตถุประสงค์ในการอัพเดทสถานการณ์ในอนาคตของโลกว่าจะมีแนวโน้มไปในทิศทางใด ประเทศไทยและกลุ่มอาเซียนจะต้องปรับตัวหรือวางทิศทางไปในรูปแบบไหนเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ต่างๆ รวมทั้ง 3 ประเด็นที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นและต้องพัฒนาร่วมกันในอนาคต ได้แก่
• ด้านวัฒนธรรม โดยในอนาคตภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะต้องมีการปรับใช้วัฒนาธรรมร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น วัฒนธรรมทางด้านภาษา ที่ต้องหันมาใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารระหว่างกันมากขึ้น การถ่ายทอดภูมิปัญญาของแต่ละชนชาติระหว่างกัน ซึ่งจะทำให้เกิดผลดีทั้งในด้านการรักษา การนำไปใช้ และการประยุกต์สู่สิ่งใหม่ๆ การผลักดันวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศสู่การเป็นวัฒนธรรมร่วม เพื่อเอื้อต่อการนำไปต่อยอดในเชิงมูลค่า การลดความขัดแย้ง และสร้างภาพจำที่ดีต่ออาเซียน ตลอดจนการสร้างสำนึกความเป็นเจ้าของอาเซียนร่วมกัน เพื่อสร้างความเข้าใจถึงประวัติศาสตร์ ภาษา วัฒนธรรม และค่านิยมร่วมของอาเซียน เป็นต้น
• เทคโนโลยี ซึ่งสมาชิกอาเซียนจะต้องหาแนวทางการผลักดันให้ภูมิภาคมีการเติบโตในเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะการพัฒนากลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ ธุรกิจนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงการผลักดันให้ธุรกิจเดิมหันมาใช้ระบบเทคโนโลยีเพื่อเป็นเครื่องยนต์ในการเร่งการเติบโตให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันกลุ่มอาเซียนเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตในด้านการพัฒนานวัตกรรมสูงที่สุดในโลก โดยเฉพาะการเป็นฮับหรือศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค โมเดลสตาร์ทอัพที่สอดรับกับไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และถึงแม้ว่าปัจจุบันอาจจะยังไม่เห็นภาพการเติบโตของอาเซียนที่มีลักษณะเดียวกันกับซิลิคอนวัลเลย์ แต่ในอนาคตเชื่อว่าหากมีความร่วมมือที่ดีโดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง และแบ่งปันการเข้าถึงข้อมูลระหว่างกันมากขึ้น ก็จะเป็นส่วนช่วยให้สามารถเติบโตได้ในลักษณะเดียวกันแน่นอน
• ด้านความปลอดภัย ซึ่งในอนาคตอาเซียนจะต้องมีความปลอดภัยและความมั่นคงมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อรองรับการเติบโตและการขยายตัวของเมือง ไม่ว่าจะเป็น การจัดการภัยพิบัติ คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่เท่าเทียม ระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่มีความแข็งแรง ความปลอดภัยทางไซเบอร์เนื่องจากการเติบโตของเทคโนโลยีและการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ รวมทั้งการสร้างเมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้จำนวนกว่า 20 เมืองในอาเซียน ซึ่งทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับด้านดังกล่าวกันอย่างแพร่หลาย
อย่างไรก็ตาม ภายใต้กิจกรรมดังกล่าวยังได้เปิดให้ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงนักอนาคตศาสตร์ได้มีการนำเสนอภาพที่อยากให้เกิดขึ้นและอยากเห็นในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งพบว่ามีความเห็นหลากหลายรูปแบบทั้ง แนวทางที่จะทำอย่างไรเพื่อให้โมเดลเศรษฐกิจรูปแบบเดิมๆ ไปสู่โมเดลธุรกิจใหม่ การพัฒนาระบบการศึกษาตั้งแต่ระดับฐานราก การสร้างเทคโนโลยีที่มีความสามารถในการคาดการณ์อนาคตและแนวทางการแก้ปัญหาประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม การปรับปรุงนโยบายด้านการลงทุนที่ให้ความเสมอภาคและเท่าเทียม การแลกเปลี่ยนหรือแบ่งปันอนวคิดที่เป็นประโยชน์ไปสู่วงกว้าง การออกแบบผังเมือง รวมทั้งแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น
ด้าน Jost Wagner กรรมการผู้จัดการ The Change Initiative กล่าวว่า ปัจจุบันหลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนกำลังเผชิญกับข้อจำกัดในการวางแผนกลยุทธ์และนโยบาย ด้วยความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี สังคมและสภาวะแวดล้อมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดด ดังนั้น หากต้องการอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับเราและคนรุ่นต่อๆ ไป การมองอนาคต จะเป็นหนึ่งในทักษะการเป็นผู้นำที่สำคัญ การมองอนาคตเป็นเครื่องมือช่วยในการวางแผนกลยุทธ์และนโยบายเพื่อให้เราสามารถออกแบบภาพอนาคตที่คาดหวัง รวมถึงคาดการณ์อนาคตที่ไม่พึงปรารถนาเพื่อเตรียมการป้องกัน ในช่วงที่ผ่านมา องค์กรนานาชาติชั้นนำอย่าง ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ต่างหันมาใช้การมองอนาคตเป็นเครื่องมือในการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ มากขึ้น เพื่อนำการมองอนาคตไปช่วยผู้กำหนดนโยบายให้ได้ไตร่ตรองกับการออกนโยบาย และสามารถพิจารณาตัดสินใจตัวเลือกนโยบายที่เหมาะสมที่จะนำไปสู่การพัฒนาภาพอนาคตที่ต้องการได้
ขณะที่ นายลอยด์ วัฒนโฆวรุณ กรรมการบริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า ถึงแม้การมองอนาคต จะเป็นเรื่องใหม่สำหรับอนันดา แต่ด้วยวิสัยทัศน์และนโยบายของบริษัทที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรม และบทบาทในการสนับสนุนระบบนิเวศสตาร์ทอัพของประเทศไทย อนันดาจึงมองว่าการมองอนาคตเป็นสิ่งที่สามารถนำมาสนับสนุนแนวทางการดำเนินงานของเราได้เป็นอย่างดี เพราะในมุมหนึ่ง “นวัตกรรม” ถือเป็นสิ่งขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในอนาคต ขณะที่อีกมุมหนึ่ง “นวัตกรรม” ถือเป็นเครื่องในการแก้ปัญหาภาพอนาคตที่ไม่พึงปรารถนา ภาพอนาคตที่ได้รับการพัฒนาจากกระบวนการมองอนาคตจึงเป็นสิ่งที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการมุ่งสู่วิสัยทัศน์และนโยบายของบริษัท ในครั้งนี้จึงถือเป็นเกียรติและเป็นโอกาสอันดีที่อนันดาได้มีส่วนสนับสนุนกิจกรรมดีๆ ในครั้งนี้ ซึ่งเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า UrbanTech Campus ของเราจะเป็นสถานที่ที่สร้างแรงบันดาลใจและสร้างบรรยากาศที่ดีสำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญด้านการมองอนาคตจากนานาชาติ
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 เว็บไซต์ http://www.nia.or.th, facebook.com/NIAThailand
AO09317
Click Donate Support Web