- Details
- Category: เศรษฐกิจทั่วไป
- Published: Saturday, 24 November 2018 12:00
- Hits: 14667
ตั้ง สามพรานโมเดล อะคาเดมี ต่อยอดบทเรียน 8 ปี ขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ ชวนคนไทย 'เท่นอกกรอบ'กินอย่างสร้างสรรค์เปลี่ยนโลกให้สดใส
ใช้เวลาบ่มเพาะประสบการณ์การทำงานส่งเสริมเกษตรอินทรีย์มายาวนานถึง 8 ปี บวกกับความรู้การขับเคลื่อน Organic Tourism ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จนก่อเกิดนวัตกรรมและบทพิสูจน์ความสำเร็จ ในการสร้างระบบอาหารสมดุล อย่างเป็นรูปธรรมครบทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร ให้สามารถพึ่งพาตนเองและอยู่ได้อย่างยั่งยืน มาวันนี้สามพรานโมเดล เติบโตไปอีกก้าว ยกระดับการขับเคลื่อน ประกาศจัดตั้ง สามพรานโมเดล อะคาเดมี (Sampran Model Academy) เพื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดประสบการณ์ แชร์คุณค่าการขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์สู่ชีวิตสมดุล หวังให้กระจายเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ให้เจริญงอกงามคลอบคลุมไปทั่วทุกพื้นที่ประเทศไทย
ล่าสุดในงานแถลงข่าวการจัดงานสังคมสุขใจครั้งที่ 5 'เท่นอกกรอบ...ขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์สูชีวิต ที่สมดุล' ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ สวนสามพราน มีภาคีจากภาคส่วนต่างๆ ที่ร่วมขับเคลื่อนระบบอาหารสมดุลกับสามพรานโมเดล มาร่วมแชร์ประการณ์ตรง ผ่านเวทีเสวนาใน หัวข้อ “เปิดเส้นทางขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์สู่ชีวิตที่สมดุล”
คุณอรุษ นวราช ผู้บริหารสวนสามพรานและริเริ่มสามพรานโมเดล เจ้าของแนวคิด สามพรานโมเดล อะคาเดมี เปิดเผยว่า ในปี 2562 สามพรานโมเดลมีแผนจะขยายงานเผยแพร่ความรู้จากการขับเคลื่อน โดยจะเปิด สามพรานโมเดล อะคาเดมี เป็นศูนย์กลางรวบรวมและเผยแพร่องค์ความรู้สู่สังคม ที่ได้พัฒนาขึ้นระหว่างการขับเคลื่อนระบบอาหารสมดุล ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา โดยมีแผนจัดกิจกรรมอบรม เพื่อส่งเสริมความรู้และสร้างประสบการณ์ให้ภาคส่วนต่างๆ ได้เข้าใจคุณค่าห่วงโซ่อาหารอินทรีย์ทั้งระบบ ซึ่งจะจัดทำทั้งหลักสูตรพื้นฐาน เช่น การบริหารจัดการแปลงอินทรีย์ การเชื่อมตลาด เชื่อมผู้บริโภค การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการแปรรูป ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม PGS และระบบมาตรฐานอินทรีย์สากล รวมถึงการบริการจัดการขยะอาหารในโรงแรม (Food waste) และหลักสูตรเฉพาะตามความสนใจขององค์กรต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น
“ตลอด 8 ปีในการขับเคลื่อน เราเรียนรู้ไม่หยุด ระหว่างทางเจอปัญหามากมาย แต่ทุกปัญหาที่เจอ คือ ครู หลายครั้งที่ผิดพลาด ทำให้เราได้เรียนรู้ที่จะแก้ไข ถ้าเราแก้ปัญหาได้ เราก็มีองค์ความรู้ ได้ประสบการณ์ใหม่เพิ่มขึ้นอีก มันไม่ได้ล้มเหลวทั้งหมด และแน่นอน เราไม่สามารถทำคนเดียวได้ จำเป็นต้องมีเพื่อนร่วมทางมีเครือข่าย ซึ่งเราทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย โรงเรียน ชุมชน เกษตรกร เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ สิ่งเหล่านี้ เราไม่ได้เรียนรู้จากมหาวิทยาลัย” คุณอรุษ บอกเล่า ถึงการทำงานของสามพรานโมเดล
คุณมาริสา สุโกศล หนุนภักดี รองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มโรงแรมในเครือสุโกศล ธุรกิจโรงแรมระดับ 5 ดาว ที่ตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน หนึ่งในองค์กรที่ร่วมขับเคลื่อนการท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ กล่าวว่า เราเป็นตัวกลางส่งมอบอาหารดีๆ ให้ผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมา โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ ซื้อวัตถุดิบอินทรีย์จากเกษตรกรส่งเข้าห้องอาหารของโรงแรมเพื่อปรุงเมนูออร์แกนิกบริการแก่ลูกค้า เริ่มจากซื้อข้าวอินทรีย์ จากกลุ่มข้าวสัจธรรม จ.อำนาจเจริญ เดือนละ 1,200 ตัน ผ่านโครงการ Farm to Functions และขณะนี้ขยับมาซื้อผักผลไม้อีกเดือนละ 1 ตัน จากเครือข่ายของเกษตรกรอินทรีย์ จ.นครปฐม
“โรงแรมใช้ผัก ผลไม้ เยอะมาก เราไม่สามารถทำบุฟเฟ่ต์ ผัก ผลไม้ ให้เป็นเกษตรอินทรีย์ทั้งหมดได้ เพราะผลผลิตไม่เพียงพอ แต่เราครีเอทเมนูออร์แกนิกจานพิเศษเฉพาะวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ซึ่งหนึ่งช่องสื่อสารที่ช่วยกระตุ้น ที่ให้ผู้บริโภคเห็นคุณค่าของออร์แกนิก ที่ไม่เฉพาะดีต่อสุขภาพ แต่ดีต่อห่วงโซ่อาหารทั้งระบบ” คุณมาริสา กล่าว
และจากประการณ์ที่ผ่านมา คุณมาริสา บอกว่า มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่โรงแรมจะเปลี่ยนระบบจัดซื้อ จากเคยซื้อพ่อค้าคนกลาง มาซื้อตรงจากเกษตรกร ขณะที่เชฟเองต้องเปลี่ยนวิธีการปรุงอาหารใหม่ ยกตัวอย่างเช่น การหุงข้าวจากข้าวสารธรรมดาเป็นข้ามหอมะลิที่ต้องหุงข้าวในปริมาณเลี้ยงคนระดับพันคนรวมทั้ง ระบบการวางบิลที่ต้องปรับขยับช่วงเวลาการจ่ายเงินที่เร็วขึ้นเพราะต้องจ่ายให้เกษตรกรโดยตรง เราได้ลองผิดลองถูกพัฒนาตัวเองปรับบทบาท เปลี่ยนวิธีการสื่อสารให้ผู้บริโภคเข้าใจมากขึ้น ขณะเดียวกันพนักงานก็ต้องเข้าใจด้วย ซึ่งต้องอาศัยเวลาพอสมควร เราจึงต้องปรับวิธีคิด เปลี่ยนทัศนคติของพนักงานให้เขาเข้าใจวิถีอินทรีย์มากขึ้น พาเขาไปรู้จักเกษตรกรตัวจริง ให้ได้ลงทำลองทำจริง เช่น ทดลองดำนา ปลูกผัก ดูการระบบจัดการฟาร์ม การแปรรูป ขณะเดียวกันเราต้องสื่อสารกับลูกค้า ซึ่งตามแผนที่วางไว้สิ้นปี เรานำข้าวอินทรีย์ไปมอบให้ลูกค้าด้วย เพื่อช่วยกันกระตุ้นให้ผู้บริโภคเห็นคุณค่าของออร์แกนิก สิ่งเหล่านี้เราเรียนรู้จากสามพรานโมเดล
ด้านคุณดาราวรรณ ศรีรัตนประภาส ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล เล่าว่า กลุ่มเซ็นทรัลมีนโยบายสนับสนุนสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น โดยรับซื้อผลผลิตไปว่างจำหน่ายในท็อปซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งมีความต้องการพืช ผัก ผลไม้ อินทรีย์เป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมาเราทำงานร่วมกับสามพรานโมเดลมีการทำ MOU รองรับผลผลิต แต่อุปสรรคสำคัญ คือ ผลผลิตไม่เพียงพอ โดยเฉพาะฝรั่ง ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก นอกจากรสชาติอร่อย มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจ และพร้อมที่จะจ่าย
คุณปัญจพร คู่สามารถ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายสื่อสารองค์กร และฝ่ายกิจการเพื่อสังคม บริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด เป็นอีกองค์กร ที่ทำงานร่วมกับสามพรานโมเดล แต่ในบทบาทที่แตกต่าง คุณปัญจพร เล่าว่า มิตรผล ทำงานประสานกับเกษตรกร 10,000 ครอบครัว ดูแลคน100,000 คน มีโจทย์ว่าถ้าเกษตรกรปลูกอ้อยอย่างเดียว จะมีรายได้แค่ปีละครั้ง แต่การปลูกพืชผักอินทรีย์จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ทั้งปีและมีอาหารที่ดีต่อสุขภาพบริโภค โดยให้หลักคิดว่าแทนที่จะปลูกอ้อยอย่างเดียว 50 ไร่แบ่งพื้นที่มา5 ไร่ เพื่อปลูกผักสวนครัวไว้กิน ที่เหลือแบ่งขายและท้ายที่สุดบริษัทสนับสนุนให้เกิดตลาดนอกชุมชน ผลักดันให้สินค้าเข้าไปขายในห้าง ในจังหวัด ในอำเภอเป็นต้น ซึ่งมิตรผลยังขาดองค์ความรู้ในเรื่องนี้ จึงต้องมาเรียนรู้และทำงานร่วมกับสามพรานโมเดล เพื่อไปพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรในพื้นที่ ให้พึ่งตนเองได้ สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนอยู่ได้อย่างยั่งยืน
ส่วน รศ.ดร. กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเทรนด์การบริโภคในปัจจุบันนี้ว่า มีงานวิจัยพบว่า ผู้บริโภคมีความตื่นตัวมาก ไม่ได้เป็นเพียงแค่คนซื้อกับคนขาย แต่ผู้บริโภคอยากมามีส่วนร่วม ต้องการรู้ว่าสิ่งที่บริโภคไปผลิตมาจากไหน จะมีส่วนทำให้ชีวิตเกษตรกรดีขึ้นหรือไม่ เป็นกระแสที่เรียกว่า Active consumer ผู้บริโภคลุกขึ้นมาทำสิ่งดีๆ เพื่อสังคม
“การทำเกษตรอินทรีย์ คือ การคิดนอกกรอบแบบเดิม เริ่มต้นจากเกษตรกรออกจากกรอบเดิมไม่พึ่งพาสารเคมี ไม่ต้องพึ่งพาพ่อค้าคนกลาง ขณะเดียวผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน หันมาเลือกบริโภคออร์แกนิก ส่วนผู้ประกอบการก็ออกนอกกรอบเดิมๆ หันมาทำธุรกิจเกื้อกูลสังคม สนับสนุนสินค้าเกษตรอินทรีย์ซื้อตรงจากเกษตรกร ไม่เฉพาะสุขภาพดี แต่ยังช่วย เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นด้วย อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกษตรกรก้าวสู่วิถีอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น” คุณอรุษ กล่าว ทิ้งท้ายก่อนปิดเวที
สามพรานโมเดล เป็นแพลตฟอร์มการขับเคลื่อนทางสังคม ที่ถือเป็นจุดเชื่อมที่สร้างสรรค์ให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องบนห่วงโซ่อาหารได้มาเจอกัน มาแชร์ความรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และ ลงมือทำร่วมกัน จนก่อให้เกิดสังคมอินทรีย์มิติใหม่แห่งการบริโภคสู่การสร้างวิถีชีวิตที่สมดุล ตอบโจทย์ความยั่งยืน ครบทุกมิติ ทั้งสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจชุมชน
สำหรับ ผู้สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ สามารถสมัครเป็นสมาชิกกับสามพรานโมเดล อะคาเดมี พร้อมรับสิทธิพิเศษมากมาย โดยเปิดรับครั้งแรกในงานสังคมสุขใจ ครั้งที่ 5 “เท่นอกกรอบ...ขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์สู่ชีวิตที่สมดุล” ระหว่างวันที่ 7-9 ธันวาคม 2561 ณ สวนสามพราน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ มูลนิธิสังคมสุขใจ จ.นครปฐม คุณณัฐธิดา ฟักขาว โทร.034-225-203 อีเมลล์ : [email protected]
Click Donate Support Web