- Details
- Category: เศรษฐกิจทั่วไป
- Published: Monday, 19 May 2014 23:10
- Hits: 5807
จับตา กสท.แจกใบอนุญาตทีวีสาธารณะ ให้สำนักงานเลขาฯสภาผู้แทน
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ในวันจันทร์ 19 พ.ค. 57 ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ครั้งที่ 19/57 มีวาระน่าจับตา ได้แก่ สรุปผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลบริการสาธารณะ ประเภทที่ 3 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการกระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชนและรัฐสภากับประชาชน ตามที่สำนักงานได้ประกาศผ่านทางเวบไซต์ เชิญชวนผู้ที่มีคุณสมบัติ สามารถยื่นคำอนุญาต พร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. 57 นั้น ทั้งนี้ ได้มีผู้ยื่นขอรับใบอนุญาตตามการเชิญชวนเพียง 1 ราย คือ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจากนี้ไปสำนักงานจะนำคำขอรับใบอนุญาตไปวิเคราะห์ข้อมูลและความเหมาะสม เพื่อนำเสนอบอร์ดให้พิจารณา
ซึ่ง นางสาวสุภิญญา มีความเห็นมาโดยตลอดว่า กระบวนการออกใบอนุญาตทีวีสาธารณะ จำเป็นที่จะต้องมีหลักเกณฑ์ beauty contest หรือ ประกาศที่เกี่ยวข้องกับ เงื่อนไข หลักเกณฑ์การคัดเลือกเป็นการเฉพาะตามเงื่อนไขของกฎหมายที่กำหนดให้มีลักษณะแตกต่างกันในการประกอบกิจการ รวมทั้งต้องมีกระบวนการในการรับฟังความคิดเห็นตามเงื่อนไขของกฎหมายที่เพียงพอต่อการยึดโยงในการใช้ดุลพินิจของ กสท. ให้เป็นไปอย่างโปร่งใส แม้ตอนนี้มีเพียง ประกาศ กสทช. 2 ฉบับหลักที่ทำขึ้นเพื่อใช้บังคับทั่วไป (ได้แก่ ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 และ ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล พ.ศ. 2556)
จึงอยากส่งสัญญาณให้สังคมร่วมกันเริ่มติดตาม ตรวจสอบกระบวนการออกใบอนุญาตทีวีสาธารณะที่เหลือ 9 ช่อง นับจากนี้ ที่สามารถได้รับสิทธิในการออกอากาศได้เลย 12 ช่องแรก แม้วาระการยื่นคำขอช่องรัฐสภาก่อนช่องสาธารณะอื่นครั้งนี้ จะเป็นเพียงวาระแจ้งเพื่อทราบ แต่แน่นอนว่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังละเอียดอ่อนเช่นนี้ หากกสทช.ไม่สร้างเงื่อนไขที่รัดกุมในการพิจารณาออกใบอนุญาต เกรงว่าอาจตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองในสถานการณ์ตอนนี้ได้ รวมทั้งความเป็นอิสระตามหลักการทีวีสาธารณะมิควรให้เกิดการครอบงำจากภาครัฐหรือราชการเพียงอย่างเดียว
ส่วนวาระอื่นน่าติดตาม ได้แก่ แนวทางการพิจารณาการออกใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง หรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการกระจายเสียง(กิจการไม่ใช้คลื่นความถี่) ในกรณีปรากฏข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำหรือขัดแย้งกับการกำกับดูแลด้านการคุ้มครองผู้ใช้บริการ (การโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย) หรือเนื้อหารายการ
อินโฟเควสท์