- Details
- Category: เศรษฐกิจทั่วไป
- Published: Friday, 29 March 2019 16:39
- Hits: 2749
Thailand Towards Zero แนวคิดใหม่ 'ลดการตายและบาดเจ็บสาหัสบนถนนเป็นศูนย์...ด้วยวิศวกรรมศาสตร์'
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ร่วมกับ สมาคมวิทยาการจราจรและขนส่งแห่งประเทศไทย ได้จัดเวทีเสวนาระดมความคิดเห็นเมื่อเร็วๆนี้ เรื่อง ‘ลดการตายและบาดเจ็บสาหัสบนถนนเป็นศูนย์...ด้วยวิศวกรรมศาสตร์’ชูแนวคิดใหม่ Thailand Towards Zero ลดการตายและบาดเจ็บสาหัสบนถนนให้เป็นศูนย์ ด้วยหลักสากล “วิถีแห่งระบบที่ปลอดภัย (The Safe System Approach)’ ซึ่งใช้กันในกว่า 35 ประเทศ โดยมี ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ เป็นประธานเปิดงาน ณ ห้องประชุม วสท. พร้อมทั้งเสนอทำเลนมอเตอร์ไซค์ ช่วยลดอุบัติเหตุได้มาก
ผู้ร่วมเวทีเสวนา มี ศ.ดร.พิชัย ธานีรณานนท์ นายกสมาคมวิทยาการจราจรและขนส่งแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการสาขาป้องกันอุบัติเหตุทางถนนและการเสียชีวิต วสท., รศ.ดร จิตติชัย รุจนกนกนาฎ อ.คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.ภาวิณี เอี่ยมตระกูล อ.คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พ.ต.ท. สุริยัน วินิจมนตรี รอง ผกก.3 บก. รฟ., นายสุจิณ มั่งนิมิต ผอ.สำนักงานอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง, นายธนันท์ชัย เมฆประเสริฐวนิช ผอ.กองนโยบายและแผนงาน สำนักการจราจรและขนส่ง กทม., นายธิบดี หาญประเสริฐ นายกสมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย, ดร.กุลธน แย้มพลอย อุปนายกสมาคมวิทยาการจราจรและขนส่งแห่งประเทศไทย โดยมี รศ.วงศ์พันธ์ ลิมปเสนีย์ กรรมการสาขาวิศวกรรมยานยนต์ เป็นผู้ดำเนินงานเสวนา ลองมาฟังส่วนหนึ่งของสาระเสวนาที่น่าสนใจ
ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า ประเทศไทยยังคงครองแชมป์ประเทศที่มีสถิติการเสียชีวิตสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำมาซึ่งความสูญเสียด้านทรัพยากรมนุษย์และกระทบต่อการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท หรือ 3 %ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่ผ่านมาประเทศไทยแก้ปัญหาอุบัติเหตุจราจรเป็นแบบ “ค่อยเป็นค่อยไป” ซึ่งอัตราการเสียชีวิตบนถนนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นในระยะเปลี่ยนผ่านประเทศด้วยนวัตกรรมไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและไทยแลนด์ 4.0 ได้เวลาที่ประเทศไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนแนวคิดรูปแบบใหม่ วสท.ร่วมกับสมาคมวิทยาการจราจรและขนส่งแห่งประเทศไทย ขอเสนอรัฐบาลด้วยวิสัยทัศน์ของประเทศร่วมกัน“Thailand Towards Zero หรือ ‘ลดการตายและผู้บาดเจ็บสาหัสบนถนนให้เป็นศูนย์’ซึ่งจะสำเร็จได้ดังเช่นที่หลายประเทศได้ทำกันมาแล้วนั้น ทุกหน่วยงานรัฐและภาคประชาชนต้องเดินหน้ารณรงค์และจัดสัมมนาในกลุ่มผู้ขับขี่และผู้เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง พร้อมจัดตั้งคณะทำงานติดตามผลจำนวนอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิต เพื่อนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาต่อภาครัฐ
ศ.ดร.พิชัย ธานีรณานนท์ นายกสมาคมวิทยาการจราจรและขนส่งแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการสาขาป้องกันอุบัติเหตุทางถนนและการเสียชีวิต วสท. ได้ให้ความเห็นว่า อุบัติเหตุบนถนนในประเทศไทย มีผู้เสียชีวิตสูงและบาดเจ็บสาหัสบนถนนปีละ 220,000 คน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากรถจักรยานยนต์สูงถึง 74% ถึงแม้ว่ากระทรวงคมนาคมได้พยายามรณรงค์ให้ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์สวมหมวกกันน็อกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีผู้ขับขี่มากเกินกว่า 50% ยังไม่ปฏิบัติตาม ส่วนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครมีจำนวนรถจักรยานยนต์มากถึง 3 ล้านคันใช้ถนนร่วมกับรถยนต์ เนื่องจากการสวมหมวกกันน็อกเพียงอย่างเดียวไม่สามารถช่วยรักษาชีวิตได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรจัดให้มีเลนมอเตอร์ไซค์ หรือ ‘ช่องจราจรสำหรับรถจักรยานยนต์’แยกออกจากรถยนต์ ซึ่งในต่างประเทศ เช่น มาเลเซียและไต้หวันได้ดำเนินการแล้วพบว่าสามารถสร้างความปลอดภัยให้ผู้ขับขี่จักรยานยนต์ได้ถึง 83% การทำช่องทางเฉพาะเลนมอเตอร์ไซค์นี้ไม่จำเป็นต้องทำยาวหลายกิโลเมตร แต่ควรเริ่มในจุดที่เป็นโรงเรียน ชุมชน วัด และทำในระยะสั้นๆ ประมาณ 1 - 2 กิโลเมตร
สิ่งท้าทายสำหรับประเทศไทยที่จะทำให้ผู้ขับรถและจักรยานยนต์ปลอดภัยได้คือ การทำให้ผู้ขับรถอย่างถูกกฎหมาย (Safe Driver) อยู่ในรถที่ปลอดภัย (Safe Car) และวิ่งบนถนนที่ปลอดภัย (Safe Road)’ซึ่งคนไทยมักมองว่าอุบัติเหตุบนถนนเกิดจากความผิดพลาดของผู้ขับขี่ที่ขับรถด้วยความประมาท ขับรถเร็ว หรือขับรถย้อนศร แต่ด้วย ‘วิถีแห่งระบบที่ปลอดภัย’ หรือ’The Safe System Approach’ มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างผู้ใช้ถนนและผู้ออกแบบ เพื่อรักษาชีวิตของผู้ใช้รถใช้ถนน ทุกคนไม่ว่าจะเป็นวิศวกร ผู้ผลิต บริษัทต่างๆ ต้องคำนึงถึงหลักสำคัญ 4 ประการ 1.การตระหนักและยอมรับว่าทุกคนจะทำผิดพลาดในขณะที่ใช้ถนน อุบัติเหตุเล็กน้อยเกิดขึ้นเป็นประจำ 2.ร่างกายของมนุษย์เราสามารถทนแรงกระแทกได้เพียงระดับหนึ่ง หากมากกว่านั้นจะเกิดการบาดเจ็บสาหัส หรือเสียชีวิตได้ 3.ผู้ออกแบบ ผู้สร้าง ผู้ควบคุมการใช้ถนน ผู้ผลิตยานพาหนะ และผู้รักษาพยาบาล ต้องรับผิดชอบร่วมกับผู้ใช้ถนนในการป้องกันอุบัติเหตุที่รุนแรง ที่นำไปสู่การตายหรือการบาดเจ็บสาหัส 4.การสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบ
หากส่วนหนึ่งของระบบล้มเหลว ส่วนอื่นๆ ต้องสามารถทำหน้าที่ปกป้องชีวิตของผู้ใช้ถนนได้ ดร.กุลธน แย้มพลาย อุปนายก สมาคมวิทยาการจราจรและขนส่งแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “สภาพถนนบ้านเราและริมทาง แตกต่างจากถนนในต่างประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสิ้นเชิง เช่น การจอดรถสองข้างทาง และการค้าขายบางประเภทที่ยื่นออกมานอกพื้นที่ทางเดินเท้า ทำให้บดบังทัศนวิสัยในการมองเห็น ปัญหาหลักของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เช่น การตัดหน้ากระชั้นชิด การขับรถด้วยความเร็ว และปัญหาการจราจรติดขัด วิศวกรรมศาสตร์จะเข้ามาช่วยลดความรุนแรงที่เกิดจากอุบัติเหตุอันมาจากความผิดพลาดของคน เช่น การออกแบบถนน การติดตั้งราวกันชน การบำรุงรักษาถนน การจัดการทางแยก-ทางกลับรถที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันกรมทางหลวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำหลักวิศวกรรมศาสตร์ เช่น’Traffic Calming’ หรือ ‘การลดความเร็ว’ของรถก่อนเข้าพื้นที่เมือง แนวทางการแก้ไข ควรพัฒนาถนนบ้าน้ราเป็น Complete Street แบบในต่างประเทศ ซึ่งให้ความเสมอภาค (Equilibrium) แก่ผู้เดินทางทุกโหมด โดยแยกช่องจราจร รถจักรยานยนต์ รถยนต์ และรถขนาดใหญ่อย่างชัดเจน เพื่อสร้างความปลอดภัยในการเดินทางของทุกคน
รศ.ดร.ภาวิณี เอี่ยมตระกูล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การพัฒนาคมนาคมขนส่งให้มีความสะดวกสบายยิ่งขึ้น ไม่ได้หมายความว่าประชาชนทุกคนจะสามารถเข้าถึงรูปแบบการเดินทางที่ปลอดภัยได้ หลายคนจึงหาวิธีการเดินทางของตนเอง เช่น รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน หรือการเดินเท้า ซึ่งเปิดโอกาสให้เกิดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตบนท้องถนนเพิ่มขึ้น ดังนั้นทุกฝ่ายต้องร่วมมือแก้ไขและบูรณาการทั้งหมดอย่างเป็นระบบ ทั้งด้านการออกแบบ การวางแผน การสร้างทัศนคติและความรู้ความเข้าใจของประชาชนในเรื่อง ‘ระบบแห่งวิถีความปลอดภัยทางถนน’ ซึ่งไม่มองว่า การข้ามถนนใต้สะพานลอยเป็นเรื่องปกติ ต้องปลูกฝังความคิดว่าถนนถูกสร้างมาสำหรับทุกคน รวมถึงการสร้างอัตลักษณ์และบรรยากาศริมถนนให้น่าเดิน ชื่นชมทัศนียภาพ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนอีกด้วย
นายธิบดี หาญประเสริฐ นายกสมาคมยานยนต์ไทย ให้ข้อคิดเห็นว่า ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุบนถนนของประเทศไทยเกิดขึ้นจากหลากหลายมิติ คือ ยานพาหนะ, คน, ถนน และสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยมีจำนวนรถบรรทุก 1 ล้านคัน รถบัส 1.6 แสนคัน และจำนวนรถจักรยานยนต์อีกกว่า 21 ล้านคัน ซึ่งต้องการการบำรุงรักษาพาหนะและเครื่องยนต์ แต่เนื่องจากประเทศไทยมีชิ้นส่วนอะไหล่ปลอมจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบโดยตรงด้านความปลอดภัยต่อผู้ใช้รถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกใช้ชิ้นส่วนอะไหล่ปลอมในส่วนที่เกี่ยวกับความปลอดภัย หรือ Safe Part เช่น ผ้าเบรก ลูกยางเบรก น้ำมันเบรก และโช้คอัพ ซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งด้านคุณภาพและความคงทน จึงเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุรุนแรง ด้านทักษะและคุณภาพของคนขับโดยเฉพาะรถบรรทุก และรถโดยสาร ส่วนใหญ่มักถ่ายทอดกันเอง พ่อสอนลูก ไม่ผ่านก่ารฝึกอบรมการขับและการบำรุงรักษาที่ถูกต้องตามคู่มือและมาตรฐานของรถชนิดนั้นๆ ตลอดจนยังขาดความภาคภูมิใจในอาชีพและความรับผิดชอบ
อีกด้านของอุปสรรคในการลดอุบัติเหตุบนถนน คือ การบันทึกข้อมูลอุบัติเหตุที่ไม่เชื่อมโยงกัน ทำให้ยากต่อการนำข้อมูลมาศึกษาวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุแต่ละครั้ง จึงอยากเห็นความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้มีการใช้ระบบการบันทึกที่เป็นแบบฟอร์มรูปแบบแพทเทิร์นเดียวกันและสามารถเชื่อมโยงข้อมูลถึงกันได้อย่างรวดเร็ว จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานต่างๆ สามารถเข้าถึงอุบัติเหตุได้อย่างทันที เช่น มูลนิธิต่าง ๆ ที่เข้าถึงจุดเกิดเหตุก่อนใคร สามารถบันทึกสาเหตุลักษณะของอุบัติเหตุ เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการวิเคราะห์และหาแนวทางป้องกันแก้ไขระยะยาว ทั้งนี้สามารถเริ่มนำร่องแก้ไขไปที่ละพื้นที่ให้เห็นเป็นรูปธรรมแล้วขยายกว้างไปทั่วประเทศ
Click Donate Support Web